สมุนไพรพื้นบ้านอย่าง 'มะกรูด' เมื่อเติบโตในยุคดิจิทัล ก็ต้องเดินทางไปได้ไกลกว่าอยู่แค่ในเมืองไทย เพราะล่าสุดมีเกษตรกรรุ่นใหม่ปลูกใบมะกรูดส่งออก 100% สร้างชื่อเสียงสู่ยุโรป อเมริกา และเอเชีย สร้างรายได้จากการปลูกมะกรูดตัดใบ กลายเป็นเถ้าแก่หน้าใหม่ ประทับวงการเกษตรกรไทยรายล่าสุด ที่รู้จักกันดีภายใต้ชื่อ “สวนมะกรูด บ้านคุณปู่”
เมื่อค้นพบตัวเองแล้วว่าไม่เหมาะกับการทำงานประจำ จึงตัดสินใจลาออกจากบริษัทนำเข้า-ส่งออก ที่ “ศิวาวุธ สงวนทรัพย์” หรือ น้องเก่ง ทำได้เพียง 7 วันเท่านั้น เบนเข็มสู่วิถีเกษตรอย่างเต็มตัว โดยเชื่อว่าเป็นงานที่รัก และทำได้ดีที่สุด
แต่ก่อนที่เขาจะเลือกลงหลักปักฐานกับอาชีพการปลูกมะกรูด เขาเคยเปิดผับร่วมกับเพื่อน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยทองสุข พร้อมหาเวลาว่างทดลองทำการเกษตรควบคู่กันไปไม่ว่าจะเป็นการเพาะเห็ด เลี้ยงปลาหมอแปลงเพศ ฯลฯ กระทั่งได้รับมรกดจากคุณปู่เป็นที่ดินจำนวน 4 ไร่ ย่านนครปฐม จึงคิดพลิกฟื้นผืนดินแห่งนี้ให้เกิดประโยชน์ ด้วยการเข้าอบรมการปลูกมะนาว แถมพ่วงท้ายด้วยวิธีปลูกมะกรูดอีก 1 วัน สุดท้ายเขาเลือกปลูกมะกรูด เพราะคิดว่าน่าจะปลูกง่ายกว่ามะนาว แต่เมื่อได้ลงมือปลูกจริงๆ ทุกอย่างกลับตรงกันข้าม!
'แมลง' คือ ปัญหา ที่แก้ไม่ตกสำหรับเกษตรกรมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มปลูกมะกรูด แต่เขาก็ไม่ท้อ พยายามหาวิธีป้องกัน อย่าง การกางมุ้ง แต่ก็หนีไม่พ้นแมลงตัวฉกาจ อย่าง ไรแดง เพลี้ยไฟ ที่มักจะเล็ดลอดเข้ามา จึงปลูกแบบกลางแจ้ง ใช้สมุนไพรมากำจัดศัตรูพืช พร้อมทิ้งช่วงการพ่นยาฆ่าแมลงก่อนเก็บเกี่ยว จนได้ใบมะกรูดคุณภาพดีไม่มีตำหนิทั่วทั้งใบ ซึ่งถือเป็นคุณภาพมาตรฐานส่งออก
“การที่ผมเลือกปลูกมะกรูดนั้น เพราะจากการศึกษาตลาดพบว่า ยังมีความต้องการ โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ จึงเลือกปลูกมะกรูด โดยระหว่างนั้นก็เจอปัญหามากมาย แต่ก็ใช้วิธีเข้าไปหาอาจารย์ที่ ม.เกษตร ตามคณะที่เกี่ยวข้อง เช่น ปัญหาแมลงศัตรูพืชก็ไปที่คณะเกษตร ส่วนระบบน้ำหยด ก็ไปขอคำปรึกษาจากวิศวะฯ เกษตร ให้ช่วยออกแบบระบบน้ำ และปุ๋ยให้ ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ผมใช้เวลาประมาณครึ่งปี และพัฒนาดินอีกครึ่งปีเช่นกัน จึงลงมือปลูกมะกรูดอย่างจริงจัง”
สำหรับเส้นทางการเจาะตลาดต่างประเทศ น้องเก่งใช้วิธีเข้าหาโรงงานที่ใช้ใบมะกรูดเป็นวัตถุดิบหลัก และบริษัทผู้ส่งออกใบมะกรูด ซึ่งเมื่อเขาสามารถรักษามาตรฐานสินค้าได้ ก็เกิดการบอกปากต่อปากถึงคุณภาพใบมะกรูดไร้ตำหนิตลอดทั้งใบ ทำให้ประเทศญี่ปุ่น กลายเป็นคู่ค้าหลัก จัดส่ง 200 กก./สัปดาห์ ในรูปแบบของใบมะกรูดสด ส่วนประเทศในแถบยุโรป อเมริกา แคนนาดา ไอซ์แลนด์ จะใช้วิธีอบแห้ง หรือแช่แข็ง ก่อนส่งออก ซึ่งเป็นหน้าที่ของพ่อค้าคนกลางที่รับไปดำเนินการต่อ
“ผมขายเฉพาะมะกรูดตัดใบเท่านั้น ไม่ได้ขายลูกมะกรูด เป็นการปลูกเพื่อส่งออก 100% มีการตรวจวัดค่ามาตรฐานของสารเคมีตกค้างก่อนส่งออกทุกครั้ง เพื่อให้ตรงกับมาตรฐานที่แต่ละประเทศกำหนด โดยผลผลิตการปลูกมะกรูด 1 ไร่ จะได้ใบมะกรูดประมาณ 350 กก. ขายส่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 80-100 บาท ซึ่งการจะทำให้ใบมะกรูดปลอดสารเคมีถึงขั้นส่งออกได้นั้น ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากทำให้คู่แข่งยังมีน้อยมาก ซึ่งเราถือเป็นเกษตรกรผู้ปลูกใบมะกรูดอย่างจริงจัง และมีพื้นที่มากที่สุดในประเทศ รวมถึงทำเลปลูกก็อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองนัก สามารถเดินทางไปจังหวัดต่างๆ ได้สะดวก”
ส่วนสเปคของใบมะกรูดสำหรับส่งออก นั้น น้องเก่ง บอกว่า จะต้องเป็นใบแก่ เพราะจะมีกลิ่นของน้ำมันหอมระเหย เน่าเสียยากกว่าใบอ่อน รวมถึงใบมะกรูดทั้งหน้า-หลัง ต้องไม่มีรอยแมลงกัดแทะ หรือใบขาดแหว่ง และที่สำคัญต้องปลอดภัยจากสารเคมี โดยลูกค้าหลักจะเป็นคนไทยในต่างประเทศ, ร้านอาหารไทยในต่างแดน และชาวต่างชาติที่นิยมนำใบมะกรูดมาโรยพิชซ่า , เมนูไก่งวงอบ ใช้แทนเครื่องเทศท้องถิ่น ก็เริ่มมีให้เห็นกันบ้างแล้ว จากคุณสมบัติในเรื่องของกลิ่น และยังเป็นพืชใบเขียวที่มีแคลเซียมสูงอีกด้วย
ขณะที่แผนธุรกิจในอนาคต เขาเชื่อว่าพื้นที่ปลูกมะกรูด 30 ไร่ในปัจจุบันยังเพียงต่อความต้องการของตลาดในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งต่อไปจะอบแห้ง และแช่แข็งใบมะกรูดเอง เพื่อทำการส่งออกกับผู้ซื้อโดยตรง รวมถึงเตรียมทำชุดเครื่องต้มยำอบแห้ง ที่มีส่วนผสมของใบมะกรูดคุณภาพ ขณะที่เส้นทางการปลูกมะกรูด เขาก็จะมุ่งมั่นต่อไป ไม่คิดนอกใจไปปลูกพืชชนิดอื่น เพราะเชื่อว่า...หากมุ่งมั่นทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด จะทำออกมาได้ดี
***สนใจติดต่อ www.facebook.com/thaikaffirlimefarm100***
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *