มองแนวโน้มเอสเอ็มอีปี 58 สสว. คาดโต 5.4% จากฐานต่ำและอานิสงส์มาตรการกระตุ้น ศก.รัฐบาล ด้านภาควิชาการ หวังแค่ 3.6% เชื้อฟื้นตัวช้าๆ หลังผ่าน Q2 มองปัจจัยเสี่ยงหนี้ครัวเรือนสูง ลูกค้ากำลังซื้อหดหาย จับจ่ายฝืดเคือง แนะเร่งปรับตัวตามเทรนด์ดิจิทัลให้ทัน
สสว.เผยปลายปี 57 เริ่มเห็นแสงสว่าง
รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ดำเนินการวิเคราะห์สถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในรอบปี 2557 พบว่า สถานการณ์โดยภาพรวมปรับตัวดีขึ้น สะท้อนได้จาก GDP SMEs นับตั้งแต่ไตรมาส 1, 2 และ 3 แม้จะมีอัตราหดตัวลง 1.4% 0.7% และ 0.2% ตามลำดับ แต่เป็นการหดตัวในอัตราที่ลดลงต่อเนื่อง จึงกล่าวได้ว่าสถานการณ์ SMEs ปรับตัวดีขึ้น โดยGDP SMEs (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่ารวม 3.37 ล้านล้านบาท ซึ่ง 57% มาจากการบริโภคภายในประเทศ ที่เหลือ43% มาจากการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ โดยมีสัดส่วนต่อ GDP ของประเทศ คิดเป็น 38.2 % และคาดการณ์ว่า ไตรมาส 4 จะขยายตัวและมีค่าเป็นบวก ส่งผลให้ภาพรวมของปี 2557 GDP SMEs จะขยายตัวคิดเป็น 0.5%
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้สถานการณ์ SMEs ปี 2557 ปรับตัวดีขึ้น มาจากสถานการณ์ทางการเมืองมีเสถียรภาพและมีทิศทางชัดเจนขึ้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ทะยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการให้เงินช่วยเหลือชาวนา การสร้างการจ้างงานในชนบท การลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน การเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของหน่วยงานราชการ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือและส่งเสริมการลงทุนให้กับ SMEs ฯลฯ ซึ่งกระตุ้นให้การบริโภคภายในประเทศและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว ขณะที่สถานการณ์การท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น เห็นได้จากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ ขยายตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม เป็นต้นมา กอรปกับระดับราคาน้ำมันปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศคู่ค้าสำคัญมีการฟื้นตัว ฯลฯ ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์ SMEs ไตรมาส 4 ขยายตัวเพิ่มขึ้นและมีค่าเป็นบวก
เมื่อพิจารณาด้านการค้าระหว่างประเทศของ SMEs ปี 2557 พบว่า การส่งออก (เดือนมกราคม-ตุลาคม) มีมูลค่า 1,607,939 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.49% และมีสัดส่วน 26.3% ของการส่งออกรวมทั้งประเทศ ตลาดหลักที่ SMEs ไทยส่งออกสินค้ามากที่สุด ได้แก่ กลุ่มประเทศอาเซียน มูลค่า 427,651 ล้านบาท คิดเป็น 26.6% ของการส่งออกของ SMEs รองลงมาคือ จีน มูลค่า 191,656 ล้านบาท กลุ่มสหภาพยุโรป มูลค่า 167,029 ล้านบาท ญี่ปุ่น มูลค่า 158,145 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา มูลค่า 124,064 ล้านบาท ซึ่งการส่งออกไปทุกตลาดหลักขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสหภาพยุโรป ขยายตัวสูงสุดถึงร้อยละ 16.43 เนื่องจากมีการเร่งนำเข้าสินค้าก่อนที่จะมีการยกเลิกให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี (GSP) กับประเทศไทยในปี 2558 สินค้าที่มีการส่งออกสูงสุด ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รองลงมาคือ พลาสติกและของทำด้วยพลาสติก เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ยานยนต์และส่วนประกอบ ตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกที่ขยายตัวสูงสุด ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ
ส่วนการนำเข้าของ SMEs เดือน ม.ค.-ต.ค. มีมูลค่า 1,834,688 ล้านบาท หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.92% และคิดเป็น 29.4% ของการนำเข้ารวมของประเทศ ตลาดที่ SMEs นำเข้าสินค้าสูงสุด ได้แก่ จีน มูลค่า 497,722 ล้านบาท คิดเป็น 27.1% ของการนำเข้ารวมของSMEs รองลงมา คือ ญี่ปุ่น มูลค่า 277,679 ล้านบาท กลุ่มประเทศอาเซียน มูลค่า 260,097 ล้านบาท กลุ่มสหภาพยุโรป มูลค่า 219,639 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา มูลค่า 110,730 ล้านบาท สินค้าที่ SMEs นำเข้าสูงสุด ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ รองลงมาคือ เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อัญมณีและเครื่องประดับ พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก เหล็กและเหล็กกล้า ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาด้านการจัดตั้งและยกเลิกกิจการในปี 2557 (เดือน ม.ค.-ต.ค.) พบว่า มีกิจการที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่จำนวน 51,725 ราย หดตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 13.79 ประเภทกิจการที่จัดตั้งใหม่สูงสุด ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป มูลค่า 5,473 ราย มีทุนจดทะเบียน 13,237 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดขายส่งเครื่องจักร และหมวดภัตตาคาร/ร้านอาหาร ตามลำดับ ส่วนการจดทะเบียนยกเลิกกิจการมีจำนวน 11,847 ราย ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.02 ประเภทกิจการที่ยกเลิกมากที่สุด ได้แก่ หมวดกิจกรรมขายสลากกินแบ่ง มีจำนวน 1,286 ราย ทุนจดทะเบียน 478 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย และหมวดซื้อขาย อสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่เพื่อพักอาศัย ตามลำดับ
ฟันธง มาตรการกระตุ้น ศก.หนุน GDP SMEs ปี 58โต 5.4%
ทั้งนี้ สสว. ประมาณการ GDP SMEs ปี 2558 มีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.4% ภายใต้สมมติฐานในการประมาณการ SMEs ได้แก่ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปรับเพิ่มขึ้น 4.0% ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 95 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล อัตรเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.2%
ปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวจากฐานเดิมที่ต่ำ นโยบายของภาครัฐที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การให้ความช่วยเหลือเกษตรกร เพิ่มเงินเดือนข้าราชการ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การลดอัตราภาษีสำหรับผู้ประกอบการ SMEs การจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ฯลฯ ขณะที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ กอรปกับเศรษฐกิจและการค้าโลกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวจะเป็นส่วนช่วย SMEs ทั้งในด้านการลดต้นทุน การสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ รวมถึงการเพิ่มอำนาจซื้อให้กับผู้บริโภค ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้สถานการณ์ SMEs ในปี 2558 มีการขยายตัวดีขึ้น
ภาควิชาการหวังแค่ 3.6% หวั่นหนี้ครัวเรือนสูง
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของเอสเอ็มอี (GDP SME) ปี 2558 คาดจะขยายตัวที่ประมาณ 3.3-3.6% โดยมีปัจจัยเอื้อมาจากเชื่อว่าสภาพการณ์ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และประสบการณ์ความลำบากที่ผ่านมาแล้วจะช่วยให้เอสเอ็มอีเกิดการเรียนรู้ ปรับตัวให้ธุรกิจแข็งแกร่งมากขึ้น และทำตลาดได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งปีที่ผ่านมาเอสเอ็มอีใช้ศักยภาพของตัวเองในการผลิตสินค้าหรือบริการเพียงแค่ 60% เท่านั้น เพราะขาดความเชื่อมั่น เมื่อแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวทำให้กล้าจะลงทุนเต็มศักยภาพของตัวเอง ซึ่งการฟื้นตัวของเอสเอ็มอีจะเริ่มเห็นผลช้าๆ หลังจากผ่านไตรมาส 1 ไปแล้ว และจะเห็นการเติบโตอย่างชัดเจนจริงๆ หลังผ่านไตรมาส 2
ดร.เกียรติอนันต์กล่าวต่อว่า สำหรับข้อกังวลที่จะเป็นตัวฉุดการกลับมาฟื้นตัวของเอสเอ็มอีนั้น อยู่ที่แม้ผู้บริโภคจะมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ทว่า ยังติดปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ทำให้กำลังซื้อไม่กลับมามากอย่างที่คาดหวัง นอกจากนั้น เอสเอ็มอีมีโอกาสโดนดูดบุคลากรคุณภาพไปอยู่กับบริษัทใหญ่ๆ ทำให้ศักยภาพการแข่งขันลดลง รวมไปถึง พ.ร.บ.ค้ำประกัน จะทำให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อยากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงตัวเอง แม้จะเป็นกฎหมายที่มีเจตนาดี แต่ควรปรับกระบวนการเพื่อเอื้อต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเอสเอ็มอีมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ทาง ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของเอสเอ็มอีจำนวน 623 รายจาก 12 จังหวัดทั่วประเทศ ถึงความเสี่ยงในการทำธุรกิจปี 2558 พบว่า ด้านการเงิน สิ่งที่เอสเอ็มอีคิดว่ามีความเสี่ยงมากที่สุดคือ การรักษาสภาพคล่องให้เพียงพอ 66.6% บ่งบอกว่าเอสเอ็มอีประสบภาวะเงินฝืด ตามด้วยการเข้าถึงแหล่งทุน 54.3% การเติบโตของรายได้ 52.2% ต้นทุนการผลิต 51.1% ภาระหนี้ 35.2% ผลตอบแทนจากการลงทุนการเงิน 22.3% และความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 10.1%
ด้านการตลาด สิ่งที่เอสเอ็มอีคิดว่ามีความเสี่ยงมากที่สุดคือ การรักษาฐานลูกค้าเดิม 51.3% การสูญเสียตลาดให้แก่คู่แข่งภายในประเทศ 50.8% การสูญเสียตลาดให้แก่คู่แข่งนอกประเทศกลุ่มอาเซียน 50.1% การสูญเสียตลาดให้แก่คู่แข่งในประเทศกลุ่มอาเซียน 49.2% ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่าเอสเอ็มอีกังวลเรื่องการแข่งขันที่สูงขึ้น ทั้งจากที่ต้องแข่งกับรายใหญ่ แข่งขันกันเองในหมู่เอสเอ็มอี รวมถึงแข่งกับต่างประเทศ
สำหรับการเตรียมพร้อมของเอสเอ็มอี ควรจะต้องเจาะจงหาลูกค้าหรือตลาดเฉพาะกลุ่ม ไม่ขายแบบปูพรม เพราะผู้ซื้อจะมีความรอบคอบในการใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น หากสินค้าหรือบริการไม่โดนใจจริงๆ จะไม่จับจ่าย ดังนั้น เอสเอ็มอีควรหันมาให้ความสำคัญเรื่อง “กำไร” มากกว่าเรื่อง “ยอดขาย” กล่าวคือ อาจจะไม่ต้องขายสินค้าปริมาณมากๆ แต่ให้ขายในปริมาณเหมาะสมแต่ได้กำไรสูง ส่วนนโยบายของภาครัฐที่ออกมาเวลานี้มีจำนวนมากเพียงพอแล้ว แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือ ควรจะนำมาตรการต่างๆ มาร้อยรวมกันให้เป็นกลุ่มเดียวกัน เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีแบบเฉพาะเจาะจง โดยเลือกช่วยในกลุ่มที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและผู้คนจำนวนมากเสียก่อน
จี้เร่งปรับตัวรับกระแสดิจิทัล อีโคโนมี
นางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สมาคมเอสเอ็มอีไทย) กล่าวว่า แนวโน้มของเอสเอ็มอี เชื่อจะกลับมาฟื้นตัวอย่างช้าๆ หลังจากผ่านไตรมาส 1 ไปแล้ว เนื่องจากจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น การตั้งกองทุนร่วมลงทุน การลดภาษีให้แก่เอสเอ็มอี นโยบายสนับสนุนเข้าถึงแหล่งเงินทุน ราคาพลังงานลดลง รวมไปถึงการลงทุนภาครัฐ ทำให้เกิดการจ้างงาน
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวดังกล่าว จะกระเตื้องขึ้นเพียงเล็กน้อย เพราะเศรษฐกิจชะลอตัวมานาน ทำให้ผู้บริโภคขาดกำลังซื้อ และเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวดีเท่าที่ควร
นายกสมาคมเอสเอ็มอีไทย ชี้ด้วยว่า ปัจจัยเสี่ยงกำลังของเอสเอ็มอีไทย คือ ไม่สามารถปรับตัวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกการค้ายุคใหม่ที่อาศัยทางดิจิทัลเป็นหลัก ทำให้ธุรกิจไม่สอดรับกับการใช้ชีวิตประจำวันของคนยุคปัจจุบัน ขณะที่ธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น และขาดนวัตกรรม นับวันจะแข่งขันได้ยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านเรื่องต้นทุนการผลิต นอกจากนั้น รายที่ไม่เข้าสู่ระบบ ไม่มีการทำบัญชีอย่างถูกต้องตรวจสอบได้ จะเสียโอกาสการค้า หลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เพราะคู่ค้าต่างชาติที่จะเข้ามาค้าขายจะขาดความเชื่อมั่น
เชื่อฟื้นตัวชัดเจนช่วงหลังผ่าน Q2
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ปี2558 ปัจจัยสนับสนุนแก่ธุรกิจเอสเอ็มอี มาจากนโยบายส่งเสริมของภาครัฐ ที่ให้ความสำคัญแก่เอสเอ็มอีอย่างมาก ด้วยการยกให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 2 ปีหน้า เพราะเงินอัดฉีดจากรัฐบาลเริ่มเข้าระบบ ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ควบคู่กับอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกิจ
นอกจากนั้น การเติบโตของตลาดการค้าชายแดน ใกล้เข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านเศรษฐกิจเติบโตสูง ในขณะที่สินค้าของไทยยังเป็นที่นิยมและต้องการ นอกจากนั้น เสถียรภาพทางการเมืองที่มีความมั่นใจมากขึ้น เป็นส่วนช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค
ในส่วนปัจจัยลบนั้น เอสเอ็มอียังมีต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงการเข้ามาแข่งขันของต่างชาติ และรายใหญ่ อาจทำให้เอสเอ็มอีถูกแย่งชิงลูกค้า นอกจากนั้น สถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่สูง จะทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย สุดท้าย คือความไม่มั่นใจในความต่อเนื่องของนโยบายรัฐบาล ซึ่งทุกฝ่ายรู้กันดีว่าขณะนี้เป็นรัฐบาลชั่วคราว
“การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกจะเริ่มเห็นในช่วงครึ่งหลังของปี 58 โดยภาวะเศรษฐกิจในไทยจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 2 ปีหน้า เพราะเงินอัดฉีดจากรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะเริ่มเข้าระบบและเดินเครื่องในช่วงเดือน ม.ค.58 ซึ่งจะทำให้ภาพรวมการท่องเที่ยวดีขึ้นตามมา อย่างไรก็ดี ธุรกิจที่ยังขยายตัวอยู่ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่เป็นหลัก ขณะที่ธุรกิจรายเล็กยังขยายตัวได้ไม่ดีนัก เพราะกำลังซื้อฐานรากยังไม่ดี” นายธนวรรธน์ กล่าว
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *