สสว.เร่งเสริมศักยภาพศูนย์บริการ OSS รองรับการช่วยเหลือและส่งเสริมเอสเอ็มอีในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จ.ตาก ระบุผู้ประกอบการมีความต้องการขอรับคำปรึกษาทางการเงินสูงสุด รองลงมาด้านการตลาด เล็งเปิดเพิ่มอีก 4 แห่ง
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และประธานกรรมการบริหารธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เผยว่า จากการดำเนินงานศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร (SME One Stop Service Center : OSS) ในโอกาสการเดินทางตรวจเยี่ยมศูนย์ OSS เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา พบว่า จากการที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการส่งเสริม SME และมีมาตรการต่างๆ ออกมาสนับสนุนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการ SME สสว.ได้จัดตั้งศูนย์ให้บริการ SME OSS CENTER ไปแล้วจำนวน 7 แห่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผู้ประกอบการ SME สนใจขอรับบริการจำนวนมาก ทุกช่องทาง ทั้งการขอรับคำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ การขอรับคำปรึกษากับที่ปรึกษาประจำศูนย์ การขอรับคำปรึกษาผ่านบริการโซเชียลมีเดีย รวมมากกว่า 4,700 ราย ในเวลาเพียง 3 เดือนเศษที่เปิดดำเนินการ โดยมีผลการดำเนินการที่น่าพอใจ ดังนี้
ผู้รับบริการผ่านโทรศัพท์ 2,490 ราย ผู้รับบริการผ่านระบบโซเชียลมีเดีย (ออนไลน์) 1,067 ราย ผู้รับบริการคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ณ ศูนย์บริการ 1,187 ราย สามารถส่งต่อผู้รับบริการขอสินเชื่อ Soft Loan ตามนโยบายรัฐบาล 109 ราย 5 อันดับที่ผู้ประกอบการ SME ให้ความสนใจและขอรับบริการสูงที่สุด ได้แก่ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ร้อยละ 31.7 การตลาดภายในและต่างประเทศ ร้อยละ 23.2 การผลิตและมาตรฐาน ร้อยละ 21.5 การบริหารจัดการธุรกิจ ร้อยละ 20.1 และกฎหมายและสิทธิประโยชน์ ร้อยละ 3.8
สำหรับผลการดำเนินงานของศูนย์ SME OSS CENTER เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จังหวัดตาก มีผลการดำเนินงานเกินเป้าหมายตามตัวชี้วัดที่ตั้งไว้ มากกว่าร้อยละ 20 โดยมีผลการดำเนินงานดังนี้ ผู้รับบริการผ่านทุกช่องทางรวม 873 ราย แยกเป็นผ่านระบบโทรศัพท์ 600 ราย ผ่านระบบโซเชียลมีเดีย (ออนไลน์) 173 ราย และขอเข้ารับคำปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ ณ ศูนย์บริการ 103 ราย สามารถส่งต่อผู้รับบริการขอสินเชื่อ Soft Loan ไปแล้ว 10 ราย 5 อันดับที่ผู้ประกอบการ SME ในเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดสนใจขอรับบริการมากที่สุด ได้แก่ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ร้อยละ 29.67 การผลิตและมาตรฐาน ร้อยละ 26.92 การตลาดในและต่างประเทศ ร้อยละ 26.37 การจัดการธุรกิจ ร้อยละ 10.99 และกฎหมาย สิทธิประโยชน์ ร้อยละ 5.49
ผอ.สสว.กล่าวต่อไปอีกว่า จากแนวโน้มการรับบริการที่ผู้ประกอบการ SME ให้ความสนใจรับบริการจากศูนย์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ สสว.พิจารณาพื้นที่ในการจัดตั้ง ศูนย์ให้บริการ SME OSS CENTER เพิ่มเติมอีก 4 แห่ง เพื่อรองรับและให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ประสบภัยแล้ว 3 จังหวัด คือ สุพรรณบุรี อยุธยา และ นนทบุรี และในกรุงเทพมหานคร ณ สำนักงานใหญ่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME สามารถเข้าถึงการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐได้อย่างสะดวกมากขึ้น โดยจะเปิดให้บริการภายในต้นเดือนธันวาคมนี้
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *