“เอสเอ็มอีแบงก์” จับมือ “บสย.” ประกาศเดินหน้าโครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ Policy Loan วงเงิน 15,000 ล้านบาท อุ้มเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน ต่อสายป่านธุรกิจเดินหน้า เผยยอดยืนแล้ว 1,217 ราย รวมเป็นวงเงิน 6,185 ล้านบาท
นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า วันนี้ (20 ก.ค. 2558) บสย.ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ Policy Loan ระหว่าง บสย. กับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) โดยนางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ และนายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม รวมถึง นายญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ ประธาน บสย. ร่วมในพิธี
สำหรับโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ Policy Loan เป็นโครงการเพื่อตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2558 ในการช่วยเหลือลดภาระทางการเงินของ SMEs ขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยให้กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 4% และให้ บสย.เข้าค้ำประกันเพื่อลดความเสี่ยงของธนาคารผู้ปล่อยกู้ รวมถึงเพื่อเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ที่จะส่งออก หรือไปลงทุนในต่างประเทศอีกด้วย สินเชื่อ Policy Loan มีวงเงินรวม 15,000 ล้านบาท การค้ำประกันของ บสย.เป็นลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme มีเพดาน
ในส่วนการค้ำประกันสูงสุด 18% ของยอดเงินให้สินเชื่อ ทั้งนี้ คณะกรรมการเอสเอ็มอีแบงก์ได้กำหนดหลักเกณฑ์สินเชื่อ Policy Loan ดังนี้
1. กรณีวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท ลูกหนี้เป็น SMEs ขนาดเล็ก มักไม่มีหลักประกัน จึงให้ บสย.ค้ำประกันทั้งจำนวน 2. กรณีวงเงินกู้มากกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท ถ้าผ่านการคัดกรองจากหน่วยงานพันธมิตรที่เซ็น MOU กับเอสเอ็มอีแบงก์ ทาง บสย.จะค้ำประกันให้ทั้งหมด แต่ถ้ากรณีที่ไม่ผ่านการคัดกรองจากหน่วยงานพันธมิตร ให้ใช้ส่วนผสมโดยใช้หลักประกันตามเกณฑ์ปกติของธนาคาร 40% และ บสย.ค้ำประกัน 60% ของยอดสินเชื่อ 3. กรณีวงเงินมากกว่า 5 ล้านบาท ให้ใช้หลักประกันตามเกณฑ์ของธนาคาร
ทั้งนี้ โครงการ Policy Loan สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ปีที่ 1-3 อัตราดอกเบี้ยเพียง 4% สำหรับวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาทแรก และปีที่ 4-5 วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี และถ้าวงเงินเกินกว่า 5 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยตามเกณฑ์ของธนาคาร โดยมีระยะเวลาการกู้สูงสุดไม่เกิน 5 ปี และปลอดชำระหนี้เงินต้นสูงสุดไม่เกิน 6 เดือน
นอกจากนี้ บสย.จะยกเว้นค่าธรรมเนียมให้ผู้กู้ในปีแรก ส่วนปีที่ 2-3 เก็บค่าธรรมเนียม 1% ของวงเงินค้ำประกัน จากอัตราปกติที่เรียกเก็บ 1.75% โดยกระทรวงการคลังจะชดเชยส่วนที่ขาดให้ บสย. และในปีที่ 4-5 จะต้องให้ SMEs จ่ายค่าธรรมเนียมให้ บสย.ตามปกติ คือ 1.75% ของวงเงินที่ค้ำประกัน
ด้านนางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า ยอดนับถึงวันที่ 15 ก.ค. 2558 ปรากฏว่ามีผู้ประกอบการเอสเอ็มอียื่นขอสินเชื่อในโครงการดังกล่าวแล้วจำนวน 1,217 ราย รวมเป็นวงเงิน 6,185 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการขอกู้โดยผู้ประกอบการที่ถูกผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ 3,897ล้านบาท (867 ราย) ส่วนที่เหลือเป็นเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่ประสงค์ค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน คาดว่าเงินจะถึงมือกลางเดือนสิงหาคม รายละ 4.5 ล้านบาท ใช้เกณฑ์พิจารณา 7-10 วัน