สสว. จับมือกรมราชองครักษ์ ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ มุ่งเน้นเสริมสร้างอาชีพ ส่งเสริมการรวมตัวเป็นวิสาหกิจพร้อมสร้างเครือข่าย ยกระดับความเป็นอยู่ของผู้อาศัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และผลักดันให้ก้าวสู่ผู้ประกอบการขนาดจิ๋วที่เข้มแข็ง
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยมพื้นที่ เพื่อเยี่ยมชมผลการดำเนินงานภายใต้โครงการส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ 1. ฟาร์มธารโต จังหวัดยะลา และ 2. ตลาดกลางการเกษตรและห้องเย็น จังหวัดปัตตานี ว่า โครงการดังกล่าว เป็นการบูรณาการการทำงานระหว่างสสว.และกรมราชองค์รักษ์ ซึ่งเป็นโครงการที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง และเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน
ผอ.สสว.กล่าวอีกว่า การดำเนินงานของสสว.ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ได้แก่ เทพ จะนะ นาทวี และสะบ้าย้อย นั้น เป็นหนึ่งตัวอย่างการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ อาทิ กรมราชองค์รักษ์ หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมในพื้นที่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เทศบาลเบตง ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่และวิทยาเขตตรัง
สำหรับวัตถุประสงค์โครงการดังกล่าวคือ มุ่งเน้นการสร้างอาชีพขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ดำเนินงานทุกขั้นตอน รวมทั้งสนับสนุนการรวมกลุ่มกลายเป็นวิสาหกิจชุมชน การสร้างเครือข่ายทั้งในระดับพื้นที่และระดับจังหวัด โดยมีเป้าหมายยกระดับวิสาหกิจชุมนที่มีศักยภาพ เพี่อขยายโอกาสทางการค้า และพัฒนาเป็น OTOP หรือ SME ต่อไป
“ที่ผ่านมา กลุ่มเป้าหมายเราก็คือประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหลังจากที่มีการสร้างงานสร้างอาชีพแล้ว เราได้มีการนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ ให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด รวมถึงนำผลิตภัณฑ์วิสาหกิจเหล่านั้น ไปทดลองตลาดนอกพื้นที่
นางสาลินีกล่าวอีกว่า งบประมาณที่ใช้ในโครงการนี้ ตั้งแต่ปี 2552-2558 นั้น รวมแล้วประมาณ 347.3 ล้านบาท โดยเป็นส่วนที่กรมราชองค์รักษ์รับผิดชอบ รวมจำนวน 316.8 ล้านบาทนั้น สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่ ทั้งเรื่องการฝึกอบรมอาชีพและยกระดับการผลิต มากกว่า 6 หมื่นราย การส่งเสริมการรวมกลุ่ม 246 กลุ่ม การสร้างกลุ่มผู้ผลิตหรือชุมชนผู้ประกอบการใหม่ 6 เครือข่าย รวมถึงจัดทำศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบ หรือศูนย์กระจายสินค้า 76 แห่ง
“การดำเนินงานในช่วง 3 ปีหลังตั้งแต่ปี 2556-2558 เรามีโครงการส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน วงเงินปีละ 60 ล้าน รวม 180 ล้านบาทนั้น เป็นโครงการที่สร้างประโยชน์อย่างมาก ทั้งสร้างผู้ประกอบการใหม่ สร้างเครือข่าย สร้างงาน สร้างอาชีพ เป็นแหล่งเรียนรู้ และแหล่งกระจายสินค้า สามารถช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ในเรื่องการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนได้มาก”
โดยเฉพาะการสร้างตลาดกลางการเกษตรและห้องเย็นที่ปัตตานีนั้น สามารถรองรับสินค้าจากชาวบ้านได้มาก อย่างเครือข่ายการผลิตและแปรรูปทุเรียน ซึ่งสามารถรับเป็นศูนย์กลางการรับซื้อและจำหน่ายได้ถึงวันละ 200 ตัน เท่ากับเป็นการยืดอายุผลผลิตการเกษตรของเกษตรกรในพื้นที่ ทำให้สินค้ามีราคาดี ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น
สำหรับจุดเด่นของแต่ละโครงการ คือ ฟาร์มตัวอย่างที่ธารโต จังหวัดยะลา มีจุดเด่นในเรื่อง การเพาะเห็ด และแปรรูป ฟาร์มตัวอย่างหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ไอร์บือแต ที่นราธิวาส มีจุดเด่นเรื่องเลี้ยงแพะและผลิตนมแพะพาสเจอร์ไรซ์ ตลาดกลางการเกษตรและห้องเย็นที่ปัตตานี เป็นศูนย์กลางการรับซื้อ ขายสินค้าชุมชน
“โครงการเหล่านี้ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น มีความเป็นอยู่ดีขึ้น วิสาหกิจชุมชนก็เข้มแข็งและพร้อมที่จะก้าวไปเป็นโอทอป หรือเอสเอ็มอี ซึ่งความเป็นความตั้งใจของสสว.ที่จะทำให้ชุมชนเหล่านี้มีความเข้มแข็ง และพัฒนาเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศต่อไป ซึ่งในปีนี้ เป็นปีสุดท้ายที่สสว.จะได้รับผิดชอบ จากนั้นจะได้ส่งมอบให้กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นผู้ดำเนินการต่อไป” นางสาลินีกล่าว
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *