เรื่องราวย้อนยุค ไม่ได้หยุดอยู่แค่ สิ่งของที่เราเห็นเท่านั้น อาหารเองก็มีเรื่องราวย้อนยุคที่หลายคนก็โหยหาเช่นกัน บางอย่างก็ไม่มีใครสืบทอดและถูกลืมกันไป และหลายอย่างที่ยังคงอยู่ แต่การอยู่ของอาหารอาจจะถูกปรับเปลี่ยนรูปร่างหน้าตา หรือรสชาติ ออกไปบ้าง
สำหรับขนมครกใบเตย “ซุ่นฮวด” เจ้าของสองสามีภรรยา “นิวัติ สาลีผล” และ “อัจฉรา สาลีผล” บอกกับเราว่า สูตรขนมครกใบเตยนี้ตกทอดมาจากรุ่นญาติ ขายย่านถนนเจริญกรุง กว่า 60 ปี ทุกอย่าง เราไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะเดิมขายดีอยู่แล้ว พอตกมาถึงอีกรุ่นอยากที่จะอนุรักษ์ขนมโบราณในแบบดั้งเดิมอย่างนี้เอาไว้ ซึ่งปัจจุบันญาติที่ขายมากว่า 50 ปี บนถนนเจริญกรุง ด้านหน้าห้างโรบินสัน บางรักก็ยังคงขายอยู่
พอได้รู้จักขนมครกใบเตยซุ่นฮวดกันไปในเบื้องต้นกันแล้ว ครั้งนี้เรามาทำความรู้จักร้านนี้กันแบบเจาะลึกกันบ้าง ถ้าใครที่ชื่นชอบการเดินชอปปิ้งตลาดเก่าโบราณสไตล์วินเทจคงจะพอได้รู้จักร้านขนมครกใบเตยซุ่นฮวดกันบ้าง เพราะเปิดขายอยู่ 2 แห่ง ที่ "เดอะวอล์ค เกษตรนวมินทร์" และชุมทางสยามยิปซี บางซ่อน ซึ่งทั้งสองแห่งเป็นตลาดนัดสไตล์เรโทร
และด้วยความที่ฝ่ายสามี “นิวัติ” ชื่นชอบและหลงเสน่ห์ของเก่าโบราณเป็นอย่างมาก ที่บ้านจะเต็มไปด้วยของสะสมมากมาย และเพื่อไม่ให้ของเหล่านี้เป็นเพียงของสะสม เมื่อมีโอกาสจะนำมาโชว์ก็เลยเลือกจัดร้านในรูปแบบวินเทจ ที่เชื่อว่าหลายคนที่ได้เห็นจะต้องเหลียวหลัง เพราะของที่นำมาแต่งร้านแต่ละชิ้นอายุไม่ต่ำกว่า 50 ปี แม้แต่เก้าอี้ให้นั่งรอ ชมการถ่ายทำ ขนมจนจบกระบวนการผลิต พร้อมกับชมของแต่งร้านที่หาดูได้ยาก จนบางครั้งอยากจะได้มาไว้เป็นเจ้าของบ้าง แต่เจ้าของบอกว่าขายแต่ขนม
การแต่งร้าน ช่วยส่งให้บรรยากาศ การขายขนมครกใบเตย ขนมโบราณที่อายุกว่า 60 ปีดูมีมนต์ขลัง และกลิ่นหอมจากการที่ทำใหม่ สด ยิ่งเรียกลูกค้าให้ต้องมาลิ้มลอง แม้ว่าต้องรอคิวนานเป็นชั่วโมงก็ตาม เพราะร้านนี้ได้ถูกจัดอันดับว่าเป็นอีกร้านที่มีการจัดทำตามคิว และมีคิวให้รอมากที่สุด ในตลาดทั้ง 2 แห่ง (เดอะวอล์ค นวมินทร์ และสยามยิปซี)
อัจฉราเล่าให้ฟังถึงคิวที่ลูกค้าต้องรอว่า ด้วยความที่เราต้องการที่จะให้ลูกค้าได้ขนมที่สดใหม่ และกินแบบร้อน เราจึงเลือกที่จะไม่ทำทิ้งไว้ ลูกค้ามาถึงก็จะจดคิวใส่สมุดที่เราเตรียมไว้ และนั่งรอ โดยเรามีเก้าอี้ไว้ให้ลูกค้านั่งรอ ในแต่ละวันจะมีคิวที่มากถึงหลักร้อย ลูกค้าที่รอนานที่สุด จะต้องรอกันเป็นชั่วโมง (ทุกคนเต็มใจรอ) บางครั้ง เขาอาจจะไปเดินเล่นก่อน พอใกล้จะได้คิวแล้วค่อยมา แต่ถ้าเป็นการรอปกติก็จะรอประมาณ 15-20 นาที เพราะขั้นตอนการทำขนมนั้นไม่ได้ช้า แต่ด้วยคิวที่มาสั่งกันหลายคนทำให้คิวที่รอนาน
ถ้าคิวที่รอขนาดนี้ ในแต่ละวันหลายคนก็คงอยากจะรู้ว่าเขามีรายได้เท่าไร ขอบอกว่าไม่ได้มากอะไร เคยมากสุดถึงคืนละเกือบ 10,000 บาท แต่ถ้าปกติแบบขายดีบ้างไม่ดีบ้าง ก็คืนละ 6,000 บาท รายได้ก็คำนวณกันเอาเอง อาทิตย์หนึ่งขาย 5 วัน (กำไรไม่ต่ำกว่า 50%) ราคาขายกล่องละ 40 บาท และ 50 บาท ราคาชิ้นละ 1 บาท
นิวัติเล่าว่า กว่าจะมาขายดีวันนี้ก็มีจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราท้อเหมือนกัน เพราะช่วงเริ่มต้นครั้งแรกผมเริ่มขายที่ตลาดนัดรถไฟ สวนจตุจักร ตอนนั้นขี่จักรยานโบราณคันโปรด มาขอแบ่งพื้นที่เขาขาย คนก็ยังไม่ค่อยรู้จักขนมแบบนี้เท่าไร ซึ่งขายได้แค่วันละ 300 บาท แต่คิดแค่ว่าเป็นรายได้เสริมจากงานประจำที่ทำอยู่ และพอทำไปสักระยะก็เริ่มดีขึ้น ตัดสินใจมีหน้าร้าน แต่การมีหน้าร้านกลับทำให้เราขายไม่ดีเท่าไรนัก เพราะคนมองไม่เห็นขั้นตอนการทำ เพราะมีของมาแต่งร้านเยอะเกินไป ตอนนั้นขายได้เพียงคืนละประมาณ 1,000 บาท ถึง 1,200 บาท แต่วันหนึ่งก็อยากจะปรับใหม่ หันมาตั้งโต๊ะทำหน้าร้าน ปรากฏว่า คนที่ผ่านไปผ่านมาได้กลิ่นหอมของขนม และเห็นการทำแบบสดของเรา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็ขายดี และต้องจดคิวกันเลย ก็เลยเลิกทำร้านหันมาใช้รถกบโบราณ ขับมาขายเหมือนเปิดท้ายขายของ
“รายได้เป็นส่วนหนึ่งที่ผมพอใจ แต่สิ่งที่ผมต้องการคือ การอนุรักษ์ การทำขนมครกใบเตยแบบโบราณที่เป็นสูตรของครอบครัวเราทำมาตั้งแต่กว่า 60 ปี และผมได้สืบทอดการทำขนมแบบนี้ต่อ โดยที่ไม่ได้มีการไปเปลี่ยนแปลงอะไร แม้แต่เตาที่ผมใช้ก็เลือกใช้เตาหลุมเล็ก ขนมของเราจึงออกเป็นชิ้นเล็ก จิ๋ว ซึ่งถือว่าเป็นต้นตำรับในการทำขนมครกใบเตยแบบจิ๋ว” นิวัติกล่าวในที่สุด
นอกจากนี้ ขนมครกใบเตยของร้านนี้ไม่เหมือนใคร เพราะใช้การสาดแป้ง แทนการหยอดแบบประณีต ตรงนี้เขามีจุดประสงค์ เพราะด้วยความเร่งรีบ มีคนมารอนาน จะมาพิถีพิถันก็ไม่ได้ แต่สิ่งที่ได้เขาได้แป้งที่ไม่ลงเตาหลุม เวลาตักขึ้นมาก็จะเป็นยวง เวลากินแป้งตรงที่ไม่อยู่ในหลุมเตาก็จะกรอบ ได้รสชาติการกินขนมครกใบเตย หรือขนมครกสิงคโปร์ อีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน
อัจฉราเล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้าที่จะมาขายขนมอย่างนี้ เธอเคยมีรายได้เกือบ 40,000บาทต่อเดือน จากการเป็นพนักงานบริษัท แต่ทันทีที่เธอหันหลังให้การทำงานประจำ เพราะด้วยเหตุผลหลายประการ เธอต้องมีภาระ การเลี้ยงลูกอีก 2 คน ส่วนสามีทำงานประจำเช่นกัน ก็ยอมทิ้งรายได้ตรงนั้น หันมาทำอาชีพส่วนตัว ซึ่งไม่ได้มั่นใจเลยว่า การขายขนมตรงนี้จะมีรายได้มากพอเท่ากับการทำงานประจำหรือไม่ แต่ก็มีความเชื่อว่าถ้าเราตั้งใจ และขยันน่าจะทำมันได้ สุดท้ายทุกวันนี้สามีที่เขาเบื่อการทำงานที่ต้องแข่งกับเวลา จนไม่มีเวลาไปทำในสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบ ส่วนตัวเองเคยทุ่มกับการทำงานประจำจนไม่มีเวลาดูแลลูก ตอนนี้พอมาทำตรงนี้เรามีเวลาดูแลลูกมากขึ้น มีเวลาพูดคุยกับสามีมากขึ้น ในขณะที่รายได้ไม่ได้ลดลงไปจากการทำงานประจำ บางครั้งอาจจะมากกว่า หรือน้อยกว่าในอนาคต แต่ถ้าเรารู้จักเก็บรู้จักที่จะบริหารเงินที่ได้มาเราก็จะอยู่ตรงนี้อย่างมีความสุข
โทร. 08-9670-9693 หรือ www.facebook.com/ซุ่นฮวด- ขนมครกใบเตย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *