xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นระทึก! จ่อคลอดมาตรการพยุงชีพ SMEs ให้กู้ยืมฟรีไร้ดอก 2,000 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและกลางย่อม (สสว.)
สสว.เผยความคืบหน้ามาตรการช่วยฟื้นฟูกิจการ SMEs วงเงิน 2,000 ล้านบาท ขณะนี้ผ่านเห็นชอบหลักเกณฑ์แล้ว โดยจะให้การอุดหนุนทั้งรูปแบบเงินกู้ยืมระยะยาว ไม่มีดอกเบี้ย จำนวน 1 ล้านบาทต่อราย และรูปแบบร่วมลงทุน แจงส่งให้รองนายกฯ เซ็นไฟเขียว ระบุถ้าผ่านพร้อมขับเคลื่อนได้ทันทีต้นปี 2560

นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยความคืบหน้า “มาตรการฟื้นฟูกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” วงเงิน 2,000 ล้านบาท ซึ่ง สสว.ดำเนินการร่วมกับกระทรวงการคลัง ธนาคารกรุงไทย และสมาคมธนาคารไทย ว่า จากการประชุมเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 คณะกรรมการส่งเสริมฯ (เฉพาะกิจ) ได้เห็นชอบการจัดสรรเงินกองทุน เพื่อดำเนินการตามมาตรการฟื้นฟูกิจการฯ ดังกล่าว

สำหรับความคืบหน้าล่าสุด ขณะนี้ได้ตกลงหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือกับกระทรวงการคลังแล้ว โดยรูปแบบสามารถดำเนินการจะได้ทั้ง 1. การอุดหนุน ในรูปการให้กู้ยืมระยะยาวแบบผ่อนปรน ระยะยาว 7 ปี รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ไม่มีดอกเบี้ยและปลอดเงินต้น 2 ปีแรก หรือ 2. การร่วมลงทุน เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถฟื้นตัวได้หลังจากนั้นจะส่งกลับเข้าสู่ระบบสถาบันการเงินปกติต่อไป

ทั้งนี้ สสว.อยู่ระหว่างนำเสนอระเบียบ หลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือต่อนายกรัฐมนตรี โดยผ่านรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เพื่อพิจารณาลงนาม มาตรการฟื้นฟูกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วงเงิน 2,000 ล้านบาท เชื่อว่าหลังจากผ่านอนุมัติแล้วจะเริ่มขับเคลื่อนได้ทันที คาดประมาณช่วงต้นปีหน้า (2560)

สำหรับกลุ่มเป้าหมาย SMEs ที่จะได้รับสิทธิ์จากมาตรการดังกล่าว คือ กลุ่มที่ประสบปัญหาทางการเงิน ไม่สามารถยืมเงินจากระบบสถาบันการเงินปกติได้ เช่น เป็น NPL แต่มีผู้เชี่ยวชาญไปศึกษาการทำธุรกิจแล้วเห็นว่ากิจการยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ หรืออยู่ในวิสัยที่จะฟื้นฟูกิจการได้ เคยเป็น NPL แต่ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ยังไม่เป็น NPL แต่ได้มีการปรับสัญญาชำระหนี้ (Reschedule) มีสถานะที่ยังไม่เป็น NPL แต่ชำระหนี้ไม่สม่ำเสมอ เพราะประสบภาวะสภาพคล่องตึงตัว เป็นผู้ประกอบกิจการที่ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 9) และศาลได้รับคำร้องไว้พิจารณาแล้วเห็นชอบในหลักการให้อุดหนุนแบบมีเงื่อนไขชำระคืนอย่างผ่อนปรน หรือจะให้เป็นการร่วมลงทุนก็ได้

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น