xs
xsm
sm
md
lg

เจาะกลยุทธ์สร้างธุรกิจเกมออนไลน์ในสไตล์ “ดีบัสซ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สิทธิชัย เทพไพฑูรย์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีบัสซ์ จำกัด ผู้ผลิตเกมออนไลน์สัญชาติไทย
“สิทธิชัย เทพไพฑูรย์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีบัสซ์ จำกัด ผู้ผลิตเกมออนไลน์สัญชาติไทย ถือเป็นนักธุรกิจอีกคนที่มีกลยุทธ์ในการสร้างธุรกิจที่น่าศึกษา

ที่ว่าน่าศึกษา เพราะนักธุรกิจหนุ่มในวัย 37 ปีคนนี้เกิดและเติบโตมาจากเวทีการประกวด แล้วต่อยอดมาสู่การสร้างธุรกิจของตัวเอง จนปัจจุบันกลายเป็นผู้พัฒนาเกมออนไลน์แถวหน้าของเมืองไทย ดังนั้น เรื่องราวของเขาน่าจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่อยากก้าวมาสู่ถนนสายผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี

จะว่าไปแล้วฝันในวัยเด็กของสิทธิชัยก็เหมือนกับเด็กผู้ชายอีกหลายๆ คน ที่เมื่อชอบเล่นเกมเป็นชีวิตจิตใจก็มักมีฝันว่าโตขึ้นอยากทำเกมเอง แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ คนส่วนใหญ่ไม่สามารถทำฝันให้เป็นจริงได้ ในขณะที่สิทธิชัยสามารถสานฝันของตัวเองให้เป็นจริงได้

“สมัยเด็กๆ ผมชอบเล่นเกม แต่ที่บ้านไม่มีเครื่องเล่นเกมนะ ก็ไปอาศัยเล่นเกมตามบ้านเพื่อน พอจะสอบเข้าเรียน ม.1 ตอนนั้นผมสอบเข้าโรงเรียนบดินทร์เดชาได้ ก็เลยขอรางวัลคุณพ่อเป็นคอมพิวเตอร์ ก็เริ่มหัดเขียนโปรแกรมมาตั้งแต่ตอนนั้น

พอตอนสมัยเรียน ม.4 ที่โรงเรียนมีสอบคอมพิวเตอร์โอลิมปิก ก็ไปสอบกับเขา ก็ติดเข้าไปรอบแรกๆ นะ แต่ว่ายังเก่งไม่พอที่จะติดรอบลึกๆ แต่ก็เปิดโลกให้เราได้รู้จักเพื่อนฝูง หลังจากนั้นก็เอนทรานซ์เข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ก็ได้มาเจอเพื่อนซึ่งเป็นหุ้นส่วนที่ทำงานกันอยู่ในปัจจุบัน

ตอนนั้นพอเรียนจบปริญญาตรีปั๊บ ผมก็เรียนปริญญาโทต่อทันที ไปเรียนภาคค่ำที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระหว่างที่เรียนก็มีโอกาสได้ไปทำงานประจำที่บริษัท ไซเบอร์แพลนเน็ต อินเตอร์แอคทีฟ ซึ่งเป็นบริษัททำเกมแรกๆ ของไทย ก็เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย ช่วงนั้นเป็นช่วงดอตคอมบูมมาก มีข่าวเว็บไซต์สนุกด็อทคอมขายได้ 100 ล้าน เราก็อยากจะทำแบบนั้นบ้าง ก็เลยรวมตัวกับเพื่อนช่วงสมัยเรียน ออกมาเปิดบริษัทของตัวเอง”

สิทธิชัยร่วมหุ้นกับเพื่อนอีก 4 คนที่มีฝันเหมือนๆ กันมาเปิดบริษัท ดีบัสซ์ ในปี 2542 โดยใช้ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินลงทุนคนละ 250,000 บาท ซึ่งขณะนั้นบริษัท ดีบัสซ์ เริ่มต้นด้วยการให้บริการพัฒนาเว็บโฮสติ้ง แต่เนื่องจากสิทธิชัยและเพื่อนๆ ยังถือเป็นหน้าใหม่สำหรับสนามธุรกิจ ฉะนั้นธุรกิจแรกที่เริ่มจึงไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่หวัง

“ตอนนั้นคิดแบบเด็กๆ คิดง่ายๆ อารมณ์เหมือนเราไปซื้อคอนโดฯ มาแล้วให้คนอื่นเช่า เว็บโฮสติ้งสมัยนั้นก็คือ ใครอยากมีเว็บไซต์มันต้องมาเช่าพื้นที่โฮส เราก็ไปซื้อเซิร์ฟเวอร์มา แต่ตอนนั้นเรายังทำการตลาดไม่เป็น เราไม่รู้การตลาดคืออะไร เรากะว่าเดี๋ยวคนคงจะเข้ามาเช่าเอง ปรากฏว่าคิดผิด ไม่มีใครมาเช่า ก็เจ๊ง”

แม้ธุรกิจแรกที่ทำจะล้มเหลว แต่ก็นับว่ายังโชคดีตรงที่ ณ เวลานั้นเป็นช่วงจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือ ทำให้สิทธิชัยสามารถมองหาช่องทางที่จะก้าวเดินต่อไปได้ไม่ยากนัก

“บังเอิญว่าตอนนั้นเกิดจุดเปลี่ยนสำคัญ ทางดีแทคเขาเปิดให้บริการ GPRS ทั่วประเทศไทยเป็นครั้งแรก คือ GPRS มันก็เหมือน 3G ยุคนี้ แต่จะช้ากว่ามาก แต่ก็ถือว่าเป็นของใหม่สำหรับยุคนั้น เพราะก่อนหน้านั้นมันโหลดได้แค่โลโก้ ริงโทน คอลลิ่งเมโลดี จะโหลดรูปภาพวอลเปเปอร์สีสวยๆ มันต้องใช้ GPRS ซึ่งเขาเพิ่งเปิดให้บริการครั้งแรก

แล้วพอดีมีรุ่นพี่ทำงานที่ดีแทค เขามาบอกว่าดีแทคอยากได้เกมมือถือเพื่อใช้เปิดตัวอีเวนต์ เราสามารถทำให้เขาได้ไหม ก็เลยทำเกมมือถือที่ชื่อ เดอะตุ๊ก 3 ล้อ พ่อรัก เป็นเกมขับรถตุ๊กตุ๊กบนโทรศัพท์มือถือสมัยโนเกียยุคแรกๆ ให้ดีแทค จำได้ว่าได้ค่าจ้างมาประมาณ 100,000 บาท ซึ่งเยอะมากสำหรับเราในตอนนั้น

แล้วตอนนั้นประมาณปี 2546 คอนเทนต์บนโทรศัพท์มือถือยังเป็นเรื่องใหม่ ข้อดีคือ บริษัทเกมใหญ่ๆ ยังไม่เข้ามา เพราะตลาดมันยังเล็กเกินไป แล้วมันเป็นยุคที่ทั้งไทยและต่างประเทศเริ่มพร้อมกันหมด เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีในการผลิตเกมเราเทียบเท่าต่างประเทศ เราก็เลยหันมารับจ้างผลิตเกมบนมือถือ”

เมื่อเทคโนโลยีในการพัฒนาเกมระหว่างคนไทยกับต่างชาติไม่แตกต่างกัน ฉะนั้นสิ่งที่จะวัดกันก็คือ ในเรื่องของฝีมือ ซึ่งกลยุทธ์หนึ่งที่สิทธิชัยนำมาใช้เพื่อทำให้บริษัท ดีบัสซ์ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงการเกม ก็คือ การใช้ช่องทางการประกวดแข่งขัน

“ผมโตมาจากการประกวด ทำเกมชนะเลิศในโครงการ Nokia Asia Challenge 2003 มันเป็นการแข่งขันพัฒนาเกมบนโทรศัพท์มือถือของโนเกียระดับเอเชียแปซิฟิก ก็เป็นจุดที่ทำให้เราเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ แล้วมันทำให้มีงานจ้างจากฝรั่งเศสเข้ามา ผมเคยทำเกมให้กับโทรศัพท์มือถือซาเจ็ม ทำอยู่ 4 วันได้ประมาณเกือบล้าน

ฉะนั้นผมจะแนะนำน้องๆ ที่อยากเข้าสู่วงการนี้เสมอว่า ถ้าอยากจะเกิด ให้มาทางสายแข่งขัน เวลามีงานเวทีประกวดที่ไหน ให้พยายามส่งประกวด เราจะได้เป็นที่รู้จัก เพราะต่อให้เราทำเกมเก่งขนาดไหน ถ้าทำอยู่คนเดียวไม่มีใครรู้หรอก แต่ถ้าเรามีรางวัลติดตัว โดยเฉพาะรางวัลระดับนานาชาติ มันก็จะช่วยการันตีความสามารถให้เราได้ ผมก็โตมาจากจุดนั้น เพราะตอนนั้นเกมบนมือถือมันเริ่มมาแล้ว ก็มีบริษัทใหญ่กว่าเราเขาอยากได้เกมไปทำตลาด เราก็รับจ้างทำ”

ถึงตอนนี้ดูเหมือนว่าธุรกิจรับจ้างผลิตเกมบนโทรศัพท์มือถือของสิทธิชัยน่าจะไปได้ดี แต่สิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดก็คือ เกิดจุดเปลี่ยน 2 เรื่องใหญ่ๆ เรื่องแรก จีนเริ่มเข้ามาสู่อุตสาหกรรมเกม ทำให้มือถือค่ายต่างๆ ที่เคยจ้างงานคนไทยให้ผลิตเกมให้ หันไปจ้างจีนผลิตแทน ประกอบกับ ณ เวลานั้นเกมออนไลน์บนพีซี หรือคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเริ่มเข้ามาสู่ตลาดเมืองไทย จึงทำให้สิทธิชัยต้องปรับตัวเพื่อหาทางไปต่ออีกครั้ง

“โทรศัพท์มือถือมันมีหลายรุ่น ทีนี้เวลาฝรั่งเขาทำเกมเขาจะทำมาแค่สำหรับรุ่นเดียว แต่เวลาจะแปลงเกมไปบนมือถือจอใหญ่ จอเล็ก พวกนี้มันต้องอาศัยแรงงานในการแปลง บริษัทฝรั่งก็เริ่มจ้างบริษัทคนไทยช่วยแปลงเกมไปอยู่บนรุ่นต่างๆ ซึ่งแต่ก่อนเขาจ้างไม่กี่บริษัท เพราะโทรศัพท์มือถือรุ่นยังน้อยอยู่ แต่พอรุ่นมันเริ่มเยอะขึ้น เขาก็จ้างหลายๆ บริษัท

จุดพลิกผันคือ เมื่อจีนเริ่มเข้ามาสู่อุตสาหกรรมนี้ อย่างบริษัทคนไทยมีพนักงาน 10 กว่าคน แต่บริษัทจีนบริษัทเดียวมีพนักงาน 3,000 คน มันก็สะดวกสำหรับผู้ว่าจ้าง เวลาเขาติดต่อบริษัทจีนบริษัทเดียวมันสามารถจะแปลงเกมได้ทุกเครื่อง ทุกรุ่น แต่ถ้าเขาติดต่อบริษัทในไทยต้องติดต่อหลายบริษัทกว่าจะแปลงเกมให้เขาได้ เขาก็เปลี่ยนไปจ้างจีนแทน ออเดอร์ตรงนี้ก็หายไป

แล้วตลาดมือถือมันเริ่มใหญ่ขึ้น ทีนี้ใครๆ ก็แห่กันทำ สมัยก่อนผมทำกับดีแทค เอไอเอส ก็แชริ่งกัน สมมติหนึ่งโหลดค่าบริการ 30 บาท เราได้ 5-10 บาท แต่พอตลาดเริ่มใหญ่ขึ้น มันก็มีบริษัทที่ไปซื้อเกมจากต่างประเทศเข้ามาขายไปในราคาถูกๆ ให้โหลดเท่าไหร่ก็ได้ไม่จำกัด พอมันมีเงื่อนไขอย่างนี้เกิดขึ้น เราก็เริ่มจะขายเกมยากขึ้น

จุดเปลี่ยนอีกอย่างก็คือ ตอนนั้นประมาณปี 2549 แร็คน่าร็อค ซึ่งเป็นเกมออนไลน์เริ่มเข้ามาในเมืองไทย คนก็แห่ไปสนใจเกมออนไลน์ เราเห็นเทรนด์ตรงนี้ เราก็เลยตัดสินใจแตกไลน์ธุรกิจไปทำเกมออนไลน์ หรือเกมบนพีซีแทน”

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สิทธิชัยตัดสินใจหาที่ยืนใหม่ ด้วยการหันมาทำเกมออนไลน์ เป็นเพราะถ้าเปรียบเทียบโอกาสทางการตลาด ซึ่ง ณ ตอนนั้นตลาดเกมมือถือมีมูลค่าเพียงแค่ประมาณ 200-300 ล้านบาทเท่านั้น ในขณะที่ตลาดเกมออนไลน์มีมูลค่าตลาดสูงถึง 2,000 ล้านบาท จึงไม่น่าแปลกใจที่สิทธิชัยจะหันมาจับธุรกิจที่มีโอกาสทางการตลาดสูงกว่า

“ตอนนั้นเกมมือถือมูลค่าตลาด 200-300 ล้านบาท มีเกมในตลาดเป็นหมื่นเกม แต่เกมออนไลน์มูลค่า 2,000 ล้านบาท มีเกมในท้องตลาด 50 เกม ซึ่งเป็นเกมที่นำเข้ามา ผมก็คิดกลมๆ ว่า ถ้าไปทำเกมออนไลน์ต่อให้อยู่ข้างล่างของตลาด ลองหารดูมันก็มีโอกาสจะได้มากกว่า ก็เลยกล้าที่จะทำ

คือพอธุรกิจเกมมือถือมันดาวน์ แต่ละคนก็เริ่มหาทางไป บางคนก็ไปทำเกม Console ไปรับจ้างเมืองนอกทำ ก็เป็นทางหนึ่งไป อีกทางหนึ่งเขาก็เปลี่ยนจากคนทำเกมมาเป็นคนขายเกม ไม่ทำเองแล้ว ซื้อเขามาขายง่ายกว่า ส่วนตัวผมก็มาทางสายพัฒนาเกมพีซีออนไลน์

ก็ถือว่าคิดถูกนะ และโชคดีมาถึงวันนี้ได้ จากเกมตัวแรกที่พัฒนา คือ เกมอสุรา ซึ่งเป็นเกมออนไลน์เกมแรกของไทยที่พัฒนาโดยคนไทย ก็จำได้ว่าวันแรกที่เปิดให้คนเล่น มันไม่สมบูรณ์เอามากๆ แต่เงินหมดแล้ว ถ้าไม่เปิด เห็นอนาคตเลยว่าบริษัทต้องเจ๊งแน่นอน ก็เลยเปิดตัวเกมไปก่อน

ตอนนั้นมันมีกระแสเกมแร็คน่าร็อคในตลาด เสียค่าบริการรายเดือน เดือนละประมาณ 349 บาท เราก็คิดว่าเปิดเกมคนไทยเก็บเดือนละ 79 บาทพอ ถูกกว่ากันตั้งเยอะ คนน่าจะเล่น สุดท้ายคนก็ยังเล่นไม่มากนัก จนกระทั่งเราตัดสินใจเปลี่ยนเป็นเกมฟรีนี่แหละ ก็เริ่มจากคนเล่นสิบคน ร้อยคน พันคน รายได้เริ่มตั้งแต่ได้เดือนละหลักพัน หลักหมื่น หลักแสน จนถึงเป็นหลักล้านต่อเดือน ก็ค่อยๆ สะสมมาเรื่อยๆ”

การเบนเข็มมาสู่ตลาดเกมออนไลน์ของสิทธิชัย ณ เวลานั้นต้องบอกว่ามีคู่แข่งในตลาดไม่มากนัก แต่โจทย์ที่ยากก็คือ จะทำการตลาดอย่างไรให้เกมออนไลน์ของเขาเป็นที่รู้จัก ที่สำคัญจะทำอย่างไรให้คนไทยหันมายอมรับและเล่นเกมออนไลน์ที่พัฒนาโดยคนไทย

“ตอนแรกเราขายเกมไม่เป็น เราก็ไปหาบริษัทใหญ่ๆ ให้ช่วยทำการตลาดให้ อารมณ์แบบนักดนตรีไปหาค่ายเพลง แล้วก็โดนค่ายเพลงปฏิเสธ ประมาณนั้นเลย แต่ก็ได้ประสบการณ์นะ มีทั้งชื่นชม สนับสนุน ดูถูก เหยียดหยาม ครบทุกรูปแบบ สุดท้ายไม่มีใครซื้อเกมเราไปให้บริการเพราะเขาไม่เชื่อมั่นในฝีมือคนไทย ก็เลยมองหน้ากับเพื่อนๆ ในทีม งั้นขายเองแล้วกัน ก็เลยขายเอง เปิดตัวเกมเอง ทำเว็บเอง มีคอลเซ็นเตอร์ รับสายลูกค้าที่โทร.เข้ามาเอง

ทีนี้ถามว่าเราทำการตลาดอย่างไร เนื่องจาก ณ เวลานั้นมันยังไม่มีเกมไทยแบบนี้มาก่อน แล้วผมก็อาศัยว่าเป็นเด็กวิศวะ ก็จะมีเด็กที่มีฝันแบบผมเยอะ เราก็ไปเติมความฝันเขา ไปคุยในเว็บบอร์ดเรื่องทำเกม บอกว่าเรากำลังทำเกมอยู่นะ มีภาพมาโชว์ โดยหลักการเราจะทำเกมมาตุนเอาไว้ แต่ค่อยๆ ปล่อยของ วันนี้ทำได้แค่นี้นะเอามาให้ดู เดี๋ยวอาทิตย์หน้าเราจะทำแบบนี้ ลองดูว่าทำได้ไหม อาทิตย์หน้าเราก็ทำได้อีก มันมีความคืบหน้า จนกระทั่งสามารถเล่นได้จริงๆ

คนก็เริ่มติดตามดูเหมือนดู AF แล้วก็มีคนอยากลองเล่น จะเล่นได้จริงๆ เหรอ ก็เริ่มจากกลุ่มนักศึกษาคณะวิศวะก่อน แล้วค่อยๆ ขยายกลุ่มไปเรื่อยๆ”

ถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่า ก่อนหน้าที่สิทธิชัยจะเปิดตัวเกมอสุรานั้น ทำไมถึงไม่มีคนไทยคิดที่จะทำเกมออนไลน์ออกมาให้บริการ ซึ่งสิทธิชัยไขข้อข้องใจในประเด็นนี้ว่า เป็นเพราะมีอุปสรรคในเรื่องของเทคโนโลยีการผลิต

“ที่จริงมันก็มีบริษัทใหญ่พยายามจะทำเกมไทยเหมือนกัน แต่เนื่องจากเขาเป็นบริษัทใหญ่ เขาลงทุนการตลาด ลงทุนโฆษณาอลังการมาก ทีนี้นักพัฒนาที่ไม่มีประสบการณ์ พอเข้ามาทำงานวันแรกแล้วมีคนเล่นเกมเยอะตั้งแต่วันแรก มันเจอปัญหาประดังเข้ามาในเวลาเดียวกัน ซึ่งมันเป็นปัญหาทางเทคนิคที่เขาไม่เคยเจอ แล้วมันต้องใช้ประสบการณ์ มันก็แก้ไม่ได้ ตอบสนองไม่ทัน มันก็เลยล้มเหลว เพราะเขาแก้ไม่ทันตามความต้องการบริษัท

แต่ของเรามันค่อยๆ โตจากเล็กไปใหญ่ ซึ่งย้อนกลับไปมันก็เป็นความโชคดีนะ ถ้ามีบริษัทใหญ่มาซื้อเกมผม ณ ตอนนั้น แล้วโปรโมตโฆษณาไปเต็มที่ มีคนมาเล่นเยอะตั้งแต่วันแรก แล้วเกมมีปัญหา ก็อาจจะพังไปแล้วก็ได้ เพราะเรากดดันแก้ไม่ได้ นี่ก็เป็นสาเหตุที่ว่าทำไมไม่มีคนคิดทำ จริงๆ มี แต่เงื่อนไขมันทำไม่ได้”

นอกจากนี้ สิทธิชัยยังได้อธิบายถึงโมเดลธุรกิจเกมว่าจะมีลักษณะเหมือนกับการให้บริการแอปพลิเคชัน หรือสติกเกอร์ไลน์ คือจะให้บริการดาวน์โหลดเกมฟรี แล้วมีช่องทางรายได้หลักมาจากการขายไอเท็ม หรือ accessory ให้แก่ผู้เล่นเกม

“ผมสรุปเลยว่าพฤติกรรมคนไทยถ้าเก็บค่าบริการ แม้จะเก็บรายเดือนแค่ 1 บาท เขาก็ไม่เล่นนะ แต่ถ้าฟรีจะเล่น แถมจ่ายเยอะกว่าจ่ายรายเดือนอีก

เกมมันเป็นบิสิเนสโมเดลแรกๆ ของโลกเลยนะที่ให้เล่นฟรีแล้วมันได้ตังค์ คนจะไม่ค่อยเข้าใจ ถามว่าจะได้ตังค์ยังไง ก็จากการขายของในเกม หรือที่เรียกว่า item selling เช่น ปกติเล่นเกมจะได้หมวกสีแดงธรรมดา แต่ถ้าหมวกสีแดงมีประกายเพชรเสียตังค์เพิ่มเอาไหม ก็มีคนที่อยากได้ เหมือนสติกเกอร์ไลน์นั่นแหละ ซึ่งเหตุผลที่คนเล่นเกมยอมจ่าย หลักๆ จะมี 2 เรื่อง คือ อยากมีไอเท็มที่โดดเด่นแตกต่างจากคนอื่น และอยากเล่นได้เร็วขึ้น ประหยัดเวลาในการเล่น

ปกติคนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าอุตสาหกรรมเกมอยู่ได้เพราะเด็กติดเกม แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ อุตสาหกรรมเกมอยู่ได้เพราะผู้ใหญ่นะ คนเติมเงินเกมเดือนหนึ่ง 200,000 บาทเป็นเรื่องปกติและมีอยู่เยอะ อย่างของผมเองก็มีเติมเป็นหลักแสนนะ คนเดียวเติมต่อเดือนเป็นแสน ซึ่งถ้าเราเก็บค่าบริการรายเดือนตามปกติ เราจะไม่มีทางได้รายได้แบบนั้น

หรืออย่างเวลาจัดประมูลไอเท็ม เคยมีการประมูลม้าตัวหนึ่งในเกมไป 800,000-900,000 บาท ประมูลเป็นล้านก็มี ฉะนั้นจะเห็นว่ามันเป็นธุรกิจที่สร้างมูลค่าให้แก่สิ่งของ คือยุคสมัยนี้คุณค่าของสิ่งของมันไม่ได้อยู่ที่ต้นทุนการผลิต มันอยู่ที่เรื่องราวของมัน ฉะนั้นถ้าเรายิ่งสร้างเรื่องราวให้มันมากเท่าไหร่ คุณค่ามันก็จะยิ่งเยอะขึ้น”
น้องๆ ที่อยากเข้าสู่วงการนี้เสมอว่า ถ้าอยากจะเกิด ให้มาทางสายแข่งขัน เวลามีงานเวทีประกวดที่ไหน ให้พยายามส่งประกวด เราจะได้เป็นที่รู้จัก เพราะต่อให้เราทำเกมเก่งขนาดไหน ถ้าทำอยู่คนเดียวไม่มีใครรู้หรอก
เมื่อถามถึงเป้าหมายในการทำธุรกิจ สิทธิชัยบอกว่า ต้องการที่จะเป็นผู้นำในการให้บริการเกม ซึ่งกลยุทธ์ที่จะไปสู่เป้าหมายที่ว่านี้ นอกจากจะเป็นผู้พัฒนาเกมไทยภายใต้บริษัท ดีบัสซ์ ซึ่งถึงตอนนี้ได้พัฒนาเกมออนไลน์ออกมาให้บริการแล้ว 2 เกม คือ เกมอสุรา เกมออนไลน์ที่จะทำให้ผู้เล่นได้สนุกไปกับเทศกาลต่างๆ ของไทย โดยปัจจุบันมีผู้เล่นเฉลี่ยอยู่ที่หลักหมื่นต่อเดือน และเกม ๔๐๐ เกมแนวแฟนตาซีแบบไทยๆ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากวีรกรรมของขุนรองปลัดชู โดยเป็นการจำลองวิถีชีวิตในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

ที่ผ่านมายังใช้กลยุทธ์ร่วมกับพาร์ตเนอร์ในการพัฒนาเกมออนไลน์ขึ้นมาอีกด้วย เช่น เกมดัมมี่ เกมไพ่ที่สามารถเล่นผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก โดยปัจจุบันมีจำนวนผู้เล่นกว่า 300,000 คนต่อเดือน

นอกจากนี้ เมื่อปี 2549 ยังได้ร่วมกับกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่อย่างกลุ่มเบญจจินดา (กลุ่มบุญชัย - วิชัย เบญจรงคกุล) จัดตั้งบริษัท เกมอินดี้ จำกัด ขึ้นมา เพื่อให้บริการจำหน่ายเกมที่พัฒนาโดยคนไทย

และล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมาก็ได้ตั้งบริษัท ทำเกม จำกัด เพื่อให้บริการจัดทำเครื่องมือในการพัฒนาเกมแก่นักพัฒนาเกมไทยอีกด้วย

“อย่างที่บอกไปว่าตอนที่เราทำเกมอสุราไปขายแล้วไม่มีใครซื้อ ก็เลยขายเอง หลังจากนั้นเราก็ได้รับการสนับสนุนทุนเพิ่มจากกลุ่มเบญจจินดา ผมก็เลยแยกธุรกิจพัฒนาเกมออกจากธุรกิจให้บริการเกม เลยเป็นที่มาของเกมอินดี้

ทีนี้ความฝันอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราอยากเป็นผู้ให้บริการเกมออนไลน์คนไทยอันดับหนึ่ง นั่นแปลว่า เราอยากให้บริการเกมไทยของนักพัฒนาคนไทยอื่นๆ ด้วย เพราะจากประสบการณ์ตอนที่เราทำไปขายใครแล้วไม่มีใครซื้อเพราะเขาไม่เชื่อมั่นในตัวนักพัฒนา แต่เนื่องจากเราเป็นนักพัฒนามาก่อน เรามีความเชื่อมั่นในตัวนักพัฒนาไทย เลยคิดว่าเราอยากจะให้บริการเกมคนไทยอื่นๆ ซึ่งตอนนี้ก็ถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จในการให้บริการ เนื่องจากไม่ค่อยมีบริษัทคนไทยทำเกมออนไลน์ เพราะมันติดที่เทคโนโลยี

ผมก็เลยพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาตัวหนึ่งเรียกว่า Online Multi - player Game Service (OMG Service) เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้สร้างเกมออนไลน์ได้รวดเร็วและง่ายขึ้น ทำให้นักพัฒนาไม่ต้องมีองค์ความรู้ในเชิงเทคนิคล้ำลึกก็สามารถจะทำเกมออนไลน์ได้”

อย่างไรก็ดี สิทธิชัยบอกว่า ถึงตอนนี้อุตสาหกรรมเกมเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่งแล้ว โดยเป็นการเปลี่ยนจากเกมออนไลน์มาสู่เกมโมบายล์

“ผมมองว่าปัจจุบันธุรกิจเกมกำลังเฟื่องฟูค่อนข้างมาก แต่ตอนนี้ธุรกิจเกมมันเริ่มเปลี่ยนอีกแล้ว จำได้ไหมผมเคยบอกว่าเราเริ่มจากเกมบนโนเกีย และก็เปลี่ยนมาเป็นเกมบนพีซีออนไลน์ ตอนนี้มันกลับมาเป็นยุคเกมมือถืออีกแล้ว ฉะนั้นเกมมือถือมันเป็นทิศทางที่เราจะไปต่อจากนี้”

ปัจจุบันอุตสาหกรรมเกมในประเทศไทยมีมูลค่าตลาดประมาณ 7,000 ล้านบาท ซึ่งรวมทั้งตลาดเกมออนไลน์และเกมโมบายล์ โดยจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 10-15% ฉะนั้นไม่แปลกที่จะมีหน้าใหม่ๆ กระโดดเข้ามาขอแบ่งเค้กก้อนนี้อยู่เรื่อยๆ

แต่สิทธิชัยก็ไม่ลืมที่จะฝากข้อคิดถึงหน้าใหม่ที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ว่า “ถ้าถามว่าจะพัฒนาเกมให้เป็นที่ยอมรับของตลาดต้องทำอย่างไร หลักพื้นฐานทั่วไปคือ มันต้องมีความโดดเด่นทางการตลาดที่จะสื่อได้ว่าเราแตกต่างจากคนอื่น แล้วกลไกของเกมก็ต้องสนุกสนาน อันนี้สำคัญ แต่จุดสำคัญอีกอย่างคือ การเก็บเงิน เกมคนเล่นเยอะไม่ได้แปลว่าจะได้ตังค์ เพราะว่าเกมเล่นฟรี เพราะฉะนั้นมันเป็นศิลปะมากๆ ที่จะมองหาจุดที่ทำให้คนเล่นแล้วยอมจ่าย โดยไม่ทำให้เขารู้สึกว่ามันเป็นการบีบบังคับจนเขาเลิกเล่นเกม

วิธีจริงๆ ก็ต้องใช้ข้อมูลประกอบ ยกตัวอย่าง เวลาเราจะทำเกม เราจะมีตัวเลขเก็บสถิติทุกอย่าง พฤติกรรมผู้เล่น ผู้เล่นกดปุ่มไหนบ่อย ไปหน้าไหนบ่อย อยู่ฉากไหนบ่อย แล้วเราเอาข้อมูลพวกนี้มาวิเคราะห์ แล้วหาอะไรใส่เข้าไปเพื่อเก็บเงิน ถ้าเป็นวิธีที่เป็นวิทยาศาสตร์ก็จะใช้วิธีนี้ แต่บางอย่างก็ต้องใช้เซนส์และกึ๋น อธิบายไม่ได้เหมือนกัน”

ทั้งหมดนี้คือกลยุทธ์และแนวคิดในการสร้างและต่อยอดธุรกิจของสิทธิชัย อดีตคนที่เคยมีฝันอยากทำเกม แล้วสามารถทำฝันของตัวเองได้เป็นจริง
 
@@@ ข้อมูลโดย นิตยสาร SMEs PLUS @@@

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น