xs
xsm
sm
md
lg

สสว.แจงบทสรุป SMEs พ.ศ. 2557 โตร้อยละ 0.5

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สสว.เผยบทสรุป SMEs ปี 57 เติบโตร้อยละ 0.5 ได้อานิสงส์มาตรการกระตุ้น ศก.รัฐช่วยพยุงสถานการณ์ ส่งออก ม.ค.-ต.ค. มูลค่ารวม 1.6 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.49 ตลาดอาเซียนแชมป์สูงสุด ส่วนแนวโน้มปีหน้ากลับมาฟื้นตัว โตร้อยละ 5.4 จากปัจจัยหนุนใช้จ่ายภาครัฐ

รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า การวิเคราะห์สถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในรอบปี 2557 พบว่าโดยภาพรวมปรับตัวดีขึ้น สะท้อนได้จาก GDP SMEs นับตั้งแต่ไตรมาส 1, 2 และ 3 แม้จะมีอัตราหดตัวลงร้อยละ 1.4, 0.7 และ 0.2 ตามลำดับ แต่เป็นการหดตัวในอัตราที่ลดลงต่อเนื่อง จึงกล่าวได้ว่าสถานการณ์ SMEs ปรับตัวดีขึ้น โดย GDP SMEs (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่ารวม 3.37 ล้านล้านบาท ซึ่งร้อยละ 57 มาจากการบริโภคภายในประเทศ ที่เหลือร้อยละ 43 มาจากการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ โดยมีสัดส่วนต่อ GDP ของประเทศคิดเป็นร้อยละ 38.2 และคาดการณ์ว่าไตรมาส 4 จะขยายตัวและมีค่าเป็นบวก ส่งผลให้ภาพรวมของปี 2557 GDP SMEs จะขยายตัวคิดเป็นร้อยละ 0.5

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้สถานการณ์ SMEs ปี 2557 ปรับตัวดีขึ้นมาจากสถานการณ์ทางการเมืองมีเสถียรภาพและมีทิศทางชัดเจนขึ้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ให้เงินช่วยเหลือชาวนา การสร้างการจ้างงานในชนบท การลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน การเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของหน่วยงานราชการ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือและส่งเสริมการลงทุนให้แก่ SMEs ฯลฯ ซึ่งกระตุ้นให้การบริโภคภายในประเทศและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว ขณะที่สถานการณ์การท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น เห็นได้จากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นมา ประกอบกับระดับราคาน้ำมันปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศคู่ค้าสำคัญมีการฟื้นตัว ฯลฯ ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์ SMEs ไตรมาส 4 ขยายตัวเพิ่มขึ้นและมีค่าเป็นบวก

เมื่อพิจารณาด้านการค้าระหว่างประเทศของ SMEs ปี 2557 พบว่า การส่งออก (เดือนมกราคม-ตุลาคม) มีมูลค่า 1,607,939 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.49 และมีสัดส่วนร้อยละ 26.3 ของการส่งออกรวมทั้งประเทศ ตลาดหลักที่ SMEs ไทยส่งออกสินค้ามากที่สุด ได้แก่ กลุ่มประเทศอาเซียน มูลค่า 427,651 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 26.6 ของการส่งออกของ SMEs รองลงมาคือ จีน มูลค่า 191,656 ล้านบาท กลุ่มสหภาพยุโรป มูลค่า 167,029 ล้านบาท ญี่ปุ่น มูลค่า 158,145 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา มูลค่า 124,064 ล้านบาท ซึ่งการส่งออกไปทุกตลาดหลักขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสหภาพยุโรป ขยายตัวสูงสุดถึงร้อยละ 16.43 เนื่องจากมีการเร่งนำเข้าสินค้าก่อนที่จะมีการยกเลิกให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี (GSP) กับประเทศไทยในปี 2558

สำหรับสินค้าที่มีการส่งออกสูงสุด ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รองลงมาคือ พลาสติกและของทำด้วยพลาสติก เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ยานยนต์และส่วนประกอบ ตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกที่ขยายตัวสูงสุด ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ

ส่วนการนำเข้าของ SMEs เดือน ม.ค.-ต.ค. มีมูลค่า 1,834,688 ล้านบาท หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.92 และคิดเป็นร้อยละ 29.4 ของการนำเข้ารวมของประเทศ ตลาดที่ SMEs นำเข้าสินค้าสูงสุด ได้แก่ จีน มูลค่า 497,722 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 27.1 ของการนำเข้ารวมของ SMEs รองลงมาคือ ญี่ปุ่น มูลค่า 277,679 ล้านบาท กลุ่มประเทศอาเซียน มูลค่า 260,097 ล้านบาท กลุ่มสหภาพยุโรป มูลค่า 219,639 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา มูลค่า 110,730 ล้านบาท สินค้าที่ SMEs นำเข้าสูงสุด ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ รองลงมาคือ เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อัญมณีและเครื่องประดับ พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก เหล็กและเหล็กกล้า ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาด้านการจัดตั้งและยกเลิกกิจการในปี 2557 (เดือน ม.ค.-ต.ค.) พบว่ามีกิจการที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่จำนวน 51,725 ราย หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.79 ประเภทกิจการที่จัดตั้งใหม่สูงสุด ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป 5,473 ราย มีทุนจดทะเบียน 13,237 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดขายส่งเครื่องจักร และหมวดภัตตาคาร/ร้านอาหาร ตามลำดับ ส่วนการจดทะเบียนยกเลิกกิจการมีจำนวน 11,847 ราย ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.02 ประเภทกิจการที่ยกเลิกมากที่สุด ได้แก่ หมวดกิจกรรมขายสลากกินแบ่งฯ มีจำนวน 1,286 ราย ทุนจดทะเบียน 478 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย และหมวดซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่เพื่อพักอาศัย ตามลำดับ
ตารางสรุปผลการประมาณการเศรษฐกิจ SMEs ปี 2558 (หน่วย : ร้อยละ)
ทั้งนี้ สสว.ประมาณการ SMEs (ณ เดือน ธ.ค. 2557) ภายใต้สถานการณ์ของประเทศในภาวะปกติ โดยคาดการณ์สถานการณ์ SMEs ปี 2558 มีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ภายใต้สมมติฐานในการประมาณการ SMEs ได้แก่ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 95 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.2

โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวจากฐานเดิมที่ต่ำ นโยบายของภาครัฐที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การให้ความช่วยเหลือเกษตรกร การจ้างงานและสร้างรายได้นอกภาคเกษตร การเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การปรับโครงสร้างราคาพลังงาน การลดอัตราภาษีสำหรับผู้ประกอบการ SMEs การจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ฯลฯ ขณะที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับเศรษฐกิจและการค้าโลกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

ปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวจะเป็นส่วนช่วยผู้ประกอบการ SMEs ทั้งในด้านการลดต้นทุน การสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ รวมถึงการเพิ่มอำนาจซื้อให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้สถานการณ์ SMEs ในปี 2558 มีการขยายตัวดีขึ้น

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น