xs
xsm
sm
md
lg

หลง(รัก) “เวียงกาหลง” ปลุกเสน่ห์เมืองโบราณ เปิดบ้านรับท่องเที่ยว (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บ้านเวียงกาหลง อยู่ที่หมู่15ต.เวียงกาหลง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย
เมืองโบราณมากเสน่ห์ มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ปัจจุบันยังทิ้งร่องรอยแห่งความรุ่งเรืองให้เห็นแจ่มชัด เหตุนี้ บ้าน “เวียงกาหลง” หมู่15ต.เวียงกาหลง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย จึงได้รับคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านโอทอปเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อขยายโอกาสสร้างงาน สร้างรายได้เพิ่มให้แก่คนในชุมชน

สายพิรุณ น้อยศิริ รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ให้ข้อมูลว่า กรมฯ ดำเนินโครงการคัดเลือกและพัฒนาหมู่บ้านที่มีศักยภาพเป็นหมู่บ้านโอทอปเพื่อการท่องเที่ยว ตั้งแต่ พ.ศ.2549 ถึงปัจจุบันรวมกว่า 60 หมู่บ้านทั่วไทย ด้วยการสนับสนุนงบหมู่บ้านละ 7 แสนบาท และส่งเจ้าหน้าที่ให้ความรู้เรื่องบริหารจัดการชุมชน เพื่อเหมาะจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว รวมถึง พัฒนาสินค้าท้องถิ่นสู่ของฝากของขวัญขายนักท่องเที่ยว

“บ้านเวียงกาหลง เป็น 1ใน 8 หมู่บ้านที่ได้รับคัดเลือกในปีนี้ (2557) เพราะคุณสมบัติพร้อม ทั้งคนในท้องถิ่นตื่นตัว มีส่วนร่วมในการพัฒนา มีจุดแข็งเรื่องผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น เครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลง และชากาขาวเวียงกาหลง เป็นต้น รวมถึง มีสถานที่ท่องเที่ยวในท้องถิ่นชวนดึงดูด รักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ได้ เหมาะแก่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพื่อกลุ่ม Niche Market นอกจากนั้น ทำเลดีตั้งอยู่ในพื้นที่เชื่อมการท่องเที่ยวจากเชียงใหม่ไปสู่เชียงราย และยังแยกไปลำปางได้ด้วย” สุพิน เสริม

ด้านมนตรี มูลมินทร์ ผู้ใหญ่บ้านเวียงกาหลง เผยว่า ชุมชนนี้ มีทั้งหมด 91 ครัวเรือน ประชากร 329 คน อาชีพหลักรับจ้างทำการเกษตร เช่น ปลูกข้าว และมันฝรั่ง เฉลี่ยรายได้ประมาณ 300-400 บาทต่อวัน พอเพียงจะเลี้ยงดูตัวเองได้ตามอัตภาพ

หลังได้รับเลือกเป็นหมู่บ้านโอทอปฯ แล้ว ชาวบ้านเกิดการตื่นตัวอย่างมาก มีการประชุมวางแผน และปรับภูมิทัศน์ในชุมชนให้สวยงามสะอาด เกิดการรวมกลุ่มนำสินค้าท้องถิ่นมาดัดแปลงเป็นของฝาก เช่น เครื่องจักสาน เครื่องใช้จากกะลามะพร้าว เป็นต้น เพื่อหารายได้เสริมหลังทำเกษตร

ผู้ใหญ่บ้านเวียงกาหลง เล่าต่อว่า เดิมมีนักท่องเที่ยวเข้ามาบ้าง แต่ไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนรักประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง แต่หลังเปิดเป็นหมู่บ้านโอทอปเพื่อการท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ เมื่อกลางปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นชัดเจน เฉลี่ยกว่า 500 คนต่อสัปดาห์

จุดเด่นบ้านเวียงกาหลงอยู่ที่เป็นเมืองโบราณ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1500-1600 ในท้องถิ่นยังพบสิ่งปลูกสร้างเก่าแก่ ทั้งพระธาตุ และคูเมืองเป็นแนวกำแพงดินล้อมรอบตัวเมือง ยาวกว่า 2,000 เมตร รวมถึง ขุดพบชิ้นส่วนภาชนะโบราณอายุนับพันปีอยู่ทั่วไปในหมู่บ้าน บ่งบอกได้ดีว่าพื้นที่แห่งนี้ในอดีตรุ่งเรืองมาก

อีกเอกลักษณ์สำคัญ มีผลิตภัณฑ์โบราณคู่ท้องถิ่น ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผาเคลือบลวดลายเวียงกาหลง หาได้จากที่นี่แห่งเดียวในประเทศไทย เพราะดินแดนแห่งนี้เคยเป็นภูเขาไฟมาก่อน ทำให้มีแร่ธาตุสะสมอยู่ในเนื้อดินมากมาย เมื่อนำมาทำภาชนะดินเผาจะได้เนื้อที่เบาแต่แกร่ง และยังเชื่อกันว่าแร่ธาตุในเนื้อดินจะส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้ใช้ด้วย

ปัจจุบัน หลงเหลือผู้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาโบราณ อยู่ 4 กลุ่ม รายที่ถือเป็นเสาหลักต้องยกให้ “ทัน ธิจิตตัง” กลุ่มเครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลง ลูกหม้อโดยกำเนิดที่ศึกษาการทำดินเผาโบราณลึกซึ้ง จนได้รับยกย่องเป็นปราชญ์ประจำท้องถิ่น

เขาเล่าว่า เอกลักษณ์ของเครื่องปั้นเวียงกาหลงอยู่ที่เผามาแล้วจะได้สีธรรมชาติ โทนน้ำเงิน และน้ำตาล ประกอบกับวาดลวดลายเฉพาะตัวไม่เหมือนที่อื่นๆ เกิดจากภูมิปัญญาของช่างที่สะสมมายาวนาน แฝงด้วยเรื่องคติธรรม และความหมายมงคล ช่วยให้ทุกชิ้นสามารถขายได้มูลค่าสูง หลีกเลี่ยงแข่งขันกับเซรามิกราคาถูกได้

“ในขณะที่กลุ่มเซรามิกลำปางกำลังแย่ แต่สินค้าของบ้านเรา กลับตรงกันข้าม ยอดขายดีสม่ำเสมอ เพราะเน้นคุณภาพและไม่เหมือนใคร ประกอบกับการเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว ช่วยให้ขยายโอกาสมากยิ่งขึ้น จากเดิม ผลิตตามออเดอร์ ทุกวันนี้ นักท่องเที่ยวรู้จักและเข้ามาซื้อถึงถิ่น รวมถึง ชาวบ้านสนใจกลับมาทำอาชีพดั้งเดิม ซึ่งผมได้เปิดสอนความรู้แก่เด็กๆในหมู่บ้านฟรี เพื่อให้เขาเติบโตมาสืบสานมรดกของบ้านเกิดต่อไป” ศิลปินรุ่นใหญ่ กล่าว

“ชากาขาว เวียงกาหลง” เป็นอีกผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อ โดยเป็นพันธุ์นำเข้ามาจากเมืองจีนแค่ 20 ต้น เมื่อปลูกลงในดินภูเขาไฟแร่ธาตุสูงของบ้านเวียงกาหลงแล้ว หลังแปรรูปเป็นใบชาชงดื่ม จะได้รสชาติหวานหอม สรรพคุณชุ่มคอ แก้ไข และลดเบาหวาน

เพ็ญ ใจขัติ ประธานกลุ่มสมุนไพรเวียงกาหลง เล่าว่า รวมกลุ่มแม่บ้านทำอาชีพนี้เมื่อประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว ขณะนี้มีพื้นที่เพาะปลูกรวมกันกว่า 2 งาน สมาชิกรวม 15 คน ได้รับการันตีโอทอประดับ 4 ดาว มีออเดอร์ส่งไปขายทั่วประเทศ สร้างรายได้ให้แก่สมาชิกประมาณ 5 พันบาทต่อเดือน ยิ่งเปิดหมู่บ้านเป็นแหล่งท่องเที่ยว ช่วยให้ชากาขาวเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากยิ่งขึ้น

จากกระแสการท่องเที่ยวที่เข้ามา ปลุกให้เกิดความคึกคักด้านการค้าและเศรษฐกิจในท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ชาวเวียงกาหลงพูดตรงกันว่า จะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิม เพื่อคงรักษาให้เวียงกาหลงเป็นเมืองโบราณมากด้วยเสน่ห์ตลอดไป



* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


สายพิรุณ น้อยศิริ รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน
ภายในศูนย์พัฒนาศีลธรรม หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญประจำท้องถิ่น
มนตรี มูลมินทร์ ผู้ใหญ่บ้านเวียงกาหลง
ชาวเวียงกาหลงผูกพันกับพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง
คูเมือง ยาวกว่า 2,000 เมตร
ทางเข้าศูนย์ศีลธรรม แหล่งท่องเที่ยวในบ้านเวียงกาหลง
เครื่องปั้นดินเผาเคลือบลวดลายเวียงกาหลง
ศิลปินวาดลายเวียงกาหลง
เครื่องปั้นดินเผาเวียงกาหลง มีจุดเด่นที่ลวดลาย

พื้นที่ปลูกชาเวียงกาหลง
ใบชาเวียงกาหลง
ผลิตภัณฑ์ชาเวียงกาหลง
เพ็ญ ใจขัติ ประธานกลุ่มสมุนไพรเวียงกาหลง
ชาวบ้านเก็บใบชาเวียงกาหลง
ขุดพบชิ้นส่วนภาชนะโบราณอายุนับพันปีอยู่ทั่วไปในหมู่บ้าน

พิพิธภัณฑ์เมืองโบราณเวียงกาหลง หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวประจำถิ่น
ภายในศูนย์ศีลธรรม แหล่งท่องเที่ยวในบ้านเวียงกาหลง
ภายในศูนย์ศีลธรรม แหล่งท่องเที่ยวในบ้านเวียงกาหลง
นักดนตรีพื้นบ้าน
บ่อน้ำพุร้อน แหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้บ้านเวียงกาหลง
แช่ไข่ในบ่อน้ำพุรอน
แช่เท้า ผ่อนคลาย

 ทัน ธิจิตตัง ปราชญ์ท้องถิ่น ผู้นำกลุ่มเครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลง
เตาเผาโบราณอายุนับพันปี


กำลังโหลดความคิดเห็น