เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ขณะที่ชาวสวนในพื้นที่ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง แห่ไปปลูกพืชล้มลุก ซึ่งปลูกง่ายได้ราคาดี ตรงกันข้ามกับ “ไพโรจน์ ปิติพันธรัตน์” เลือกลงทุนลงแรงปลูกผลไม้นานาชนิด ควบคู่พัฒนาพื้นที่ ปูทางเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ แม้ในเวลานั้นจะสร้างความสงสัยให้ใครหลายคน
แต่ปัจจุบันพิสูจน์แล้วว่าวิสัยทัศน์ดังกล่าวเฉียบคม เพราะดินแดงแห่งนี้เติบโตเป็น “สวนละไม” อาณาจักรชิมชอปผลไม้บุฟเฟต์ชื่อดังระดับประเทศ ก้าวข้ามจากแค่ขายส่งผลไม้ตามฤดูกาลสู่ธุรกิจบริการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่มาได้ตลอดทั้งปี นับเป็นเกษตรแนวใหม่ที่สร้างความมั่งคั่ง และยั่งยืน
วางแผนล่วงหน้า 15 ปี ปูทางท่องเที่ยวเชิงเกษตร
หนุ่มเมืองระยองย้อนให้ฟังว่า ในอดีตมีโรงงานหลายแห่งมาเปิดรับซื้อผลผลิตเกษตร เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด และยางพารา ชาวสวนในพื้นที่จำนวนมากหันไปปลูกพืชดังกล่าวแทน เพราะปลูกง่ายกว่า และได้เงินเร็ว ทว่า ส่วนตัวเห็นศักยภาพบนที่ดิน ซึ่งเป็นมรดกจากครอบครัวกว่า 700 ไร่ มีทั้งภูเขาสวยงาม ใกล้ทะเล และสภาพพื้นดินอุดมสมบูรณ์ จึงเลือกจะรักษาการปลูกผลไม้ควบคู่กับลงมือพัฒนาพื้นที่ วางแผนหวังให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ประจำจังหวัด
“ตั้งแต่ 15 ปีที่แล้วผมวางแผนว่าจะทำที่นี่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวให้ได้ เพราะเห็นศักยภาพของที่ดินว่ามีทำเลสวยงาม สามารถดึงนักท่องเที่ยวมาได้แน่ๆ แต่เราต้องอดทนรอปรับพื้นที่ และใช้เวลาให้ผลไม้ที่ปลูกโตเสียก่อน ซึ่งในเชิงธุรกิจ ผมประเมินว่าไม่มีความเสี่ยง เพราะอย่างไรเสียผลผลิตต่างๆ ที่ปลูกก็ยังอยู่บนที่ดินของผม”
ไพโรจน์ใช้เวลากว่า 13 ปี ภายใต้เงินลงทุนที่ค่อยๆ ใส่ลงไปทุกปี รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท พัฒนาพื้นที่ รวมถึงปลูกผลไม้ต่างๆ กว่า 15 ชนิดรองรับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งก่อนจะเปิดสวนให้คนภายนอกมาเยือนก็ประกอบอาชีพเหมือนชาวสวนทั่วไป คือปลูกผลไม้ขายส่งตามฤดูกาล
จนเมื่อปี พ.ศ. 2557 เมื่อมีความพร้อมทุกด้าน บนเนื้อที่กว่า 500 ไร่จากพื้นที่รวม 700 ไร่ ถูกจัดสรรเปิดเป็นสวนผลไม้บุฟเฟต์อย่างเป็นทางการ ในชื่อ “สวนละไม”
“ช่วงที่เปิดแรกๆ ก็ยังเงียบ คนไม่รู้จัก แต่หลังจากมีนักท่องเที่ยวกลุ่มแรกๆ เข้ามาแล้วช่วยไปบอกต่อ โดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดีย ทำให้ลูกค้ามากขึ้นตามลำดับ จากปีแรกผมเปิดสวนแค่ 1 เดือนมีลูกค้าประมาณ 2 หมื่นคน ปีต่อมา (2558) ผมตั้งเป้า 5 หมื่นคน แต่ปรากฏว่ายอดลูกค้าเข้ามาเที่ยวรวมเกือบ 1 แสนคน และปีนี้ (2559) ผมตั้งเป้า 1.2-1.5 แสนคน แค่สิ้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมายอดลูกค้ามาแล้วกว่า 6 หมื่นคน” เจ้าของสวนผลไม้บุฟเฟต์ระบุ
ตอบความคาดหวังให้ได้ หัวใจแห่งความสำเร็จ
เขาเสริมด้วยว่า หัวใจของการทำธุรกิจสวนผลไม้บุฟเฟต์ให้สำเร็จ คือ ตอบสนองความคาดหวังของลูกค้าให้ได้ดีที่สุด โดยเฉพาะต้องได้กินผลไม้ที่คุณภาพดี ในปริมาณที่อิ่มจุใจ ดังนั้นจำเป็นต้องมีผลไม้คุณภาพดีในปริมาณมากเพียงพอไว้บริการ ซึ่งทางสวนละไม ใช้วิธีรับซื้อผลไม้จากเกษตรกรในเครือข่าย โดยให้ราคาที่ผู้ปลูกพึงพอใจ ภายใต้เงื่อนไขว่า หากส่งผลไม้ที่อ่อน ไม่ได้คุณภาพเข้ามา จะตีกลับและหยุดการรับซื้อตลอดไป
“ทุกวันนี้มีเกษตรกรที่ส่งผลไม้มาให้ผมกว่า 50-60 ราย ปริมาณรับซื้อรวมกว่า 170 ตันต่อฤดูกาล เฉพาะทุเรียนอย่างเดียว 70 ตัน ซึ่งราคาที่เกษตรกรมาขายผมจะไม่ต่อเลย แต่มีข้อแม้ว่า ถ้าคุณภาพไม่ได้ ผมตีกลับเลย ซึ่งวิธีนี้ช่วยจูงใจให้เกษตรกรต้องกลับไปพัฒนาหรือรักษาการปลูกให้ได้คุณภาพเพื่อจะขายได้ราคาดีต่อเนื่อง ส่วนผมก็มีผลไม้ดีไว้บริการนักท่องเที่ยว และเมื่อนักท่องเที่ยวมาแล้วประทับใจก็จะกลับมาอีก ผมก็จะมีทุนไปซื้อผลไม้จากเกษตรกรได้ในราคาสูงอีก เท่ากับดีกันทั้งสองฝ่าย” เขาฉายโมเดลการทำธุรกิจเกษตรแนวใหม่ให้ยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปีนี้เกิดภัยแล้ง ผลไม้ทุกประเภทออกน้อยและราคาสูง อย่างทุเรียนปีนี้สวนละไมรับซื้อในราคาถึง 98-102 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่นักท่องเที่ยวแทบทุกคนที่มากินบุฟเฟต์ผลไม้มักมุ่งเน้นเพื่อจะกิน “ทุเรียน” เป็นอันดับแรกเสมอ การจะบริหารให้ยังเหลือกำไรจึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง
วิธีการที่สวนละไมเลือกใช้ คือ จัดเมนูอื่นๆ ไว้บริการเสริมด้วย เช่น ส้มตำ ไก่ทอด ข้าวเหนียวทุเรียน ไอศกรีม ฯลฯ เพื่อถัวเฉลี่ยต้นทุน ให้ลูกค้ากินอาหารหลายๆ อย่าง ไม่ต้องเน้นกินทุเรียนอย่างเดียว ควบคู่กับขอร้องลูกค้าให้กินแต่พอดีอิ่ม อย่าหยิบมามากจนเหลือทิ้ง
นอกจากนั้น จัดเส้นทางการกินบุฟเฟต์เป็น 3 โซน เพื่อให้ลูกค้ากระจายกินอาหารหลายๆ อย่าง ได้แก่ 1. พาชมสวนเงาะ ให้เก็บกินได้จากต้น รวมถึงมีบริการเมนู เช่น มังคุด เงาะ น้ำผลไม้ และขนมหวานต่างๆ อย่างไอศกรีม กล้วยทอด ฯลฯ 2. พาไปชมสวนทุเรียน ซึ่งจุดนี้มีทุเรียนเป็นพระเอกไว้บริการ ควบคู่กับผลไม้อื่นๆ รวมถึงอาหารหลักอย่าง ส้มตำ ไก่ทอด ข้าวเหนียวมะม่วง เป็นต้น และ 3. พาชมฟาร์มเลี้ยงแกะ ตบท้ายด้วยจุดซื้อสินค้าของฝาก
สำหรับค่าตั๋วเข้าสวนละไม ผู้ใหญ่ 400 บาท เด็ก 200 บาท โดยเฉลี่ยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงต่อรอบ กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่คือ ครอบครัว และองค์กร เบ็ดเสร็จหลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ จะเหลือกำไรจากรายได้ประมาณ 20%
แจงปัญหาธุรกิจสวนผลไม้บุฟเฟต์ บริหารยาก เข้าไม่ถึงแหล่งทุน
สำหรับปัญหาธุรกิจนั้น ไพโรจน์ระบุว่า ประการแรก ความยากในการจัดสรรปริมาณลูกค้าให้เหมาะกับสถานที่ เพราะปัจจุบันสวนละไมรองรับลูกค้าได้สูงสุด 2,500 คนต่อวัน แต่ด้วยความนิยมที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ลูกค้ามามากเกินศักยภาพ อย่างวันแรงงาน (1 พ.ค.) ที่ผ่านมายอดสูงถึง 4,500 คน ทำให้อำนวยความสะดวกลูกค้าได้ไม่ดีพอ ซึ่งพยายามแก้ไขโดยลงทุนจัดสร้างสิ่งอำนวยสะดวกต่างๆ เพิ่มเติม เช่น รถชมสวน อาคารกินอาหาร เป็นต้น
