งาน Southern International Trade Expo จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประสบความสำเร็จอย่างสูง สานความสัมพันธ์ทางการค้าอย่างเป็นรูปธรรมระหว่างสุราษฎร์ธานีกับเมืองสุราต รัฐคุชราต ประเทศอินเดีย ดันเศรษฐกิจ 14 จังหวัดภาคใต้คึกคัก เจรจาการค้ายางพาราจับคู่ธุรกิจ มียอดสั่งน้ำยางและผลิตภัณฑ์ยางซื้อตลอดปี มูลค่ากว่า 71,324 ล้านบาท นับเป็นโอกาสทองตลาดยางไทย
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ ต้องการผลักดันการส่งออกไปยังประเทศอินเดียนั้น ล่าสุดจากการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับเอกชนเพื่อสานความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างอินเดีย-ไทย การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดงาน “เซาเทิร์น อินเตอร์เนชั่นแนล เทรด เอ็กซ์โป” (Southern International Trade Expo) ระหว่างวันที่ 23-26 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดียิ่ง
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการค้าฯ ได้สรุปผลการจัดงานแสดงสินค้าเพื่อการส่งออก ณ ห้างเซ็นทรัล พลาซา มีสินค้าจากประเทศไทย ประกอบด้วย สินค้าอาหาร สุขภาพและความงาม ฮาลาล วัสดุก่อสร้าง และสินค้าจากอินเดียรวม 180 คูหา มีผู้ซื้อ/ผู้นำเข้า 342 รายจากประเทศในอาเซียน จีน เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย อิหร่าน เป็นต้น เดินทางมาชมงานและเจรจาธุรกิจ มีมูลค่าซื้อขายทันทีระหว่างงานประมาณ 5 ล้านบาท และคาดว่าจะมีการซื้อขายภายใน 1 ปีประมาณ 134 ล้านบาท
สำหรับยอดสั่งซื้อตลอดปีทั้งน้ำยางข้น ยางแท่ง ผลิตภัณฑ์จากยางพารา มีมูลค่ารวมกว่า 71,324 ล้านบาท แบ่งเป็น กิจกรรมการจับคู่ธุรกิจ มีคำสั่งซื้อสินค้ายางและผลิตภัณฑ์รวมมูลค่า 33,738 ล้านบาท (970 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) มีผู้ผลิต/ผู้ส่งออกไทย 93 ราย และสถาบันเกษตรกร/สหกรณ์ชุมชน 16 แห่ง จับคู่ธุรกิจกับผู้นำเข้า 58 บริษัท จาก 17 ประเทศ แบ่งเป็นกลุ่มยางพารา (ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น) มีปริมาณการสั่งซื้อรวม 585,450 ตัน (การเซ็นเอ็มโอยู 18 ฉบับ ) คิดเป็นมูลค่ากว่า 32,715 ล้านบาท (940 ล้านเหรียญ โดยส่วนใหญ่เป็นการสั่งซื้อจากคู่ค้ารายเดิม และในจำนวนนี้สั่งซื้อจากสถาบันเกษตรกรฯ 25,000 ตัน มูลค่า 1,253 ล้านบาท ที่สำคัญเป็นการสั่งซื้อจากคู่ค้ารายใหม่ 17 ราย ปริมาณการสั่งซื้อ 67,890 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3,848 ล้านบาท
ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง (อะไหล่ยานยนต์ ถุงมือยาง ถุงมือแพทย์ ล้อยาง) มูลค่าการสั่งซื้อรวม 1,023 ล้านบาท (30 ล้านเหรียญ) จากทั้งหมด 12 ราย เช่น สหรัฐฯ รัสเซีย เบลารุส อังกฤษ ญี่ปุ่น อิหร่าน บราซิล ผลสำเร็จครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งรัฐคุชราตใต้ อินเดีย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม และศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน)
ด้านนายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)เปิดเผยว่า ภายหลังจากการเข้าร่วมงานจับคู่ธุรกิจเจรจาทางการค้า The International Rubber Business Matching กับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง 30 สถาบัน 3 เครือข่ายทั่วประเทศ ภายในงานแสดงสินค้า Southern International Trade Expo 2015 ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และการยางแห่งประเทศจัดขึ้นร่วมกันเป็นครั้งแรกนั้น เป็นการเจรจาธุรกิจกับบริษัทผู้ซื้อยางพาราและผลิตภัณฑ์ 15 บริษัท จาก 8 ประเทศทั่วโลก ซึ่งแจ้งความจำนงซื้อยางพารากว่า 500,000 ตัน
สำหรับการเจรจาครั้งนี้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ มีการตกลงซื้อ-ขาย ทั้งน้ำยางข้น ยางแผ่นรมควัน ยางคอมพาวนด์ และยางก้อน STR 20 ผู้ซื้อจากหลายประเทศให้ความสนใจ โดยเฉพาะประเทศจีนมีการตกลงทำเอ็มโอยูไม่ต่ำกว่า 15,000 ตัน/ปี และมีการเซ็นสัญญาซื้อขายยางแผ่นรมควัน ชั้น 3 และยางแท่ง STR20 กับบริษัท แกรนด์เยีย 10,000 ตัน/ปี
นอกจากนี้ ประเทศอินเดียและประเทศทางแถบยุโรปให้ความสนใจผลิตภัณฑ์ยางพารา ซึ่งรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 150,000 ตัน/ปี นับเป็นการเปิดโอกาสให้นักธุรกิจค้ายางพาราในประเทศสามารถขยายช่องทางการค้าได้มากขึ้น