xs
xsm
sm
md
lg

ส่องโอกาส สิทธิประโยชน์ และการเชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจพิเศษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เขตเศรษฐกิจพิเศษ จัดตั้งขึ้น เพื่อให้เป็นพื้นที่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย เพื่อประโยชน์ต่อการส่งเสริม สนับสนุน และอำนวยความสะดวก รวมทั้งให้สิทธิพิเศษบางประการในการดำเนินกิจการต่าง ๆ

ในปี 2558 คณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพน.) ได้กำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็น 2 ระยะ มีกลยุทธ์สำคัญ 4 ด้าน คือ
1. สนับสนุนพื้นที่เศรษฐกิจใหม่
2. สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน
3. สนับสนุน SMEs และการลงทุนต่อเนื่อง และ
4. จัดระเบียบพื้นที่เศรษฐกิจชายแดน

สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 1 ประกอบด้วย

1.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตาก ประกอบด้วย
-ตำบลสายลวด ตำบลพระธาตุผาแดง ตำบลแม่กาษา ตำบลแม่กุ ตำบลแม่ดาว ตำบลแม่ปะ ตำบลแม่สอด และตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด
-ตำบลช่องแคบ ตำบลพบพระ และตำบลวาเล่ย์ อำเภอพบพระ
-ตำบลขะเนจื้อ ตำบลแม่จะเรา และตำบลแม่ระมาด อำเภอแม่ระมาด

โอกาสและเชื่อมต่อ
มีด่านแม่สอดเป็นจุดผ่านแดนเชื่อมต่อเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา ซึ่งมีการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเมียวดี สามารถเชื่อมโยงไปยังเมืองย่างกุ้ง อินเดีย และจีนตอนใต้ได้

ธุรกิจเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ผลิตภัณฑ์เซรามิกส์ เครื่องหนัง อัญมณีและเครื่องประดับ ชิ้นส่วนประกอบยานยนตร์ และกิจการด้านโลจิสติกส์

2. เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.มุกดาหาร ประกอบด้วย
-ตำบลคำอาฮวน ตำบลนาสีนวล ตำบลบางทรายใหญ่ ตำบลมุกดาหาร และตำบลศรีบุญเรือง อำเภอเมืองมุกดาหาร
- ตำบลชะโนด ตำบลบางทราบน้อย ตำบลป่งขาม และตำบลหว้านใหญ่ อำเภอหว้านใหญ่
- ตำบลดอนตาล และตำบลโพธิ์ไทร อำเภอดอนตาล

โอกาสและเชื่อมต่อ
มีด่านมุกดาหารเป็นจุดผ่านแดนเชื่อมต่อแขวงสะหวันเขต ประเทศลาว ซึ่งมีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน

ธุรกิจเป้าหมาย ได้แก่ แปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม ยางพาราและผลิตภัณฑ์ บริการฟื้นฟูสุขภาพ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ศูนย์การเปลี่ยนถ่ายสินค้าและยานพาหนะ คลังสินค้า และศูนย์กลางสินค้าเกษตร

3.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.สระแก้ว ประกอบด้วย
-ตำบลท่าข้าม ตำบลบ้านด่าน และตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ
-ตำบลผักขะ อำเภอวัฒนานคร

โอกาสและเชื่อมต่อ
มีด่านอรัญประเทศเป็นจุดผ่านแดนเชื่อมต่อจังหวัดบันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา ซึ่งมีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 แห่ง คือ ปอยเปต-โอเนียง ซันโค-ปอยเปต และบริเวณเมืองศรีโสภณ

ธุรกิจเป้าหมาย ได้แก่ แปรรูปสินค้าเกษตรและอาหาร พลังงานทดแทน สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องเรือน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ศูนย์กระจายสินค้า และกิจการสนับสนุนการท่องเที่ยว

4.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.สงขลา ประกอบด้วย
-ตำบลสะเดา ตำบลสำนักขาม ตำบลสำนักแต้ว และตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา

โอกาสและการเชื่อมต่อ
มีด่านสะเดาและด่านปาดังเบซาร์เป็นจุดผ่านแดน เชื่อมต่อรัฐเคดาห์และรัฐเปอร์ริส ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีการพัฒนาเขตอุตสาหกรรม และระบบถนน-ระบบรางเชื่อมโยงชานแดนไทย

ธุรกิจเป้าหมาย ได้แก่ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ เครื่องเรือน ชิ้นส่วนยานยนต์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม แปรรูปอาหารทะเล และอาหารฮาลาล

5.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตราด ประกอบด้วย
-ตำบลคลองใหญ่ ตำบลไม้รูด และตำบลหาดเหล็ก อำเภอคลองใหญ่

โอกาสและการเชื่อมต่อ
มีด่านบ้านหาดเล็กเป็นจุดผ่านแดนเชื่อมจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา ซึ่งมีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกง

ธุรกิจเป้าหมาย ได้แก่ กิจการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ บริการพื้นฟูสุขภาพ การเดินเรือท่องเที่ยว การค้าชายแดนปลอดภาษี คลังสินค้า การขนส่งทางบก ทางทะเล ทางอากาศ ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและยานพาหนะ คลังสินค้า ห้องเย็น และแปรรูปสินค้าเกษตร อาหาร ประมง

การสนับสนุนการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษจากภาครัฐของไทย ในรูปแบบสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนและการเงิน แบ่งได้ 2 กรณี คือ

(1) สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรณีเป็นกิจการเป้าหมายและตั้งในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี โดยไม่เกินร้อยละ 100 ของเงินลงทุน ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน ลดหย่อนกำไรสุทธิที่ได้จากการลงทุนในอัตราร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี นับจากวันสิ้นสุดการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล หักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า ค่าประปา 2 เท่าของค่าใช้จ่ายดังกล่าว เป็นเวลา 30 ปี หักเงินลงทุนในการติดตั้งหรือก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกร้อยละ 25 ของเงินลงทุนนอกเหนือจากค่าเสื่อมราคา ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักรและวัตถุดิบ/วัสดุจำเป็นสำหรับการผลิตเพื่อส่งออก 5 ปี รวมถึงอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือในโครงการที่ได้รับการส่งเสริมตามแนวทางที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกำหนด

(2) สิทธิประโยชน์กรณีกิจการไม่ได้รับการส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้แก่ การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 10 เป็นเวลา 10 รอบระยะเวลาบัญชี และการผ่อนปรนดอกเบี้ยเงินกู้ รายละ 1-20 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากกรมศุลกากรกรณีตั้งเขตปลอดอากรและคลังสินค้าทัณฑ์บนอีกด้วย

ส่วนการดำเนินการในระยะต่อไปคือ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 ซึ่งครอบคลุม 5 จังหวัด ประกอบด้วย กาญจนบุรี เชียงราย หนองคาย นครพนม และนราธิวาส ถือเป็นการขยายการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านต่อไป โดยเริ่มการพัฒนาตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไปโดยให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ศึกษาและเก็บข้อมูล ในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ(กนพ.)

ทั้งนี้ ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 2 ที่ จ.หนองคาย เชียงราย กาญจนบุรี และนครพนม จะได้รับสิทธิประโยชน์ระดับสูง โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะพิจารณาออกประกาศต่อไป ส่วน จ.นราธิวาส ได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด ภายใต้เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้


ขอบคุณข้อมูล รวบรวมจาก : ส่วนอาเซียน สำนักการประชาสัมพันธ์ต่างประเทศ กรมประชาสัมพันธ์ และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น