ประการต่อมา เนื่องจากต้องใช้เงินทุนจำนวนมากในการซื้อผลไม้จากเกษตรกรกว่า 170 ตันต่อฤดูกาล หรือกว่า 11 ล้านบาท บางครั้งกระทบขาดสภาพคล่อง และที่ผ่านมาไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ เพราะที่ดินของสวนละไมเป็นหนังสือแสดงการทำประโยชน์ หรือ กสน.5 ไม่สามารถใช้ค้ำประกันต่อสถาบันการเงินได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่นานมานี้รัฐบาลออกนโยบาย “สินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตร” ผ่อนคลายเกณฑ์ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อนุมัติสินเชื่อได้ โดยใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน ช่วยให้ได้รับเงินทุน 5 ล้านบาทมาหมุนเวียนธุรกิจ
หวาด “ล้งจีน” ทุ่มตลาด เตือนชาวสวนหลงระเริงได้อีกแค่ 3 ปี
นอกจากนั้น ปัญหาอีกประการที่เป็นภาพใหญ่ของอุตสาหกรรมผลไม้ภาคตะวันออก ทั้ง จ.ระยอง และจันทบุรี ซึ่งส่วนตัวค่อนข้างกังวล คือ ช่วง 2-3 ปีหลังที่ผ่านมานายทุนพ่อค้าจากจีนเข้ามาตั้งโรงงานคัดแปรรูปและรับซื้อผลไม้ หรือ “ล้งจีน” จากสวนผลไม้ท้องถิ่นโดยตรง ซึ่งใช้วิธีรับซื้อผลไม้ตีราคาแบบเหมาสวน ไม่ต้องคัดเกรด แม้ปัจจุบันอาจจะทำให้ชาวสวนพึงพอใจเพราะขายได้ราคาดี แต่ในอนาคตน่ากังวลว่า การกำหนดตลาดทั้งหมดจะไปอยู่ในมือของนักลงทุนจีน ทำให้เกษตรกรไทยขาดความสามารถในการต่อรองการค้า
“การเข้ามาของล้งจีนทำให้สวนผลไม้ไทยเปลี่ยนไป ช่วงแรกเจ้าของสวนจะสามารถขายผลผลิตได้ในราคาสูง ให้ล้งจีงที่มาซื้อแบบเหมาสวนที่เปลี่ยนจากการขายส่งแบบเดิม แต่ที่น่ากังวลคือ ล้งจีนจะเข้ามาผูกขาด ผมคิดว่าชาวสวนไทยจะดีใจได้อีกแค่ 3 ปี ต่อจากนั้นอำนาจการซื้อขายจะเป็นของพ่อค้าจีนทั้งหมดทันที หากชาวสวนผลไม้ไม่มีการปรับตัวหาตลาดอื่นๆ มารองรับด้วย จะรอแต่ขายให้ล้งจีนและคิดว่าจะได้ราคาสูงตลอดไป มันจะไม่เกิดความยั่งยืน”
“ดังนั้นผมอยากให้ผู้ปลูกเปลี่ยนวิธี หันมาทำเกษตรครบวงจร สร้างตลาดของตัวเอง รวมกลุ่มในหมู่ผู้ปลูกกัน ไม่ต้องกังวลว่าเราจะแข่งขันกันเอง เพราะถ้าผลผลิตคุณภาพดี ผมกล้ายืนยันว่ามีตลาดรองรับซื้ออีกมหาศาล เพราะทุเรียนไทยได้รับความนิยมจากทั่วโลกอยู่แล้ว” ไพโรจน์กล่าว
แนะรักษาคุณภาพ สร้างธุรกิจยั่งยืน
เมื่อถามถึงการแข่งขันของธุรกิจสวนผลไม้บุฟเฟต์ใน จ.ระยอง เขาบอกว่า แทบไม่มีปัญหาแย่งชิงลูกค้ากันเลย เนื่องจากปริมาณความต้องการของนักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศ รวมถึงชาวต่างชาติยังมีจำนวนมาก นอกจากนั้น บรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจนี้มีการจับมือตั้งเป็นสมาคม มีสมาชิกประมาณ 40 ราย เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และกระจายกลุ่มนักท่องเที่ยวระหว่างกัน ช่วยให้ในหมู่ผู้ประกอบการเป็นคู่ค้า ไม่ต้องแข่งขันกันเอง
“การทำสวนขายผลไม้แบบเดิมมันมีความเสี่ยง เรื่องราคาดีบ้าง ไม่ดีบ้าง และบางปีก็ประสบภัยธรรมชาติ การพัฒนามาทำเกษตรเชื่อมกับการท่องเที่ยวช่วยให้เราลดความเสี่ยง สามารถสร้างตลาดได้เอง แทนที่ต้องเอาผลผลิตไปขายข้างนอก ผมดึงลูกค้าเข้ามาซื้อถึงสวนเลย ซึ่งทุกวันนี้ผมเชื่อว่าธุรกิจเกษตรเชิงท่องเที่ยวตลาดยังไม่ถึงทางตัน ชาวสวนทุกคนสามารถทำได้ แต่ที่ผ่านมาชาวสวนเรามักไม่เก่งด้านการตลาด ข้อแนะนำสำหรับคนที่มีแนวคิดอยากทำท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้าง คุณควรเดินไปปรึกษาเกษตรจังหวัด สามารถจะให้คำปรึกษาแนะนำได้ และที่สำคัญ คุณต้องทำผลผลิตให้ได้คุณภาพ ราคาไม่เอาเปรียบลูกค้า และมีการบริหารจัดการภายในที่ดี รับรองมีนักท่องเที่ยวเข้าแน่ๆ”
“นอกจากนั้น สำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาต่อยอดธุรกิจสวนผลไม้ของครอบครัว ผมอยากให้คำนึงถึงความยั่งยืนมากกว่าการเติบโตแบบก้าวกระโดด อย่างลูกสาวของผมที่เข้ามาช่วยงานที่สวนละไม ผมจะบอกเสมอว่าขอให้รักษาคุณภาพ อย่าหวังแต่เรื่องกำไรมากเกินไป เพราะธุรกิจที่จะยั่งยืนได้ไม่จำเป็นต้องกำไรมากหรอก ขอแค่ลูกค้ามาแล้วประทับใจ มาแล้วไม่ผิดหวัง แล้วกลับมาซ้ำ และไปช่วยบอกต่อ มันจะทำให้ธุรกิจเราอยู่รอดแบบยั่งยืนได้” เจ้าของสวนละไมระบุ
วางกลยุทธ์ปรับบุฟเฟต์ผลไม้สู่เที่ยวได้ตลอดปี
สำหรับแผนธุรกิจในอนาคตนั้น ไพโรจน์ฉายภาพว่าจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของสวนละไมจากสวนผลไม้บุฟเฟต์ให้เป็นแลนด์มาร์กเมืองระยองที่มาเที่ยวได้ตลอดทั้งปี เปิดสวนเป็น 3 ฤดูกาล ได้แก่ ช่วงเดือนเมษายนถึงสิงหาคม เปิดเป็นเทศกาลบุฟเฟต์ผลไม้ เดือนตุลาคมถึงธันวาคมเป็นเทศกาลสวนชา-สวนดอกไม้ และเดือนธันวาคมถึงมีนาคมเป็นเทศกาลสวนสตรอเบอร์รี
นอกจากนั้นมีกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น สวนน้ำ สวนสนุก ปั่นจักรยานชมวิว เป็นต้น เชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นที่พักโฮมสเตย์ โรงแรม รีสอร์ต ตลอดจนร้านอาหารต่างๆ รวมถึงใช้สวนละไมเป็นจุดกระจายสินค้าจากชุมชน ซึ่งทั้งหมดจะก่อประโยชน์ให้ภาคเกษตรและท้องถิ่น จ.ระยองโดยรวมพร้อมกันทั้งระบบ
“เนื่องจากในสวนละไมมีความต้องการใช้ผลไม้ปริมาณสูงมาก ผลผลิตที่ผมปลูกเองทั้งหมดทำได้แค่ 20% ที่เหลือยังต้องรับจากเครือข่ายเกษตรอีกกว่า 50 ราย ทำให้เกิดการกระจายรายได้ นอกจากนั้น ในสวนละไมเกิดการจ้างแรงงานนับร้อย รวมถึง เด็กๆ นักเรียนนักศึกษาผมก็ดึงมาทำงานหารายได้พิเศษ และทุกวันเสาร์อาทิตย์ ระยะทาง 3.5 กิโลเมตรก่อนเข้ามายังสวนละไม การค้าขายคึกคักมากเลย พ่อค้าแม่ค้าจอดรถขายของให้นักท่องเที่ยวตลอดทาง หากสามารถทำให้การท่องเที่ยวลักษณะนี้เกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี มันจะเกิดการสร้างงานใหม่ๆ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผมเชื่อว่ามันจะส่งผลดีต่อภาคเกษตรทั้งระบบ” ไพโรจน์แสดงทัศนะ
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@
www.suanlamai.com , fb: Suanlamai
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *