xs
xsm
sm
md
lg

'รองเท้าทะเลจร' ฟื้นชีพรองเท้าหลงทางจากทะเลอันดามัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รองเท้า ทะเลจร (Tlejourn)
ระยะเวลาแค่เพียง 3 เดือน ปริมาณขยะที่กลุ่ม Trash Hero เก็บได้ตามหมู่เกาะทะเลใต้จะมีมากถึง 80 ตัน และหนึ่งในนั้นเป็นรองเท้าแตะประมาณ 8 ตัน กลายเป็นขยะที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ทำให้อาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแปรรูปยางพาราเกิดไอเดียเนรมิตเป็นรองเท้าคู่ใหม่ ชื่อเก๋ว่า “ทะเลจร”
ดร.ณัฐพงค์ นิธิอุทัย
นอกจากขยะที่ตามชายหาดที่รีไซเคิลได้แล้ว ยังเหลือรองเท้าแตะที่กลุ่ม Trash Hero ซึ่งเป็นกลุ่มนักอนุรักษ์ธรรมชาติกระจายอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน สมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่มีหัวใจรักสิ่งแวดล้อม ร่วมกันหาทางออกเพื่อกำจัดขยะรองเท้าแตะให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้ “ดร.ณัฐพงค์ นิธิอุทัย” ผู้เริ่มต้นแนวคิด “รองเท้าทะเลจร” และดำรงตำแหน่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยรัฐบาล เกิดไอเดียนำมาแปรรูป เพื่อคืนชีพเป็นรองเท้าแตะคู่ใหม่อีกครั้ง
พื้นรองเท้าทำจากรองขยะรองเท้าแตะตามชายหาด แถบทะเลอันดามัน
“จากขยะรองเท้าแตะที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ วิธีเดียวคือต้องเผาทำลายทิ้ง ซึ่งก็ไปทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้ผมในฐานะอาจารย์ที่ทำงานเกี่ยวกับการแปรรูปยางพาราโดยตลอด จึงคิดหาหวิธีสร้างมูลค่าให้ขยะเหล่านี้ ด้วยการนำมาแปรรูปเป็นพื้นรองเท้าแทนการใช้ยางพารา นำร่องกับรองเท้าแตะ 1 แสนข้างที่กลุ่ม Trash Hero เก็บได้ในแถบทะเลอันดามัน ด้วยระยะเวลาเพียง 3 เดือน”
พื้นรองเท้าจากร้องเท้าแตะหลงทาง
เริ่มแรก ดร.ณัฐพงค์ ไปลงเรียนทำรองเท้า กับโรงเรียนที่สอนทำรองเท้าหนังโดยตรง โดยเน้นไปที่การทำพื้นรองเท้าเป็นหลัก จากนั้นก็ฝึกฝนการขึ้นรูปเป็นรองเท้าแตะจนเป็นผลสำเร็จ จึงคิดนำความรู้เหล่านี้ไปสร้างประโยชน์และรายได้ให้แก่กลุ่มชาวบ้านใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่ง ดร.ณัฐพงค์ ได้เข้าไปในพื้นที่เพื่อทำการสอนชาวบ้านโดยตรง หลังจากชาวบ้านให้ความสนใจแต่ไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่เพื่อมาเรียนทำรองเท้าได้

ขั้นตอนการทำรองเท้าทะเลจร เริ่มจากนำรองเท้าแตะมาคัดแยกประเภทเป็น รองเท้าฟองน้ำ รองเท้ายาง จากนั้นนำมาทำความสะอาด พร้อมแยกโทนสีประมาณ 3 โทน ซึ่งกว่า 80% เป็นสีดำ ต่อมาก็นำมาบดเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่ออัดเป็นแผ่น โดยต้นทุนอยู่ที่ 50 บาท สามารถตัดพื้นรองเท้าได้ 1 คู่ ส่วนรูปแบบรองเท้าขึ้นอยู่กับการออกแบบ สุดท้ายกลายเป็นรายได้ของชาวบ้านใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ขายให้แก่นักท่องเที่ยว ส่วนใหญ่เป็นรองเท้าแตะสำหรับเดินชายหาด
ออกแบบเป็นรองเท้าแฟชั่น
ต่อมารองเท้าทะเลจร มีการต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยร่วมกับโรงเรียนสอนทำรองเท้า ผลิตรองเท้าเพื่อการใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน เน้นออกแบบเพื่อโชว์พื้นรองเท้า หวังสร้างจุดขายให้แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่นักอนุรักษ์เล็งเห็นคุณค่ารองเท้าลักษณะนี้ โดยราคาขายอยู่ที่คู่ละ 300 บาท

ล่าสุด ดร.ณัฐพงค์ ได้มีการนำผ้าไทย ที่บอกเล่าเรื่องราวของผ้าไทยมาตกแต่งลงบนรองเท้าทะเลจรด้วย หลังจากไปเจอแบรนด์ 'ลลิล' ซึ่งทำผ้าไทยจากทางภาคเหนือ ที่นับวันความนิยมเริ่มลดน้อยลง จึงเกิดความคิดที่จะนำผ้าทอไทยมาผสมผสานกับรองเท้าทะเลจร นอกจากนี้ยังมีการนำผ้าทอมือของกลุ่มท่องเที่ยว จ.สระแก้ว ที่มีความหนามาตกแต่งลงบนรองเท้าด้วย

การเพิ่มมูลค่าให้รองเท้าทะเลจร นอกจากจุดขายที่มาจากรองเท้าแตะรีไซเคิลแล้ว ทาง ดร.ณัฐพงค์ ยังแนะนำชาวบ้านถึงแนวทางการเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ ด้วยการไปเปิดคีออสตามแหล่งท่องเที่ยว พร้อมทำรองเท้าโชว์ชาวต่างชาติ หรือการวัดขนาดเท้าของลูกค้า และตัดรองเท้าให้เห็นถึงกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน จะสามารถสร้างกำไรได้เกือบ 200 บาท/คู่ เลยทีเดียว

ปัจจุบันรองเท้าทะเลจร เริ่มมีการผลิตแบบคลังสต็อกสินค้าแล้ว หลังจากในช่วงแรกเป็นการผลิตแบบพรีออเดอร์สั่งซื้อสินค้าจากใน Facebook: Tlejourn เนื่องจากชาวบ้านยังไม่มีเงินลงทุนมากนัก และเตรียมนำสินค้าไปวางจำหน่ายในกรุงเทพฯ ที่ห้างสยามเซ็นเตอร์ พร้อมศึกษาทิศทางลูกค้าว่าชื่นชอบรองเท้าสไตล์ไหน เพื่อนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์รองเท้าทะเลจรต่อไปในอนาคต

แม้ความต้องการรองเท้าทะเลจรขณะนี้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า แต่สำหรับ ดร.ณัฐพงค์ ไม่กังวลในเรื่องดังกล่าว เพราะรองเท้าทะเลจจร เกิดมาเพื่อกำจัดขยะ ถ้าไม่มีรองเท้าให้รีไซเคิล ก็ถือว่างานของทะเลจรบรรลุเป้าหมาย...

รองเท้าทะเลจร นำผ้าไทยมาตกแต่ง
รองเท้าลำลองสวมใส่ได้ทุกวัน
รองเท้าหนังของสุภาพบุรุษก็มีให้เลือกสรร
นำมาทำเป็นรองเท้าส้นสูงก็ได้นะ

นำผ้าไทยทำเป็นเป็นถุง สู่แพคเกจรองเท้าทะเลจร
รองเท้าทะเลจร ส่วนใหญ่เป็นฝีมือชาวบ้านใน 3 จังหวัดชายแดนใต้
ขยะรองเท้าแตะที่เก็บได้ตามชายหาด
พื้นรองเท้าจากขยะรองเท้าแตะ เตรียมนำไปขึ้นรูปเป็นรองเท้าทะเลจรสวมใส่ได้จริง
***สนใจติดต่อ 08-1543-3177 หรือที่ Facebook: Tlejourn***
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น