xs
xsm
sm
md
lg

แจ๋วจริง! “เครื่องช่วยทอผ้า” สานภูมิปัญญาไทยง่ายเหมือนปอกกล้วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 “เครื่องทอผ้าแบบยกดอกพิเศษด้วยเครื่องแจ๊คการ์ด” (JACQUARD)
การทอ “ผ้าลายยกดอก” ให้มีลวดลายสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นผ้าตีนจก ผ้าแพรวา ฯลฯ ต้องอาศัยทักษะความเชี่ยวชาญของผู้ทอที่สูงมาก เพราะต้องจดจำลวดลาย การยกเส้นด้าย การพุ่งเส้น ฯลฯ กว่าจะทอได้ผ้าสักผืนหนึ่งต้องใช้ระยะเวลานานมาก อีกทั้งผู้ทอต้องเผชิญกับความเมื่อยล้าของสายตาและร่างกายในการทำงาน ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้ หนุ่มสาวคนรุ่นใหม่แม้จะเกิดมาในครอบครัวที่มีอาชีพทอผ้าไทย มักไม่สนใจที่จะสืบสานภูมิปัญญาโบราณนี้มากนัก

จากปัญหาดังกล่าวจุดประกายให้ ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ อริยะเครือ คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พระนคร ศึกษาและพัฒนาเครื่องทอผ้าแบบดั้งเดิมให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น เพื่อหวังว่าจะทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจ และช่วยสืบสานผ้าทอยกดอกของไทย โดยได้ออกแบบ “เครื่องทอผ้าแบบยกดอกพิเศษด้วยเครื่องแจ็กการ์ด” (JACQUARD)
ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ อริยะเครือ คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พระนคร
ผศ.ดร.กิตติศักดิ์เล่าให้ฟังว่า เครื่องทอผ้าแบบยกดอกพิเศษด้วยเครื่องแจ็กการ์ด (JACQUARD) ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. โดยเป็นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้กับภูมิปัญญาไทยทำให้เกิดความร่วมสมัย
ช่วยให้การทอผ้าโบราณง่าย และรวดเร็วมากขึ้น
สำหรับเครื่องทอผ้าแจ็กการ์ด คือระบบหัวยกตะกอเครื่องทอผ้าอัตโนมัติที่ใช้ในระบบทอผ้าอุตสาหกรรม เป็นเทคโนโลยีที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงได้ทำการศึกษาผลิตหัวยกตะกอหรือเครื่องแจ็กการ์ดด้วยวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น และนำไปติดตั้งบนกี่ทอผ้าแบบพื้นเมือง ซึ่งมีขนาดตะกอหรือขนาดเข็ม-ขอ ที่สามารถยกตะกอได้ตั้งแต่ 120 ตะกอ

หัวใจสำคัญที่สร้างความสะดวก คือ “ชุดสร้างลวดลาย” หรือ “ไซลินเดอร์” โดยให้เข็มผ่านรูแผ่นลายหรือการ์ดลายที่มีสปริงเป็นตัวควบคุมการ์ดลายที่เจาะรู ทำให้สามารถยกตะกอเพื่อยกด้ายยืนขึ้นได้พร้อมๆ กันทั้งหน้าตับ แทนวิธีการเดิมๆ ที่ต้องใช้มือยกด้ายยืนขึ้นเป็นช่วงๆ ทำให้ง่าย ประหยัดเวลาในการพุ่งเส้นด้ายเพื่อให้เกิดลวดลายบนเส้นยืน
การทำงานยังเป็นลักษณะแฮนด์เมด แต่ง่ายและทำได้เร็วขึ้น
“เมื่อก่อนคนทอผ้าต้องจำลวดลายทุกอย่างอยู่ในสมองหมด ตรงไหนต้องยก ตรงไหนต้องขิด พุ่งด้ายแบบไหนอย่างไร แต่เมื่อเราบันทึกลายบนแผ่นการ์ดก็ช่วยลดเวลา เหลือแค่การเหยียบตะกอและพุ่งด้ายเพื่อให้เกิดลายเท่านั้น จากที่เคยนั่งหลังขดหลังแข็งทั้งวันอาจจะทอได้ “ไม่กี่นิ้ว” ก็สามารถ “ทอผ้าได้เป็นเมตร” ในเวลาที่เท่ากัน อีกทั้งยังสามารถที่จะทอผ้าลายที่มีความอ่อนช้อยได้มากขึ้น ทำให้เกิดลวดลายใหม่ๆ ได้มากขึ้นเช่นกัน” เจ้าของไอเดียกล่าว

ผศ.ดร.กิตติศักดิ์บอกอีกว่า เครื่องทอผ้าแบบยกดอกพิเศษด้วยเครื่องแจ็กการ์ดต้นทุนการผลิตที่ไม่สูงมาก สามารถนำไปติดตั้งกับกี่ทอผ้าเดิมที่ชาวบ้านมีอยู่แล้ว หรือจะสร้างกี่ขึ้นใหม่ที่รองรับกับเครื่องแจ็กการ์ด ซึ่งราคาใกล้เคียงเครื่องในระบบอุตสาหกรรมทอผ้า การใช้งานเหมาะสมกับผู้หัดทอใหม่ๆ หรือผู้ที่มีพื้นฐานการทออยู่แล้วก็จะทำให้การทอผ้าได้รวดเร็วขึ้น รวมทั้งคุณภาพของผ้าทอที่ดีขึ้น เนื่องจากมีแกนหมุนและระบบล็อกที่ทำด้วยฟันเฟืองในการช่วยล็อกตัวฟืมหรือฟันหวีที่มั่นคงและแข็งแรงต่อการจับ และช่วยการกระทบหน้าผ้าเข้าหากันได้อย่างสม่ำเสมอ

หลังได้สร้างเครื่องต้นแบบ ได้นำนวัตกรรมดังกล่าวไปให้กลุ่มทอผ้าวัดน้ำเต้า อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา และ กลุ่มทอผ้าบ้านเนินขาม อ.เนินขาม จ.ชัยนาททดลองใช้ สร้างความพึงพอใจแก่ชาวบ้านผู้ใช้งานอย่างยิ่ง เนื่องจากสามารถติดตั้งและเคลื่อนย้ายได้ง่าย ทอผ้ายกดอกได้เร็วขึ้น ช่วยลดการขาดของด้ายยืน เมื่อทอเสร็จจะติดตั้งเส้นด้ายยืนเพื่อทอผ้าผืนใหม่ก็ทำได้ง่ายขึ้น การม้วนเก็บผ้าที่ทอแล้วมีความสะดวก ที่สำคัญคือลดและบรรเทาความปวดเมื่อยของร่างกาย
“ชุดสร้างลวดลาย” หรือ “ไซลินเดอร์” โดยให้เข็มผ่านรูแผ่นลายหรือการ์ดลายที่มีสปริงเป็นตัวควบคุมการ์ดลายที่เจาะรู
“ผมทำการพัฒนาเครื่องทอผ้าแบบยกดอกพิเศษแจ็กการ์ด ช่วยให้คนรุ่นเก่าสะดวกมากขึ้น และช่วยให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจที่จะสืบสานอนุรักษ์การทอผ้ามากขึ้น หลายคนอาจจะบอกว่าเครื่องทอผ้านี้จะทำให้ขาดเสน่ห์ของงานฝีมือไป ผมอยากจะทำความเข้าใจว่า เครื่องนี้ไม่ใช่เครื่องอัตโนมัติที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ ทว่าทุกกระบวนการก็ยังเป็นงานฝีมือ 100% ต้องใช้แรงงานคนในการเหยียบเพื่อยกตะกอ และพุ่งเส้น”

ผศ.ดร.กิตติศักดิ์บอกอีกว่า อยากให้เครื่องนี้มีส่วนช่วยสร้างอาชีพ ทั้งอาชีพในครัวเรือน วิสาหกิจชุมชน หรือเอสเอ็มอี สามารถนำไปต่อยอด เพิ่มคุณภาพ และมูลค่าของผ้าทอไทย
ติดตั้งกับกี่โบราณ  ช่วยให้จากเดิม  ทอได้วันละไม่กี่นิ้ว สามารถ “ทอผ้าได้เป็นเมตร” ในเวลาที่เท่ากัน
“ผ้าทอยกดอกลวดลายต่างๆ ของไทยเป็นงานฝีมือที่ฝรั่งให้การยอมรับ แต่ที่ผ่านมากลุ่มทอผ้าที่เป็นลักษณะแบบนี้ไม่สามารถทอผ้าได้ทันต่อความต้องการของตลาดก็เพราะต้องใช้เวลานานในการทอผ้าแต่ละผืน ยิ่งตอนนี้ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ AEC แน่นอนว่าตลาดต้องกว้างขึ้น และคู่แข่งก็เพิ่มขึ้น ถ้าเรายังใช้กรรมวิธีแบบเดิมๆ ก็อาจทำให้ผ้าทอยกดอกของไทยไปแข่งกับเขาไม่ได้ ที่สำคัญเครื่องนี้จะช่วยในเรื่องของการเก็บรักษาลวดลายต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือถ้าลายใดที่ได้รับความนิยมเราก็สามารถผลิตได้ลวดลายที่สวยงามเหมือนกันทุกครั้ง เพราะมีการ์ดลายที่มีความแน่นอนในการทอ สิ่งที่ตามมาคือเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว และชุมชน”
ทอผ้าลายที่มีความอ่อนช้อยได้มากขึ้น รวมถึง สร้างสรรค์ลายใหม่ๆ ได้มากขึ้นด้วย

จากความยอดเยี่ยมที่กล่าวมา ผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลเหรียญทอง จาก Class L Clothing - Textiles - Machines and Accessories (งานสิ่งทอและเครื่องจักรรวมอุปกรณ์ประกอบ) ในงาน 42nd International Exhibition of inventions of Geneva จากกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ได้รับรางวัลเหรียญทอง จาก Class L Clothing – Textiles – Machines and Accessories (งานสิ่งทอและเครื่องจักรรวมอุปกรณ์ประกอบ) ในงาน 42nd International Exhibition of inventions of Geneva จากกรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
เจ้าของงานประดิษฐ์ทิ้งท้ายว่า พร้อมและยินดีที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อให้ชุมชนสามารถสร้างและผลิตได้เอง สามาถติดต่อได้โดยตรงที่คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พระนคร รวมถึงในวันที่ 23-26 มิถุนายนนี้จะนำไปจัดแสดงในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2557 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพคฟอรั่ม ฮอลล์ 9 เมืองทองธานี จ.นนทบุรี

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น