ในเมื่อสภาพอากาศยังเปลี่ยนผันไปได้ทุกฤดูกาล นับประสาอะไรกับลวดลายเป็นเสื้อยืด ที่สมัยนี้ก็ปรับเปลี่ยนสีได้ตามอุณหภูมิร้อนเ-เย็น ไอเดียชิคๆ นี้ เป็นของ “น้องบุ๊ค” เจ้าของแบรนด์ 'Abearable' (อะแบร์เอเบิล) ที่คิดต่างเลือกใช้สีปรับตามอุณหภูมิ มาสร้างลูกเล่นบนเสื้อยืดให้มีความสนุกทุกครั้งที่สวมใส่
ประสบการณ์จากการเรียนด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ สาขาสิ่งทอ ทำให้ “ญาณกาญจน์ หลงสวาสดิ์” หรือ บุ๊ค ต้องคิดหาผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่เพื่อส่งชิ้นงานก่อนจบการศึกษา ซึ่งเธอมีแนวคิดว่าต้องทำให้ผลิตภัณฑ์มีความต่าง และต้องเป็นมากกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิม ซึ่งเสื้อยืดเปลี่ยนสีได้ เป็นสิ่งที่เธอนึกถึงเพราะเคยทำขายมาก่อนตามงานอีเวนท์ต่างๆ
เธอจึงเลือกใช้สีที่เปลี่ยนตามอุณหภูมิ และแสงแดด มาประกอบลวดลายลงบนเสื้อยืด สร้างเรื่องราวจากลวดลายเสื้อที่ออกแบบ หวังให้ผลิตภัณฑ์เป็นเครื่องมือสื่อสารกับคนมากกว่าการเป็นเสื้อยืดธรรมดา และสุดท้ายจึงกลายเป็นธุรกิจในที่สุด
Abearable เป็นแบรนด์เสื้อยืด โดยคงคอนเซ็ปต์รูปลักษณ์เป็นหมีขี้เล่น ซึ่งเธอคิดว่า 'หมี' เป็นสัตว์ที่ผู้คนรู้จักกันดี มีความน่ารักในตัวเอง จึงเลือกใช้เทคนิคในเรื่องสีมาใช้กับเสื้อยืด โดยที่ผ่านมาสีชนิดนี้ถูกใช้ในประเทศญี่ปุ่น เน้นในเรื่องฟังก์ชั่นการใช้งาน แต่เธอเลือกใช้ในเชิงกิมมิค (Gimmick) แทน
“หลังเรียนจบบุ๊คยังไม่ได้ทำเสื้อยืดเปลี่ยนสีขาย แต่เลือกหาประสบการณ์จากการทำงานประจำด้าน Branding Design ในตำแหน่งนักออกแบบกราฟิก ทำมาประมาณ 5-6 ปี ตัดสินใจลาออก เพราะต้องการทำธุรกิจ และมีผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ซึ่งบุ๊คคิดว่าหากไม่ออกมาทำตอนนี้ ก็เกรงว่าไฟจะหมดเสียก่อน ดังนั้นในปี 2551จึงลองทำเสื้อยืดเปลี่ยนสีได้ เน้นการออกงานอีเวนท์ กระทั่งปีนี้ ก็ได้รางวัล Demark มาครอง”
สำหรับรูปแบบเสื้อยืด Abearable เป็นการออกแบบลวดลายเป็นตัวเสื้อให้เป็นหมี และใช้สีเปลี่ยนตามอุณหภูมิมาแต่งแต้มในตำแหน่งที่ต้องการบอกเล่าเรื่องราว อย่างเช่น ลายที่คว้ารางวัล Demark 2016 เป็นลายหมีร้องไห้ ใช้การเปลี่ยนสีที่น้ำตาหมี คือ ถ้าเราสวมใส่เสื้อตัวนี้ แล้วไปอยู่ในห้องที่เปิดแอร์เย็นมากๆ สีน้ำตาของหมีจะเข้มขึ้นเรื่อยๆ สื่อถึงภาวะโลกร้อนจากการใช้เครื่องปรับอากาศจำนวนมาก หรืออย่าง เสื้อลายหมีใส่แว่นกันแดด เมื่อสวมใส่กลางแจ้งมีแดดจัด สีของแว่นจะเข้มขึ้น และหากอยู่ในที่ร่ม ก็กลายเป็นแว่นตาธรรมดา นอกจากเสื้อยืดแล้วเธอยังออกแบบแก้วเก็บความเย็น เปลี่ยนสีตามอุณหภูมิ และเฟรมแต่งบ้านด้วย เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นลูกเล่นที่น้องบุ๊คคิดขึ้นเองเพื่อให้เกิดการสื่อสารระหว่างผู้คนและเสื้อยืดที่สวมใส่ ปัจจุบันมีกว่า 30 ลาย ลูกค้าหลักเป็นกลุ่มวัยรุ่น และผู้สูงอายุ ซึ่งค่อนข้างผิดคาดสำหรับเธอ โดยราคาสินค้าเริ่มต้นที่ 490-1,000 บาท ขายผ่านช่องทางออนไลน์ ,ร้าน Happening Shop ณ หอศิลป์, ห้างเอ็มควอเทียร์ และร้าน Selected Shop ประเทศไต้หวัน ก็ติดต่อให้นำสินค้าไปว่างจำหน่าย ส่งผลให้ยอดขายในไทยขณะนี้อยู่ที่ 70% และอีก 30% เป็นลูกค้าต่างชาติ
อนาคตเธอเตรียมรังสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งยังคงคอนเซ็ปต์รูปลักษณ์เป็นหมีเช่นเดิม แต่อาจสื่อออกมาในบริบทที่แตกต่างออกไป เช่น ที่รองแก้วเป็นอุ้งเท้าหมี โดยสินค้าทุกชิ้นต้องคิดแทนลูกค้า และต้องพยายามเข้าถึงความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุด ขณะที่การทำการตลาด จะต้องทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น ด้วยการออกงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียที่ชื่นชอบสินค้า Abearable เป็นทุนเดิม เช่น ไต้หวัน ฮ่องกง และญี่ปุ่น
เป็นอีกหนึ่งผลงานที่สร้างสรรค์ของเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่หยุดคิดพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยไม่มีกำแพงทางความคิดมาปิดกั้น แถมยังทำออกมาได้อย่างภาคภูมิใจ การันตีได้จากรางวัล Demark ปีล่าสุด
***สนใจติดต่อ www.abearable.com หรือที่ Facebook: Abearable***
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *