หลังทำให้ซีอิ๊วดำหวาน-เค็ม ตรากุหลาบและตาแป๊ะ เป็นที่รู้จักในตลาดภูธรมานานกว่า 70 ปี เมื่อย่างเข้าสู่เจเนอเรชันที่ 4 คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารขอกรุยทางเมืองกรุง พร้อมปรับกลยุทธ์ฝ่าอุปสรรควิถีคนกรุงที่ทำอาหารน้อยลง แปรเปลี่ยนเป็น “ไข่เค็มซีอิ๊วบ้านตลาดน้อย” เพื่อการรับประทานที่ง่ายขึ้น หรือใช้เป็นส่วนประกอบในเมนูอื่น
สามพี่น้อง “มาณิสสา-มาลียา-พงษ์ภัทร โชติสกุลรัตน์” ทายาทธุรกิจเจเนอเรชันที่ 4 โรงงานซีอิ๊วโชติสกุลรัตน์ ผู้ผลิตซีอิ๊วดำเค็มและซีอิ๊วดำหวานหลากหลายแบรนด์ อย่าง ตรากุหลาบ, ตาแป๊ะ ครองตลาดต่างจังหวัดมายาวนาน 70 ปี ยังคงสูตรโบราณไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ในรูปแบบของขวดแก้ว และแบบถัง ส่งขายให้ยี่ปั๊วในต่างจังหวัด ที่ส่วนใหญ่นำไปเป็นซอสปรุงรสให้กับร้านก๋วยเตี๋ยว และร้านขายเป็ดพะโล้ชื่อดังตลาดดอนหวาย ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของร้านอาหารชื่อดังมาโดยตลอด จากความเข้มข้นของซีอิ๊ว และกรรมวิธีการผลิตแบบโบราณใช้เตาฟืน และยังใช้คนกวนซีอิ๊วมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงไม่มีการใช้วัตถุกันเสีย ผงชูรส และไม่ผสมแป้ง ยิ่งช่วยสร้างความโดดเด่นให้โรงงานซีอิ๊วแห่งนี้
แต่ด้วยความที่ครองตลาดต่างจังหวัดมาโดยตลอด ไม่เคยนำสินค้าของตนเองมาจำหน่ายในกรุงเทพฯ เลย ดังนั้น เมื่อธุรกิจเริ่มผ่องถ่ายมาสู่มือทายาทรุ่นที่ 4 ของสามพี่น้อง จึงใช้ความที่เป็นคนรุ่นใหม่ เข้าใจสังคมที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะพฤติกรรมผู้บริโภค ก็เริ่มเห็นช่องทางขยายโอกาสธุรกิจ พร้อมสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นจากของดีมีคุณภาพในมือ อย่างซีอิ๊วดำเค็ม และซีอิ๊วหวาน ซึ่งโจทย์ใหญ่คือข้อจำกัดของผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับคนทำครัว ขณะที่วิถีคนกรุงจะพึ่งพากับข้าวถุงเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ซีอิ๊วถูกใช้น้อยลง
พวกเขาจึงคิดหาทางรังสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อให้กลายเป็นของใกล้ตัว และมีไว้ติดตู้เย็นได้ตลอดเวลา ซึ่ง “ไข่เค็ม” เป็นสิ่งแรกที่พวกเขาเลือก จากความทรงจำเมื่อครั้งเยาว์วัย คุณย่าเคยทำไข่เค็มซีอิ๊วให้รับประทานเป็นประจำ โดยใช้กากน้ำตาลอ้อยที่เหลือจากการเคี่ยวซีอิ๊วดำเค็มมาพอกไว้กับไข่เป็ด แทนการใช้ดินพอกเหมือนสูตรทั่วไป ซึ่งจะได้ไข่เค็มที่มีกลิ่นหอมละมุน และรสชาติไม่เค็มมาก กลายเป็นไข่เค็มซีอิ๊วลายหินอ่อนที่สวยงามสะดุดตาแก่ผู้พบเห็น
ขณะที่ซีอิ๊วก็นำมาใส่ขวดพลาสติกขนาดเล็กลง (300 ซีซี) ขายในซูเปอร์มาร์เกตชั้นนำ เพื่อตอบโจทย์การบริโภคของคนกรุง และเริ่มทดลองตลาดในกรุงเทพฯ เมื่อไม่นานมานี้ รวมถึงใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียจำหน่ายสินค้าด้วย โดยใช้ไข่เค็มเป็นธงในการสร้างแบรนด์ซีอิ๊วให้เป็นที่รู้จัก
“จุดขายที่พวกเราพยายามสื่อออกไปคือ การคงไว้ซึ่งสูตรโบราณ ไร้สารกันเสีย ผงชูรส และแป้ง เพราะสมัยนั้นยังไม่มีใครใช้สารเหล่านี้ ขณะที่การเคี่ยวซีอิ๊วยังใช้คนกวนประมาณ 8 ชั่วโมง อาศัยความร้อนจากเตาฟืนเท่านั้น เพื่อความหอมละมุนแตกต่างจากแบรนด์อื่น ทำให้ได้หัวซีอิ๊วหรือซีอิ๊วชนิดเข้มข้น ที่บรรดาเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ด ต้มเป็ดพะโล้ขาย หรือเมนูอื่นๆ เลือกใช้ซีอิ๊วของเรามาหลายสิบปี”
เมื่อไข่เค็มซีอิ๊วเริ่มเป็นที่รู้จัก ทั้งในกลุ่มลูกค้าทั่วไปและคนรักสุขภาพ แต่ยอดขายก็ยังไม่ค่อยดีนัก พวกเขาจึงเพิ่มทางเลือกทำเป็นไข่เค็มดิบ และน้ำพริกไข่เค็ม เพื่อให้ผู้บริโภครับประทานได้ง่ายขึ้น ซึ่งในอนาคตจะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีส่วนผสมของไข่เค็ม เพื่อเข้าถึงวิถีชีวิตคนกรุงให้มากที่สุด โดยราคาขายซีอิ๊วชนิดขวดอยู่ที่ 25-30 บาท ขณะที่ไข่เค็มสุก บรรจุ 6 ฟอง ราคา 95 บาท ไข่เค็มดิบบรรจุถุง 4 ฟอง ราคา 65 บาท และน้ำพริกไข่เค็ม ราคากระปุกละ 80 บาท
นอกจากรสชาติและความแปลกของไข่เค็มซีอิ๊วบ้านตลาดน้อยแล้ว เรื่องแพกเกจภายนอกก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งพวกเขาเน้นการออกแบบให้ดูทันสมัย โลโก้สะดุดตา และยังคงความเรียบหรู ให้ผู้พบเห็นเกิดความสงสัยว่าจำหน่ายสินค้าอะไร ไม่ว่าจะเป็น ถุงกระดาษ กล่องใส่ไข่เค็ม 6 ฟอง พร้อมสายรัดชื่อแบรนด์ และล่าสุดเพื่อต้อนรับเทศกาลตรุษจีน ได้มีการปรับแพกเกจเน้นสีแดงเพื่อความเป็นสิริมงคล และให้ผู้คนซื้อไปเป็นของขวัญของฝาก หรือของไหว้เจ้าได้
ปัจจุบันซีอิ๊วดำเค็มและซีอิ๊วดำหวานของโรงซีอิ๊วโชติสกุลรัตน์มีจำหน่ายที่ Foodland, Gourmet Market, Home Fresh Mart และ Villa ส่วนไข่เค็มวางจำหน่ายที่ Gourmet Market (บางสาขา) และร้านสุขภาพต่างๆ เช่น ร้านฟาร์มใส่ใจ กินดี และ Organic supply
***สนใจติดต่อ 08-1647-3822 Line natmanissa และ Facebook.com/kularbsweetsoysauce***
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *