ส.แฟรนไชส์ไทยเผยเทรนด์คนรุ่นใหม่อายุ 20-30 ปี นิยมมีธุรกิจของตัวเองมากกว่าเป็นลูกจ้าง หนุนให้แฟรนไชส์โตสวนสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว เผยทิศทางธุรกิจแฟรนไชส์เติบโตเฉลี่ย 15% ต่อเนื่อง
นางสาวสมจิตร ลิขิตสถาพร นายกสมาคมแฟรนไชส์ไทย เปิดเผยว่า เดิมคนที่ลงทุนแฟรนไชส์มักจะมีอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ในช่วง 4-5 ปีหลังที่ผ่านมากระแสผู้ลงทุนแฟรนไชส์เปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่อายุ 20-30 ปีนิยมหันมาลงทุนทำธุรกิจแฟรนไชส์มากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันเจ้าของแฟรนไชส์ที่มีระดับอายุต่ำกว่า 40 ปีมีสัดส่วนเกินกว่า 50% สาเหตุเนื่องมาจากแนวคิดคนรุ่นใหม่ไม่ต้องการเป็นลูกจ้างใคร ควบคู่กับมีความต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจตั้งแต่อายุยังน้อย
ทั้งนี้ แม้ในภาพรวมเศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่สำหรับแฟรนไชส์กลับโตต่อเนื่อง สาเหตุมาจากเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี เกิดการเลิกจ้างงาน หรือบริษัทต่างๆ รับพนักงานใหม่น้อยลง ทำให้คนเหล่านี้ต้องหันมาทำธุรกิจของตัวเอง ซึ่งการลงทุนแฟรนไชส์เป็นการทำธุรกิจที่ง่ายและความเสี่ยงต่ำกว่าลงทุนทำด้วยตัวเอง จึงเป็นที่นิยมของคนหาอาชีพ โดยค่าเฉลี่ยความเสี่ยงทำแฟรนไชส์แล้วล้มเหลวอยู่ที่ประมาณ 10-20% ขณะที่ทำธุรกิจเองความเสี่ยงล้มเหลวอยู่ที่ 20-30%
จากการเก็บข้อมูลของสมาคมแฟรนไชส์ไทยพบว่า แฟรนไชส์มีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 15% หรือคิดเป็นมีแบรนด์เปิดใหม่วันละ 20-30 แบรนด์ต่อปี โดยปัจจุบันแฟรนไชส์ในประเทศไทยมีประมาณ 407 ธุรกิจ และมีร้านสาขาในระบบแฟรนไชส์ประมาณ 90,000-100,000 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 13,000-15,000 แห่ง หรือเฉลี่ยมีร้านแฟรนไชส์เปิดใหม่ 35-40 จุดทุกวัน
อย่างไรก็ตาม ข้อแนะนำสำหรับโอกาสทางธุรกิจแฟรนไชส์นั้น โอกาสของธุรกิจอาหารไทยระดับกลางแบบมีที่นั่งยังมีโอกาสอีกมาก ส่วนผู้ซื้อแฟรนไชส์ต้องสำรวจร้านที่เปิดอยู่ก่อนตัดสินใจ พร้อมหาข้อมูลก่อนตัดสินใจจากหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนต่างๆ เช่น สถาบันการเงิน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมการค้าระหว่างประเทศ และสมาคมแฟรนไชส์ไทย เป็นต้น
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *