“อินโดรามา” จัดประกวดออกแบบรีโค่ ยัง ดีไซน์
บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้พัฒนานวัตกรรมด้านการรีไซเคิล โดยนำวัสดุขวด PET ใช้แล้วมาผลิตใหม่เป็นเม็ดพลาสติก PET และโพลีเอสเตอร์ ที่มีชื่อว่า Ecorama ด้วยเหตุนี้เอง เพื่อผลักดันให้ทุกคนหันมาให้ความสนใจกับการรีไซเคิล ขวด PET เพื่อสิ่งแวดลัอม บริษัท จึงได้จัดทำโครงการประกวดออกแบบรีโค่ ยัง ดีไซน์ (RECO Young Designer Competition 2017) สำหรับปีนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 ซึ่งความพิเศษในรอบนี้คือ การจัดแข่งขันระหว่างแชมป์เก่าตั้งแต่ปี 2011-2016 เพื่อเฟ้นหาดีไซเนอร์ที่ผลงานโดดเด่นที่สุด (Champion of The Champ) ภายใต้ตีม ECOFIT
ทั้งนี้ ก่อนอื่น มาทำความรู้จักกับ ผู้เข้าประกวด และได้ผ่านเวทีการแข่งขันในปีทีผ่านมา ในฐานะแชมป์ ได้มาบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ รวมถึงอาชีพที่ทำในปัจจุบัน และการประกวดครั้งนี้ ช่วยต่อยอดการสร้างธุรกิจของเขาเหล่านั้น ได้อย่างไร
ผลงาน โคมไฟตั้งพื้น รีไซเคิล แก้วกาแฟ
เริ่มจาก เจ้าของธุรกิจร้านกาแฟ ชื่อ “นายวัชรรักษ์ สินทัตตโสภณ” (ต้น) ซึ่ง คุณต้นได้ผ่านเวทีการประกวดในปี 2012 ผลงานที่ส่งเข้าประกวด เป็นโคมไฟตั้งพื้นรูปโดม ซึ่งทำจากแก้วกาแฟรีไซเคิล เป็นการใช้วัสดุที่เป็นพลาสติก PET 95% และวัสดุอื่นๆ 5 % ซึ่งการประกวดในครั้งนั้น ได้รับรางวัล รองชนะเลิศ
คุณต้น เล่าว่า ที่มาของแนวคิด ดังกล่าว มาจากตนเองทำธุรกิจ ร้านกาแฟ ซึ่งในแต่ละวันมีแก้วที่ถูกใช้และทิ้งไป พอได้ทราบเกี่ยวกับโครงการประกวดนี้ จึงตัดสินใจเลือกวัสดุที่ตนเองมีอยู่ ซึ่งก็คือ แก้วกาแฟ ที่ลูกค้าทิ้ง และตนเองเก็บไว้เป็นจำนวนมาก แต่ชิ้นงานรีไซเคิลส่วนใหญ่ที่ทำจากแก้วพลาสติกก็ จะมีรูปแบบที่ยังอิงกับตัวแก้วซึ่งเป็นวัสดุเดิม เลยอยากเอามาทำให้ มันเป็นรูปแบบใหม่ ให้มีคุณสมบัติใหม่ๆขึ้นมา เอามาใช้งานได้หลากหลายยิ่งขึ้น เลยทดลองทำหลายๆแบบจนได้ออกมาเป็นตัวผลงานที่ประกวด โดยแก้วที่นำมาใช้ในครั้งนี้ อยู่ที่ประมาณ 200-300 ใบ แก้วที่ได้นำมาตัดเป็นชิ้น ก่อนที่จะนำมาประกอบเป็นโคมไฟ ใช้เวลาในการทำกว่า 2 สัปดาห์ จุดเด่น อยู่ที่แสงไฟนวน ไม่เหมือนโคมไฟทั่วไป
ทั้งนี้ ในส่วนของการต่อยอดเพื่อจำหน่ายในขณะนี้ ยังไม่ได้มีแนวคิด เนื่องจาก กว่าจะทำออกมาแต่ละชิ้น ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน ไม่คุ้มกับเวลาที่เสียไป จึงยังไม่ได้คิดทำจำหน่าย ซึ่งมีผู้สนใจ ที่ได้เห็นผลงานและ ต้องการซื้อ ติดปัญหาอย่างที่กล่าวมาข้างต้น
ผลงานการออกแบบตุ๊กตา เปลี่ยนชุดและถอดแขนขาได้
สำหรับ ผลงาน ชิ้นที่ 2 เป็นการออกแบบ ตุ๊กตาที่สามารถถอดประกอบได้ ซึ่งเป็นผลงานที่ทำมาจากการรีไซเคิลขวด PET ได้ออกมาเป็นเส้นใยผ้า จากโพลีเอสเตอร์ และขวดPET ที่ใช้แล้ว ผลงานการออกแบบของ “นางสาวจณัญญา จุลศักดิ์ศรีสกุล” ซึ่งส่งผลงานเข้าประกวด ในปี 2013 และได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ในการประกวดครั้งนั้น
นางสาวจณัญญา เล่าว่า สำหรับผลงานดังกล่าว ใช้ชื่อ คอนเซ็ปต์ Life is Play ซึ่งแนวคิดการออกบบได้นึกถึงตุ๊กตาที่เคยเล่นในวัยเด็กจนถึงตอนนี้ และคิดว่าคงจะสนุกและแปลกดี ถ้าเราปรับเปลี่ยนสี รูปร่างหรือส่วนต่างๆของตุ๊กตาให้เป็นสีหรือแบบที่เราชอบได้ จึงเกิดเป็นผลงาน Polypetster ที่มาจากคำว่า poly (หลากหลาย) + pet (สัตว์เลี้ยง) + monster (สัตว์ประหลาด) ออกเสียงคล้ายกับคำว่า polyester ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของผลงานนี้
ทั้งนี้ ตุ๊กตาออกแบบมาให้เป็นของเล่น ส่วนข้อต่อสามารถหมุนเข้าออก ถอดเปลี่ยนชิ้นส่วนได้ตามใจชอบ เมื่อเด็กเล่นตุ๊กตานี้จะช่วยเสริมสร้างจินตนาการ นอกจากนี้ ผลงานชิ้นนี้เป็นสินค้ารีไซเคิลที่สามารถวางขายได้จริง ทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เรียนรู้การนำวัสดุใกล้ตัวมารีไซเคิลอีกด้วย ส่วนการทำตุ๊กตา ออกจำหน่าย ในตอนนี้ ยังไม่ได้คิด เพราะเอาเวลาทุ่มไปกับการทำธุรกิจรองเท้า ที่จะนำออกวางขายในเร็วๆนี้ก่อน
สำหรับ ธุรกิจ ของ “จณัญญา” เธอมีอาชีพหลัก คือ การเป็นล่าม ภาษาญี่ปุ่น และอาชีพเสริมที่กำลังจะเป็นอาชีพหลัก ของเธอ คือ การทำรองเท้าแนวดีไซน์ เพื่อจำหน่าย รูปแบบของรองเท้า อยู่ที่ลูกเล่น ที่เติมลงไป และงานที่ละเอียด เรียบร้อย เป็นแบบที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างดีไซน์ของญี่ปุ่น และผสมกับความเป็นไทย โดยเลือกใช้วัสดุ หนังเทียม เพื่อจะได้ไม่ต้องไปฆ่าสัตว์ เพื่อนำหนังมาทำรองเท้า แต่หนังเทียมทีเลือกใช้เป็น หนังเทียมคุณภาพใกล้เคียงกับหนังสัตว์ให้มากที่สุด โดยใช้แบรนด์ว่า Smiler
ผลงาน ศิลปะที่สวมใส่ได้จริง จาก รีไซเคิลขวด PET
ผลงานชิ้นนี้ เป็นศิลปะที่สามารถใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน ผู้ออกแบบได้คิดค้นเทคนิคต่างๆในการทอผ้าด้วยกระบวนการที่ซับซ้อนพิถีพิถัน เป็นงานฝีมือที่ปราณีตหวือหวา ใช้เทคนิคพิเศษต่างๆทำให้วัสดุเหลือใช้ที่นำมา กลับมามีความสวยงามเหมือนของใหม่ เป็นผลงานการออกแบบของ “นายเอกพันธ์ พิมพาที” และ “นางสาวเบญจพร ครุฑกุล”
นายเอกพันธ์ เล่าว่า การออกแบบครั้งนี้ ได้ตีความคำว่า PLAY โดยนึกถึงการแสดงในที่สาธารณะตามริมถนน ที่สร้างความบันเทิงและความประทับใจแก่ผู้ชมที่ผ่านไปมา ทั้งกายกรรม มายากล และอีกมากมาย สามารถดึงดูด เรียกความสนใจและมอบความบันเทิงให้กับผู้ชมได้ ผู้ออกแบบได้นำเอาเสน่ห์ของการแสดงกายกรรมจีนที่มีความโดดเด่นและมีชื่อเสียงไปทัวโลกมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน หยิบเอาโครงสร้างของชุดกีฬา มาใช้ผสมกับโครงชุดที่มีกลิ่นอายแบบเอเชีย ทำให้เกิดจากการผสานกลิ่นอายแบบเอเชียแต่ยังคงร่วมสมัยด้วยโครงชุดกีฬา ทำให้ชุดมีความหนักเบามีมิติหลากหลาย
สำหรับวัสดุที่เลือกใช้ เป็น วัสดุโพลีเอสเตอร์จาก ชุดวอร์ม และผ้าม่านเก่าจากร้านผ้าม่านที่มีร่องรอยตำหนิเหลือจากการขาย เสื้อผ้ามือสอง ผสมผสานการทอเส้นไหมเพื่อเพิ่มคุณค่าและความสวยงามอาศัยองค์ความรู้เพื่อสร้างพื้นผิวที่ดูมีมิติ โดยใช้เทคนิคเกาะล้วงที่เป็นเทคนิคของไทย เส้นยืนเป็นไหมทอกี่พื้นบ้านแบบเขมร ใช้กะกอ 2 ตะกอทอ โดยวัสดุที่ใช้ เป็น ขวดPET รีไซเคิล เป็นโพลีเอสเตอร์ใช้แล้ว 95 % และเส้นไหมใช้แล้ว 5% ส่วนอาชีพหลักของ "เอกพันธ์" คือ การออกแบบเสื้อผ้าสำหรับผุู้ชาย จำหน่ายผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ต
“อินโดรามา” ในฐานะผู้ผลิตงานรีไซเคิล ถึงวัตถุประสงค์การประกวด
มร. ริชาร์ด โจนส์ รองประธาน บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึง บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส เป็นผู้ผลิต PET ที่สำคัญระดับโลก และเป็นผู้ผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มองประเด็นรีไซเคิลว่า เป็นหน้าที่ที่สำคัญของบริษัทฯ ในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในปี 2559 บริษัทฯสามารถรีไซเคิลขวด PET อยู่ที่จำนวน 337,000 ตันต่อปี ซึ่งทำรายได้ให้บริษัทฯ 6,845 ล้านดอลลาร์ ขวดที่ใช้แล้วจะถูกนำมาแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติกและเส้นใยสังเคราะห์รีไซเคิล เพื่อส่งต่อให้ลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และเครื่องแต่งกาย
สำหรับ ในปี 2558 ประเทศไทยมีปริมาณขยะพลาสติกและโฟมประมาณ 2.7 ล้านตัน หรือเฉลี่ย 7,000 ตันต่อวัน แต่พบว่าขยะพลาสติกร้อยละ 50 ถูกกำจัดอย่างผิดวิธี (ข้อมูลจาก: กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2558) ซึ่งปัญหาที่ต่อเนื่องมา ได้แก่ การปนเปื้อนของสารตกค้างในดิน น้ำ และอากาศ และทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก สิ่งเหล่านี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกคนต้องช่วยกัน เริ่มจากการคิดก่อนทิ้งวัสดุเหลือใช้ใดๆ มีวินัยในการทิ้งโดยแยกหมวดหมู่เพื่อความสะดวกในการนำไปรีไซเคิล และตระหนักถึงการสร้างสรรค์สิ่งที่ทำจากสิ่งของที่กำลังจะกลายเป็นขยะให้นำกลับมาใช้งานได้จริง
สนใจ www.facebook.com/recoyoungdesigner หรือ www.indoramaventures.com/RECO
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *