เมื่อนักครีเอทเมนูอาหารไทยในต่างแดน เลือกเปิดร้านไอศกรีมรสชาติไทยให้ลิ้มลอง ดังนั้นรสชาติจะธรรมดาคงเป็นไปไม่ได้ เมนูต้องแตกต่าง อย่าง รสขนมครก ครองแครงน้ำกะทิ หรือ มะนาวเมืองเพชร ที่ไม่ได้น้ำขนมไทยมาปั่นเป็นไอศกรีม เพราะดูง่ายไป! แต่เลือกทำไอศกรีมให้เหมือนขนมไทย ทั้งรสชาติ ความหอม และสัมผัส กับแบรนด์ “ไอติมยัก”
นายเสกสรรค์ พรสมบูรณ์ศิริ เจ้าของไอศกรีมรสไทยแบรนด์ 'ไอติมยัก' ย้อนที่มาธุรกิจนี้ให้ฟังว่า เขาทำงานที่ร้านอาหารไทยในสหรัฐอเมริกามานานกว่า 11 ปี ในตำแหน่งผู้ช่วยเชฟ พ่วงอีกหนึ่งหน้าที่คือ การคิดออกแบบเมนูใหม่ๆ ให้แก่ทางร้าน โดยต้องประสานงานกับเชฟว่าอาหารที่อออกแบบมานั้นสามารถสร้างสรรค์เป็นเมนูใหม่ได้หรือไม่ จากความได้เปรียบด้านภาษา ทำให้ต้องเป็นผู้พูดคุยกับลูกค้าโดยตรงทำให้รู้ความต้องการอาหารแต่ละเมนูของลูกค้า
ครั้งเมื่อเดินทางกลับมาประเทศไทยเมื่อปี 2555 ก็ตั้งใจเปิดร้านอาหารเป็นของตัวเอง แต่ที่บ้านไม่เห็นด้วยนักเพราะใช้เงินลงทุนสูง แนะหาธุรกิจเล็กๆ ทำไปก่อน สะสมเงินทุนแล้วจึงค่อยทำตามฝัน บังเอิญมีญาติผลิตไอศกรีมกะทิขายส่งขายมานาน ที่ จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นไอศกรีมกะทิสดแท้ รสชาติกลมกล่อม จึงคิดรับนำขายต่อในกรุงเทพฯ แต่รูปลักษณ์ของไอศกรีมกะทิธรรมดาจะต้องเปลี่ยนไปเมื่อมาอยู่ภายใต้การบริหารธุกริจของอดีตนักครีเอทเมนูอาหารไทย เริ่มจากชื่อแบรนด์เขาต้องการสื่อถึงความเป็นไทย เพราะขายไอศกรีมที่เป็นต้นตำรับไทยแท้ ซึ่งเขานึกถึงชื่อ “ยักษ์” ที่เป็นชื่อที่เพื่อนๆ เรียกมาตั้งแต่เด็กจากความที่เป็นคนตัวสูงใหญ่ ดังนั้นเมื่อแปลงมาเป็นชื่อแบรนด์ ก็ขอเล่นคำสักหน่อย กลายเป็น 'ไอติมยัก' ที่ใครเห็นต้องสงสัย สอบถามความหมาย และกลายเป็นชื่อที่ถูกจดจำไปในที่สุด
ต่อมาพัฒนารูปแบบการขายและหน้าตาของไอศกรีมกะทิที่แปลกไป นำใส่ถาดแทนการตักไอศกรีมจากถังสแตนเลสทรงกลม ทำคล้ายไอศกรีมเจลลาโต ดูโมเดิร์นขึ้น จับใส่ถ้วยกระดาษ หรือใครที่ต้องการรับประทานกับขนมปังก็นำใส่ถาดมีช้อน ส้อม ให้พร้อมรับประทาน ขณะที่ทอปปิ้งก็มีความหลากหลาย ถูกอกถูกใจลูกค้าในย่านศรีนครินทร์เป็นอย่างมาก
เปิดร้าน 'ไอติมยัก' ได้สักพัก ก็ลองพัฒนารสชาติใหม่ขึ้น เลี่ยงความจำเจ โดยวางพื้นฐานไอศกรีมรสชาติมใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นต้องมีพื้นฐานมาจากไอศกรีมกะทิ ซึ่งเขานึกถึงขนมไทย แต่จะให้นำขนมไทยมาปั่นเป็นไอศกรีมเลยก็ดูจะง่ายเกินไป แต่เขาต้องการ 'ทำไอศกรีมออกมาให้เหมือนขนมไทย' แทน
รสชาติแรกที่เขาคิดค้นขึ้น 'ไอศกรีมรสขนมครก' เพราะรสชาติพื้นฐานคือ กะทิ พร้อมนำเผือก ข้าวโพดมาผสมลงไปด้วย ต่อมาเป็น 'มะพร้าวเผา' เป็นการนำเอามะพร้าวเผาเป็นชิ้นๆ ใส่ในไอศกรีม ซึ่งปัจจุบันเป็นรสชาติที่ชายดีที่สุด ถัดมาเป็น 'รสครองแครงน้ำกะทิ' ขนมไทยโบราณ นำงาขาว มะพร้าวทึนทึก ทำน้ำกะทิจากขนมครองแครง ให้กลิ่นและรสชาติเหมือนการรับประทานครองแครงในรูปแบบของไอศกรีม ขณะที่ 'รสงาดำ' ก็ใส่ใจในทุกรายละเอียด นำงามาล้าง ขัด คั่วบดละเอียด ทำให้ได้ไอศกรีมรสงาดำเข้มข้น หอม หวานมัน
นอกจากนี้ยังมีไอศกรีม รสมะนาวเมืองเพชร, น้ำตาลโตนด, ลอดช่องใบเตย, กาแฟโบราณ, ชาไทย, น้อยหน่า, ทุเรียน, เสาวรส, สตรอเบอรี่, มะม่วง และ ลิ้นจี่ เป็นต้น ไม่แต่งกลิ่นใดๆ ทั้งสิ้น ใช้เนื้อผลไม้สดตามฤดูกาล และเป็นรสที่มาจากไอศกรีมกะทิสด
ไอติมยัก เปิดดำเนินการมาได้ประมาณ 1 ปีครึ่ง และไม่มีหน้าร้าน อาศัยตามบูธตามงานอีเว้นท์ต่างๆ เพื่อให้คนรู้จักแบรนด์ และลิ้มลองไอศกรีมรสชาติไทย โดยราคาขายอยู่ที่สกู๊ปละ 45 บาท (70 กรัม) ขณะที่ถ้วยสำหรับนำกลับบ้านราคา 55 บาท/ถ้วย (110 กรัม) มีน้ำแข็งแห้งสามารถเดินทางได้ 3 ชั่วโมง ลูกค้ามีทุกเพศทุกวัย แต่จะแตกต่างกันที่ความชอบในแต่ละรสชาติเท่านั้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 30-60 ปี จะชื่นชอบมากเพราะคุ้นเคยกับไอศกรีมกะทิอยู่แล้ว
ส่วนแผนธุรกิจเขาเตรียมนำไอติมยักไปเสนอตามร้านอาหาร ร้านกาแฟ เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งเมนูไปเสนอให้กับทางร้าน และอาจจะมีหน้าร้านเป็นตนเองที่ไม่ใช่เพียงแค่ร้านไอติมยัก แต่จะเป็นร้านอาหารที่ตนเองเคยใฝ่ฝันไว้ และมีไอติมยักไปจำหน่ายในร้านด้วย
***สนใจติดต่อ 08-1948-4655 หรือที่ Facebook : ไอติมยัก***
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *