บสย.ดึง 22 ธนาคารพันธมิตรร่วมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปล่อยสินเชื่อผู้ประกอบการ SMEs เปิดโครงการ “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านกลไกการค้ำประกันของ บสย.” นำร่อง “โคราช” ประตูสู่ SMEs ภาคอีสาน ดันยอดค้ำ 80,000 ล้านบาท
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ตลอดไตรมาส 2 และ 3 บสย.กำหนดแผนงานกระตุ้นเศรษฐกิจ และแผนงานการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่กำลังประสบปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุน โดยใช้ชื่อโครงการ “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลไกการค้ำประกันของ บสย.” เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารต่างๆ ถึงระดับเจ้าหน้าที่อนุมัติสินเชื่อ SMEs ร่วมกันกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้การสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการ SMEs และมี บสย.ทำหน้าที่ค้ำประกันสินเชื่อ
โครงการนี้ บสย.ได้เชิญผู้บริหารธนาคารระดับสูงและในระดับเจ้าหน้าที่อนุมัติสินเชื่อ SMEs จาก 22 ธนาคารพันธมิตรเข้าร่วมเสวนา รับฟัง ชี้แจง ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจด้านการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. กำหนดพื้นที่เป้าหมาย 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา กรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา และสุราษฎร์ธานี นำร่องพื้นที่แรกที่นครราชสีมา ซึ่งเป็นพื้นที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี และเป็นเมืองหน้าด่านประตูสู่ผู้ประกอบการ SMEs ในภาคอีสาน ส่วนครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ วันที่ 17 มิ.ย. 2558 ครั้งที่ 3 พระนครศรีอยุธยา วันที่ 15 ก.ค. 2558 และครั้งที่ 4 สุราษฎร์ธานี วันที่ 19 ส.ค. 2558
นายเกรียงไกรกล่าวว่า ปี 2557 ตัวเลขสินเชื่อ SMEs ในระบบอยู่ที่ 4.379 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ประมาณ 100,000 ล้านบาท ซึ่งยังเป็นตัวเลขที่น้อย ดังนั้น บสย.จึงต้องทำงานร่วมกับธนาคารเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะ ปัญหาอุปสรรคในการทำงานร่วมกัน ตลอดจนแนวทางการแก้ไขและพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันจากสถาบันการเงินในพื้นที่ต่างๆ ทุกภูมิภาค ซึ่งการจัดกิจกรรมปีนี้จะช่วยผลักดันให้การค้ำประกันสินเชื่อของ บสย.เป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งจำนวนราย จำนวนเงิน รวมถึงจำนวนลูกค้ารายใหม่ ซึ่งเป็นการกระจายการค้ำประกันช่วยให้กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยได้รับการช่วยเหลือด้านการเงินอย่างทั่วถึงผ่านสถาบันการเงินต่างๆ
“มั่นใจว่าจะเป็นกิจกรรมที่ผู้บริหารธนาคารทั้งจากส่วนกลาง ผู้บริหารในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่สินเชื่อของสาขาให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการทั้ง 4 จังหวัด กว่า 800 คน โดยภายในงาน บสย.จะเปิดคลินิกให้คำปรึกษาแก่เจ้าหน้าที่สินเชื่อด้วย และคาดว่าโครงการนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อผ่านการค้ำประกันของ บสย.ได้มากขึ้น โดยปี 2558 บสย.ตั้งเป้ายอดค้ำประกันสินเชื่อ 80,000 ล้านบาท มีผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อ 27,000 ราย และก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบ 120,000 ล้านบาท” นายเกรียงไกรกล่าว
ด้านนางปิยะธิดา ตั้งวิไลเสถียร ผู้จัดการสาขา บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม สำนักงานสาขานครราชสีมา ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง ประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ และมหาสารคาม เปิดเผยว่า นอกเหนือจากการจัดกิจกรรมร่วมกับพันธมิตรธนาคารในพื้นที่แล้ว ในส่วนของกิจการสาขานครราชสีมายังได้เตรียมจัดงานใหญ่ ในวันที่ 18 มิถุนายน 2558 บสย.ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) จัดงาน “มหกรรมเข้าถึงแหล่งเงินทุน จ.นครราชสีมา” ณ โรงแรมดุสิตปริ๊นเซส โคราช ภายในงานประกอบด้วย ข้อมูลภาพรวมเศรษฐกิจของโคราช ทั้งในปัจจุบันและวิเคราะห์แนวโน้มในอนาคต โดย ธปท. และมีการเสวนา เรื่อง “กู้ได้ กู้ง่าย กู้ถูก” เพื่อส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยสำรองที่นั่งได้ที่ บสย.สำนักงานสาขานครราชสีมา โทร. 0-4426-2104 หรือ E-Mail : korat@tcg.or.th
สำหรับผลการดำเนินงานสาขานครราชสีมา ระหว่าง 1 ม.ค.-15 พ.ค. 2558 สามารถช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนได้ รวม 1,120 ราย วงเงินค้ำประกัน 1,502.96 ล้านบาท โดยจังหวัดนครราชสีมาได้รับการอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อสูงสุด คือ 489 ราย วงเงินค้ำประกัน 593 ล้านบาท อันดับ 2 จังหวัดชัยภูมิ จำนวน 173 ราย วงเงินค้ำประกัน 336 ล้านบาท อันดับ 3 จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 149 ราย วงเงินค้ำประกัน 252 ล้านบาท อันดับ 4 จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 162 ราย วงเงินค้ำประกัน 180 ล้านบาท และอันดับ 5 จังหวัดสุรินทร์ จำนวน 147 ราย วงเงินค้ำประกัน 142 ล้านบาท โดยประเภทธุรกิจที่ บสย.ให้การค้ำประกันสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่
1. กลุ่มการบริการ (รับเหมาก่อสร้าง ขนส่งสินค้า ห้องพักให้เช่าและรีสอร์ต ร้านขายอาหารและเครื่องดื่ม) วงเงินค้ำประกัน 255 ล้านบาท
2. กลุ่มการผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ (จำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง รับซื้อของเก่า จำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ด จำหน่ายโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์) วงเงินค้ำประกัน 227 ล้านบาท
3. สินค้าอุปโภคบริโภค วงเงินค้ำประกัน 208 ล้านบาท
4. กลุ่มเกษตรกรรม (จำหน่ายพืชผล-สินค้าทางการเกษตร) วงเงิน 192 ล้านบาท
5. กลุ่มเคมีภัณฑ์และเวชภัณฑ์ (จำหน่ายปุ๋ยและเคมีภัณฑ์ทางการเกษตร) วงเงินค้ำประกัน 134 ล้านบาท
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *