xs
xsm
sm
md
lg

“เอสเอ็มอีแบงก์” พร้อมปล่อยกู้ดอกต่ำ เล็งหารือ บสย.อุ้มรายติดเครดิตบูโรได้รับสิทธิ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์)
ปธ.เอสเอ็มอีแบงก์เผยพร้อมเดินหน้าปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ 4% ตามมติ ครม. คาดเริ่มอนุมัติได้ภายในเดือน เม.ย.นี้ ชี้เร่งหาแนวทางช่วยรายติดบัญชีดำเข้าถึงเงินกู้ให้ได้ เล็งหารือ บสย.ปรับลดเกณฑ์ค้ำประกัน พร้อมแถลงผลการดำเนินงาน 2 เดือนแรกฟันกำไร 244 ล้านบาท ลดหนี้เน่าแล้ว 4,268 ล้านบาท มั่นใจสิ้นปียอดสินเชื่อรวมตามเป้า 40,000 ล้านบาท

นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า จากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติมาตรการช่วยเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2558 โดยให้ธนาคารมีส่วนร่วม ดังนี้ การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 15,000 ล้านบาท ซึ่งจะคิดดอกเบี้ยจาก SMEs ในอัตรา 4% ต่อปี และอยู่ระหว่างขอให้กระทรวงการคลังชดเชยให้เอสเอ็มอีแบงก์ 3% ซึ่งจะช่วยลดภาระให้แก่ SMEs ในช่วงเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว และที่สำคัญไม่ตัดโอกาส SMEs ที่มีประวัติค้างชำระในเครดิตบูโรที่มีความสุจริตใจให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจใหม่ได้อีกครั้ง ซึ่งอยากให้สินเชื่อดังกล่าวเริ่มปล่อยกู้แก่ SMEs ได้เร็วที่สุดเพื่อช่วยเหลือในยามลำบาก คาดจะไม่เกินในเดือน เม.ย.นี้

สำหรับกลุ่ม SMEs เป้าหมายของการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ได้แก่ 1. ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ 2. SMEs ในระยะเริ่มแรกที่มีนวัตกรรม 3. SMEs ขนาดเล็กที่มีศักยภาพ สามารถจะเติบโตเป็นขนาดกลางได้ ซึ่งกลุ่มนี้จะมีการขยายวงเงินปล่อยกู้จากสูงสุดไม่เกิน 15 ล้านบาทเป็นสูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท และ 4. SMEs ที่ประสงค์จะค้าขายหรือลงทุนในกลุ่มประเทศ AEC และจีนตอนใต้

ทั้งนี้ วงเงิน 15,000 ล้านบาทดังกล่าวทางบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะช่วยทำหน้าที่ค้ำประกันให้เพื่อให้ SMEs สามารถเข้าถึงเงินกู้ได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ในการอนุมัติสินเชื่อให้แก่รายที่ติดเครดิตบูโรนั้นยังมีประเด็นในเรื่องหลักเกณฑ์ของ บสย.ว่าจะไม่ค้ำประกันให้ SMEs รายที่ติดเครดิตบูโร เว้นเสียแต่จะปรับโครงสร้างหนี้เสียก่อน ซึ่งในความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้ที่รายที่ติดเครดิตบูโรจะสามารถปรับโครงสร้างหนี้เดิมได้ เว้นเสียแต่จะได้เงินกู้มาทำธุรกิจเพื่อจะมีรายได้นำไปแก้ปัญหาหนี้ค้างเดิม ดังนั้นจึงเป็นประเด็นที่ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องประชุมหาข้อสรุปต่อไป

นอกจากนี้ เอสเอ็มอีแบงก์ยังได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำ (MLR) ลง 0.25% จากเดิม 7.25% ต่อปี เหลือ 7% ต่อปี ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2558 เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อกำไรของธนาคารบ้างในอนาคต เนื่องจากการลดดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นการลดเงินกู้เพียงด้านเดียว ส่วนด้านเงินฝากไม่ได้มีการลดดอกเบี้ยแต่อย่างใด

รวมถึงจากที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จะทำโครงการ Machine Fund ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อเปลี่ยนเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพ โดยเปิดให้ธนาคารทุกแห่งเข้ามีส่วนร่วม ซึ่งทางเอสเอ็มอีแบงก์ก็จะเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย ส่วนอัตราดอกเบี้ยในโครงการดังกล่าวจะอยู่ที่ใด ทาง สสว.จะเป็นฝ่ายรับผิดชอบแจ้งให้ทราบต่อไป

อีกทั้งเอสเอ็มอีแบงก์ได้ร่วมกับ สสว. และสมาพันธ์ SMEs me โครงการจัดตั้ง Website ในลักษณะ E-commerce เพื่อให้ SMEs รายย่อยขายสินค้าแบบ Business to Business (BtoB) ผ่านช่องทาง Online ในลักษณะเดียวกับ Website ของ Alibaba.com โดยมีระบบการชำระเงินที่เชื่อถือได้ ทั้งนี้ เนื่องจาก SMEs รายย่อยมีข้อจำกัดในเรื่องช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า ในร้านสะดวกซื้อ และห้างสรรพสินค้าควรช่วยให้มีการขายแบบ Online ได้ เพราะเป็นวิธีที่สะดวก และมีต้นทุนค่าการตลาดต่ำที่สุด โดยในขั้นแรกจะให้ครอบคลุมตลาดในประเทศก่อน และจะต่อยอดไปในตลาด AEC รวมถึงการใช้ Website ในการหาผู้ร่วมลงทุน หรือผู้ซื้อสินค้าในจำนวนไม่มากนักในตลาดเพื่อนบ้าน

นางสาลินีเผยด้วยว่า ผลการดำเนินงานของเอสเอ็มอีแบงก์ นับถึงสิ้นเดือน ก.พ. 2558 กำไรสุทธิเดือน ก.พ. 2558 เท่ากับ 146 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค. 2558 ที่มีกำไรสุทธิ 98 ล้านบาท และเกินเป้าหมายที่ธนาคารตั้งไว้มีกำไรสุทธิเดือนละ 100 ล้านบาท ทั้งนี้ ผลกำไรที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากธนาคารได้ข้อยุติเรื่องการร่วมลงทุนในอดีตทำให้สามารถนำผลกำไรจากส่วนนี้มารวมอยู่ด้วย โดยกำไรสุทธิรวม 2 เดือนของธนาคาร (ม.ค.-ก.พ.) เท่ากับ 244 ล้านบาท

ด้าน NPLs เดือน ก.พ. 2558 ลดลงจากเดือน ม.ค. 2558 ประมาณ 773 ล้านบาท โดย ณ สิ้น ก.พ. NPLs เท่ากับ 30,899 ล้านบาท (คิดเป็น 36.24% ของยอดสินเชื่อรวม) และลดจากเดือน มิ.ย. 2557 ที่มียอด NPLs เท่ากับ 35,167 ล้านบาท (คิดเป็น 39.92% ของยอดสินเชื่อรวม) หรือลดลงประมาณ 4,268 ล้านบาท ทั้งนี้ สาเหตุเนื่องจากธนาคารปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ที่ดำเนินกิจการอยู่ได้ผล ช่วยประคองกิจการให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ส่งผลให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ให้แก่ธนาคารได้อย่างสม่ำเสมอ โดยจ่ายดอกเบี้ยในอัตราไม่ต่ำกว่า MLR รวมถึงจ่ายเงินต้นได้บ้างด้วย ซึ่งการช่วยรักษาลูกหนี้ให้ดำเนินกิจการต่อไปได้นี้ทำให้สามารถรักษาการจ้างงานได้ถึง 13,888 คน นอกจากนี้ ธนาคารได้ขายหนี้กองตะวันออกไปเรียบร้อยแล้ว และกำลังยื่นซองประกวดราคาขายหนี้กองกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มียอดหนี้คงค้างประมาณ 1,600 ล้านบาท

ด้านสินเชื่อ ธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อใหม่ในเดือน ก.พ. 2558 ประมาณ 3,172 ล้านบาท รวม 2 เดือน ม.ค.-ก.พ. 2558 อนุมัติสินเชื่อรวมประมาณ 4,878 ล้านบาท โดยทั้งหมดเป็นสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนผู้ประกอบการประมาณ 2,446 ราย และยอดเบิกจ่ายประมาณ 4,471 ล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้างเท่ากับ 85,260 ล้านบาท ซึ่งยอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือน ม.ค. เนื่องจาก ลูกค้ารายใหญ่ได้ชำระหนี้คืน และธนาคารไม่ได้เชิญชวนให้เพิ่มวงเงินสินเชื่อใหม่ จากการปล่อยกู้ดังกล่าว มั่นใจว่าสิ้นปีนี้ยอดอนุมัติสินเชื่อของเอสเอ็มอีแบงก์จะเป็นไปตามเป้าที่ 40,000 ล้านบาท และมีกำไรกว่า 1,200 ล้านบาท

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น