แบรนด์ “เวลบี” (Wel.B) จากบริษัท โจ-ลี่ แฟมิลี่ จำกัด สร้างนวัตกรรมแปรรูปผลไม้ชนิดต่างๆ ผ่านกระบวนการสุดไฮเทค แล้วลัดฟ้าพาผลไม้ไทยไปขายต่างประเทศ ขณะเดียวกันนำผลไม้ต่างประเทศกลับมาขายยังเมืองไทย ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างเอสเอ็มอีที่ใช้นวัตกรรมเป็นหัวหอกผลักดันธุรกิจจนประสบความสำเร็จ
หนุ่มไฟแรงที่บุกเบิกธุรกิจนี้ คือ “ณัฐวุฒิ เผ่าปรีชา” วัย 35 ปี กรรมการผู้จัดการ บริษัท โจ-ลี่ แฟมิลี่ ด้วยวิสัยทัศน์เห็นโอกาสเติบโตของตลาดผลไม้แปรรูป ที่จะเข้ามาเติบเติมความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มรักสุขภาพ
“ผมเริ่มธุรกิจนี้ ตั้งแต่เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว เพราะมองเห็นศักยภาพผลไม้ที่สามารถแปรรูปขายได้ทั่วโลก และยังตรงกระแสรักสุขภาพ โดยอยากแปรรูปนำผลไม้ไทยไปขายเมืองนอก ในขณะเดียวกัน ก็อยากนำผลไม้นอกแปรรูปกลับมาขายคนไทย”
อย่างไรก็ตาม หากจะแปรรูปทั่วไป อย่างทอด หรือกวน เขาบอกว่า ไม่ตรงกับกระแสรักสุขภาพ และไม่สามารถจะขายในราคาสูงได้ เลยพยายามค้นหากระบวนการแปรรูปผลไม้ที่จะเพิ่มมูลค่าสูงที่สุด จนพบเทคโนโลยีทำให้แห้งเยือกแข็งสุญญากาศ หรือ Freeze-dried ซึ่งเวลานั้น นับเป็นนวัตกรรมแปรรูปที่ทันสมัยที่สุด และยังมีผู้ผลิตน้อยราย
ณัฐวุฒิ อธิบายเสริมว่า กระบวนการ Freeze-dried เป็นเทคโนโลยีระดับเดียวกับที่ “องค์กรนาซ่า” ใช้จัดเตรียมอาหารสำหรับนักบินอวกาศ มีจุดเด่น ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาในอุณหภูมิปกติได้นานถึง 1.5 ปี และสามารถคงคุณค่าทางสารอาหาร และรสชาติไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากนั้น ตลอดกระบวนการไม่ต้องใช้น้ำมันเลย จึงเหมาะเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ
สำหรับกระบวนการ Freeze-dried คือ การนำผลไม้สดทำให้แห้งเยือกแข็งสุญญากาศ ดึงน้ำออกจากผลไม้จนแห้งกรอบ โดยปราศจากการใช้น้ำมัน ซึ่งน้ำหนักหลังผ่านกระบวนการแล้วจะเหลือเพียง 1 ใน 10 ของผลสดเท่านั้น
“เมื่อก่อน นวัตกรรม Freeze-dried ในเมืองไทย มีใช้กันน้อยมาก เหตุผลหลักคือ ต้นทุนการผลิตสูงมากๆ ส่วนใหญ่จึงใช้กันแค่ในวงการแพทย์ เช่น สกัดยาเม็ด หรือทำวัคซีน เป็นต้น ซึ่งผมได้พบนวัตกรรมตัวนี้ จากการเข้าไปปรึกษายังหน่วยงานภาครัฐต่างๆ”
เขาเผยด้วยว่า ใช้เงินลงทุนธุรกิจนี้ กว่า 10 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในเครื่องจักร และสร้างโรงงานผลิต การทำตลาดเบื้องต้น รับจ้างผลิตแปรรูปทุเรียนสดให้เป็น “ทุเรียนกรอบ” ส่งไปขายยังประเทศจีน และเนื่องจากชาวจีนนิยมทุเรียนอย่างยิ่งอยู่แล้ว ทำให้ตลาดตอบรับอย่างสูงมาก หลังจากนั้น ต่อยอดด้วยการส่งออกภายใต้แบรนด์ตัวเองควบคู่กันไป ตามด้วยแปรรูปผลไม้ไทยอีกนานาชนิดอย่างมะม่วง สัปปะรด ลำไย มังคุด กล้วย ฯลฯ ส่งไปยังนานาประเทศ เช่น ยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น เป็นต้น
ส่วนตลาดในประเทศ คัดเลือกผลไม้ต่างประเทศ นำมาแปรรูปเพื่อบริการคนไทยบ้าง อย่างสตรอเบอรี่ พีช และแอปเปิ้ล เป็นต้น อาศัยขายผ่านงานแสดงสินค้า ตามด้วยเข้าห้างสรรพสินค้า ร้านของฝาก และร้านสะดวกซื้ออย่าง “เซเว่น อีเลฟเว่น”
ทั้งนี้ วางตำแหน่งสินค้าในกลุ่มขนมกินเล่นหรือสแน็ค (snack)เพื่อสุขภาพ สำหรับลูกค้าระดับบน เน้นสุภาพสตรี ตั้งแต่วัยรุ่น วัยทำงานไปจนถึงผู้สูงอายุ
เนื่องจากนักธุรกิจหนุ่มรายนี้ วางเป้าให้ธุรกิจขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเสมอ ที่ผ่านมา แบรนด์ Wel.B เดินหน้าออกสินค้าใหม่เชิงนวัตกรรมต่อเนื่อง อย่างผลไม้กรอบ Freeze-dried ปัจจุบันแปรรูปผลไม้ไปแล้วมากกว่า 30 ชนิด เช่น สตรอเบอรี่ ทุเรียน สัปปะรด มังคุด ลำไย พีช มะม่วง และอื่นๆ
ตามด้วย ผลนวัตกรรมผลไม้แปรรูปนานาชนิด เช่น เยลลีทำจากผลไม้ 99% คุณประโยชน์เหมือนผลไม้สด ช็อกโกแลตเคลือบผลไม้อบแห้งนานาชนิด เม็ดอมโยเกิร์ตผลไม้ละลายในปาก เหมาะสำหรับเด็กเล็ก ที่อร่อยและคุณประโยชน์สูง เป็นต้น
“จากช่วงแรกที่เราเป็นผู้บุกเบิกผลไม้กรอบในเมืองไทย ทุกวันนี้ มีคู่ผลิตสินค้าใกล้เคียงกันเพิ่มเป็น 30 กว่าราย ดังนั้น จะหยุดพัฒนาไม่ได้เลย ปัจจุบัน เราเป็นผู้ผลิตผลไม้ Freeze-dried ที่หลากหลายมากที่สุด รวมถึง ครอบคลุมตลาดทุกกลุ่ม และมีมาตรฐานสูงสุดขายได้ทั่วโลก นอกจากนั้น ยังผลิตทั้งแบรนด์ตัวเอง และรับจ้างผลิต อีกทั้ง แตกไลน์สู่สินค้าตัวอื่นๆ เช่น เป็นผู้ผลิตเม็ดอมโยเกิร์ตผลไม้รายแรกในเมืองไทย และรายที่ 5 ของโลก” เขา เผย
PM Award , สุดยอดเอสเอ็มอีแห่งชาติ และ 7 Innovation Awards เหล่านี้ เป็นรางวัลเพียงส่วนหนึ่งการันตีความสามารถเชิงสร้างสรรค์นวัตกรรมของเอสเอ็มอีรายนี้ รวมถึง ยังโดดเด่นด้วยผลประกอบการทั้งตลาดในประเทศ และส่งออก ปีละกว่าร้อยล้านบาท
ไม่เท่านั้น การแปรรูปผลไม้ดังกล่าว ยังก่อประโยชน์ต่อเนื่องไปยังกลุ่มเกษตรกร โดยบริษัทฯจะเข้าไปรับซื้อผลไม้สดในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด ปริมาณปีละกว่า 4,000 ตัน ช่วยให้ผู้ปลูกมีรายได้ดีขึ้น และแก้ปัญหา ผลไม้ล้นตลาดในช่วงผลไม้ออกพร้อมกัน นอกจากนั้น ยังเพิ่มมูลค่าสินค้า อย่างเช่นทุเรียน หากขายลูกสดหน้าสวน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 30-40 บาท แต่เมื่อมาแปรรูป Freeze-dried สามารถขายได้ถึงกิโลกรัมละกว่า 1,500 บาท หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 40 เท่าตัว
ณัฐวุฒิ เผยด้วยว่า นอกจากแบรนด์ “เวลบี” ยัง ได้ออกแบรนด์อื่นๆ เพิ่มเติม เช่น Wel.B baby , Fruit bites และ Veggiez เป็นต้น แต่ละแบรนด์จะเจาะจงลูกค้าแต่กลุ่มต่างกันไป ด้านผลประกอบการ ประมาณปีละร้อยล้านบาท มาจากตลาดส่งออก ประมาณ 55% ไปกว่า 30 ประเทศทั่วโลก เช่น จีน สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี และกลุ่มอาเซียน เป็นต้น ส่วนตลาดในประเทศ 45% ขายผ่านซูเปอร์มาร์เกต ห้างสรรพสินค้า ร้านของฝาก และร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น นับเป็นผู้ผลิตสินค้าประเภทสแน็คผลไม้ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดของไทย
เมื่อสอบถามถึงปัญหาธุรกิจ เขาระบุว่า เรื่องยากที่สุด คือ ความผันผวนของราคาวัตถุดิบผลไม้ ซึ่งแต่ละปี ราคาจะขึ้นลงแตกต่างกันสูงมาก ทำให้บริหารต้นทุนยากลำบากอย่างยิ่ง ทางออกจึงจำเป็นต้องเก็บสต็อกวัตถุดิบในช่วงฤดูกาลที่ผลไม้ออกมาพร้อมๆ กันให้มากที่สุด เพื่อจะค่อยๆ ทยอยนำออกมาแปรรูปให้มีสินค้าขายได้ตลอดทั้งปี ซึ่งจำเป็นต้องลงทุนสูง ปีละหลักร้อยล้านบาท ในขณะเดียวกัน ต้องประมาณการยอดที่คาดว่าจะขายได้ให้แม่นยำที่สุด เพราะถ้าเก็บวัตถุดิบมากเกินไป ก็จะกลายเป็นสินค้าค้างสต็อก แต่ถ้าเก็บวัตถุดิบน้อยกว่าความต้องการของตลาด ก็จะเสียโอกาสในการขายสินค้า
ด้วยภาวะที่ปัจจุบัน เศรษฐกิจซบเซาทั้งด้านส่งออก และภายในประเทศ ในฐานะที่เป็นเอสเอ็มอี ณัฐวุฒิ ระบุแนวทางปรับตัว พยายามเปิดตลาดใหม่ๆ เสมอ อย่างช่วง 3-4 ปีหลังที่แล้ว เศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐฯ ซบเซา เลยมุ่งหันไปทำตลาดในจีนมากยิ่งขึ้น ส่วนช่วงนี้ ที่จีนยอดขายลดลง พยายามเปิดตลาดใหม่อย่างอาเซียน หรือออสเตรเลียแทน โดยมีสินค้าหลากหลายเหมาะสมแต่ละตลาด อย่างไปญี่ปุ่น จะเน้นส่งมะม่วง ส่งไปยุโรปเน้นสัปปะรด ส่วนส่งจีนเน้นทุเรียน เป็นต้น
“โลกนี้มันใหญ่มาก มีโอกาสให้เราแสวงหาเสมอ สำหรับเอสเอ็มอีควรเปิดประตูกระจายความเสี่ยงให้มากที่สุด ช่วงเริ่มธุรกิจที่ผมทำทุเรียนอบกรอบ ถ้าผมเน้นแต่ทำทุเรียนอย่างเดียวมาตลอด หากทุเรียนขาดตลาด ผมก็ต้องปิดโรงงานเลย หรือถ้าทำขายตลาดในประเทศอย่างเดียว ช่วงวิกฤตน้ำท่วมปี 2554 ธุรกิจผมก็คงปิดไปแล้ว ดังนั้น สำหรับเอสเอ็มอีควรเปิดประตูโอกาสทางธุรกิจไว้ให้มากที่สุด และบริหารความเสี่ยงตลอดเวลา แม้ว่าช่วงนี้เศรษฐกิจอาจชะลอตัว แต่ถ้าปรับตัวพร้อม ก็ยังผ่านสถานการณ์นี้ไปได้” นักธุรกิจหนุ่ม ทิ้งท้าย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *