xs
xsm
sm
md
lg

'คาร์มาร์ท' ปฏิวัติธุรกิจขายเครื่องไฟฟ้าสู่ขาใหญ่“บิวตี้สโตร์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


'คาร์มาร์ท' (Karmart) นับว่าเป็น Beauty Store แบรนด์ไทยอีกแห่ง ที่มีการเติบโตทางธุกิจอย่างต่อเนื่อง ความน่าสนใจอีกอย่าง อยู่ตรงที่คนรุ่นแรกอย่าง “วิวัฒน์ ทีฆคีรีกุล” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คาร์มาร์ท จำกัด (มหาชน) ตัดสินใจเปลี่ยนจากธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ Distar ที่ทำมาร่วม 20 ปี มาสู่การจำหน่ายเครื่องสำอาง มีทั้งที่เป็นแบรนด์จากต่างประเทศ และแบรนด์ของตัวเอง ภายใต้แนวคิด “One Shop with Multi Brands” ได้อย่างถูกเวลา ถูกจังหวะ

“ชลธิดา ทีฆคีรีกุล” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานการตลาด คือ คนรุ่น 2 ที่ถูกวางตัวให้เข้ามาช่วยบริหารงานทางด้านการตลาดทันทีที่เรียนจบในระดับปริญญาโท และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่อทิศทางการทำธุรกิจมาโดยตลอด
“ชลธิดา ทีฆคีรีกุล” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานการตลาด ทายาทธุรกิจรุ่น 2
ชลธิดา ได้เล่าย้อนให้ฟังถึงแนวคิด และจุดยืนของบริษัท ในการสร้างแบรนด์ Karmart ขึ้นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

“ก่อนหน้านี้เราอยู่ในธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ Distar มานานกว่า 27 ปี เริ่มต้นธุรกิจตั้งแต่ปี 2525 สมัยนั้นเรามีโรงงานผลิตเป็นของตัวเอง โดยจะนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ต่างๆ เข้ามาประกอบเองในเมืองไทย เพื่อลดต้นทุนทางด้านของภาษี

ตอนแรกๆกิจการก็เป็นไปด้วยดี แต่ต่อมาในระยะหลัง มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางด้านภาษีนำเข้า คือกลายเป็น 0% การมีโรงงานผลิตเอง ไม่ได้ทำให้เราได้เปรียบคู่แข่งอีกต่อไป

อีกทั้งธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้ามันเป็นเรื่องของเทคโนโลยี ที่ต้องปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว อย่างในยุคนั้นโทรทัศน์ก็เริ่มเปลี่ยนไปเป็นจอแบนกันหมด ทำให้การแข่งขันยิ่งยากขึ้น ในขณะที่คู่แข่งก็มีมากขึ้น เลยเริ่มรู้สึกว่าไม่โอเคแล้วที่จะอยู่ในธุรกิจนี้ต่อไป ก็เลยหยุด และเริ่มมองหาธุรกิจใหม่

ในช่วงแรกๆ ก็ต้องบอกเลยว่าเราลองจับธุรกิจหลายตัวพร้อมกัน ทั้งรถ NGV, เครื่องสำอาง, เสื้อผ้า, ผลิตอาหารสำเร็จรูป คือ เราเองก็ยังไม่รู้ว่าธุรกิจไหนจะมา อันไหนทำแล้วจะรุ่ง ก็เลยลองหว่านไปหลายตัวพร้อมกัน

แต่ธุรกิจแรกที่เราลองจับจริงๆ ก็คือ ธุรกิจรถ NGV เนื่องจากช่วงนั้นค่าน้ำมันค่อนข้างสูง NGV ก็เป็นทางเลือกซึ่งค่อนข้างฮิตในช่วงนั้น เราก็ทำทั้งในส่วนของรถเมล์เหลือง รถปรับอากาศ รถตู้ รถกระบะ

ทีนี้ก็มองลึกลงไปว่า คนที่เขาซื้อรถไป ก็น่าจะสร้างรายได้จากรถได้มากกว่านี้ ก็เลยมองไปที่การเอาเครื่องสำอางมาวางขายบนรถ เป็นเหมือนการสร้างอาชีพให้กับลูกค้าที่มาซื้อรถของเราไปด้วย เหมือนพวกรถเร่ที่วิ่งขายของตามซอยบ้านแบบนี้ ซึ่งก็เป็นที่มาของชื่อบริษัท Karmart ที่ต้องการให้พ้องเสียงกับคำว่า “Car” สื่อถึงเครื่องสำอางที่ขายในรถ

แต่ทั้งนี้ธุรกิจ NGV มันมีเรื่องของสิ่งแวดล้อม และปัจจัยภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ รถ NGV ที่ทำก็เลยไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้ แต่กลายเป็นว่าธุรกิจเสริมอย่างเครื่องสำอาง กลับไปได้ดีกว่า เพราะเป็นสินค้าที่ขายได้ง่าย ก็เลยค่อยๆ ถอยออกจากธุรกิจ NGV และธุรกิจอื่นๆ แล้วหันมาทำเครื่องสำอางเต็มตัว มันก็ใช้เวลาพอสมควร ไม่ใช่อยู่ดีๆเปลี่ยนได้ปุปปับในทันที”

แนวคิดในการเข้าสู่ธุรกิจนี้ คือ การนำเข้าเครื่องสำอางมัลติแบรนด์จากประเทศทางแถบเอเชียอย่างเกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน เพื่อสร้างความหลากหลาย และเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันนี้มีให้เลือกมากกว่า 30 แบรนด์ กับสินค้ามากกว่า 3,000 รายการ

“เราเริ่มต้นธุรกิจนำเข้าเครื่องสำอางมัลติแบรนด์อย่างเต็มตัวเมื่อช่วงต้นปี 2553 ในตอนนั้นก็เริ่มมีคู่แข่งเยอะอยู่แล้ว ในท้องตลาดมีเครื่องสำอางอยู่หลายยี่ห้อ เจ้าใหญ่ๆก็ลงมาเล่นในธุรกิจนี้เยอะ

แต่เราไม่ได้นำเข้าสินค้าแบรนด์ที่เป็นแมสอย่างพวก etude, skinfood ที่มีคนนำเข้ากันเยอะแล้ว เราเลี่ยงไปหาสินค้าแบรนด์อื่นๆ เป็นทางเลือกที่ 3 ซึ่งมีให้เลือกเยอะมาก เริ่มต้นจากไปเดินหาสินค้าด้วยตัวเอง เอามาทดลองใช้กันเองก่อนว่าตัวไหนดี แล้วก็ไปติดต่อเพื่อนำเข้ามาจำหน่ายเอง

ทั้งนี้โมเดลธุรกิจที่วางไว้ ก็คือ เน้นช่องทางการจำหน่ายทุกช่องทาง เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากที่สุด ตอนนี้เรามีช่องทางจำหน่ายสินค้าทั้งหมด 5 ช่องทาง

หนึ่ง - เราเริ่มต้นจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องสำอางแบรนด์ต่างๆจากเอเชีย หรือการเป็น Traditional Trade โดยมากเป็นแบรนด์เครื่องสำอางจากประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น และจีน เป็นการนำเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะมีทั้งยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว ที่ทำร้านเครื่องสำอางเล็กๆ มารับสินค้าของเราไปขาย บางคนก็ขายแค่ทางเน็ตไม่มีหน้าร้านด้วยซ้ำ ตรงนี้เราถือว่าเป็นการสร้างอาชีพให้กับผู้ประกอบการในระดับ SMES อย่างแท้จริง

สินค้าของเรามีต้นทุนต่ำ คือ เราไม่ได้ทำการโปรโมท แต่เราเลือกนำสินค้าที่มีคุณภาพเข้ามาจำหน่าย ที่สามารถบวกมาร์จิ้นค่อนข้างน้อยได้ ก็เพราะตัดงบโฆษณาออกไป สินค้าที่เรานำเข้ามามันก็เลยสู้กับคู่แข่งได้ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพราะปกติแม่ค้าที่เขาเครื่องสำอาง เขาก็จะไปรับสินค้าที่มาบุญครองบ้าง เจ๊เล้งบ้าง อะไรอย่างนี้ เราก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับเขา

สอง - เรานำสินค้าเข้าโมเดิร์นเทรด, ไฮเปอร์มาร์เก็ต, มินิมาร์ท และร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-eleven ซึ่งโดยมากเป็นสินค้าที่ตัดสินใจซื้อได้ง่ายอย่างยาทาเล็บ บีบีครีม

สาม - การเปิดขายแฟรนไชส์ร้าน Karmart Shop ซึ่งในปัจจุบันนี้มีอยู่กว่า 80 สาขาทั่วประเทศแล้ว (ข้อมูล ณ ต้นเดือนตุลาคม 2556) ทางเราได้คิดค้นระบบปฏบัติการที่เรียกว่า POS ขึ้นมา เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ซื้อแฟรนไชส์ได้ใช้ระบบนี้ร่วมกันกับเรา ทุกอย่างจะถูกเชื่อมต่อเข้ากับบริษัทแม่ทั้งเรื่องสินค้า ราคา การจัดโปรโมชั่นต่างๆ สต๊อกสินค้า พูดง่ายๆว่าเป็นระบบการจัดการขายหน้าร้าน ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการทำงานได้ง่ายขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เงื่อนไขในการซื้อแฟรนไชส์ของเราก็ค่อนข้างเรียบง่าย เมื่อเทียบกับแฟรนไชส์เจ้าอื่น จะมีการลงทุนแค่ในเรื่องค่าดำเนินการ ขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่ เริ่มต้นที่ 20 ตร.ม. อยู่ที่ 55,000 บาท ถ้าเกินก็คิดตร.ม.ละ 1,000 บาท อันนี้เป็นค่าดำเนินการให้เรานำไปสำรวจพื้นที่ ออกแบบร้านค้า และก็ช่วยเซ็ทอัพร้านในวันแรกที่มีการเปิด มีการเทรนนิ่ง มีการอบรม

ถือว่าเราเก็บน้อยมาก ความจริงไม่ได้ตั้งใจจะเอากำไรจากในส่วนนี้อยู่แล้ว ทั้งหมดเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง และก็มีประกันสัญญา อีก 50,000 บาท นอกนั้นก็จะเป็นค่าตกแต่งร้าน และค่าสินค้า เพราะเราก็อยากร่วมงานกันยาวๆ
สี่ - ช่องทางขายออนไลน์ ตามเว็บไซต์

และห้า - การขายผ่านทีวีไดเร็ค และช่อง O-Shopping เราพยายามขยายช่องทางการจัดจำหน่ายลงไปให้ครบทุกช่องทางจริง”

อีกปัจจัยความสำเร็จของ Karmart อยู่ที่การพัฒนาสินค้า และสร้างแบรนด์ของตนเองขึ้นมาควบคู่ไปกับการนำเข้า โดยอาศัยความได้เปรียบทางด้านการผลิต ที่มีคอนเน็คชั่นที่ดีกับทางโรงงานที่ประเทศเกาหลี ทำให้ได้สินค้าที่ราคาไม่แพง และมีคุณภาพใกล้เคียงกับแบรนด์ชั้นนำของเกาหลี ภายใต้ชื่อแบรนด์ Cathy Doll

“หลังจากทดลองตลาดได้สักพัก เราก็เริ่มจับทางถูกแล้ว ว่าสินค้าตัวไหน หรือในแคทิกอรี่ไหน ที่เป็นทิศทางของเรา ก็เริ่มมีการผลิตและพัฒนาสินค้าขึ้นเอง ภายใต้ชื่อแบรนด์ Cathy Doll โดยใช้วิธีจ้างผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการของคนไทยโดยเฉพาะ

คือต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ความต้องการของสาวไทยกับสาวเกาหลีมันไม่เหมือนกัน คนเกาหลีเขาขาวโดยอากาศ โดยธรรมชาติ เขาไม่ได้ต้องการผลิตภัณฑ์ไวท์เทนนิ่ง แต่ปัญหาของเขาคือผิวหน้าเป็นริ้วรอยได้ง่าย ในขณะที่เมืองไทยอากาศร้อน ก็จะมีปัญหาผิวหมองคล้ำ และรูขุมขนกว้าง

สิ่งที่สาวๆเกาหลีมองหาในผลิตภัณฑ์สกินแคร์ คือ ช่วยในเรื่องรักษาความชุ่มชื้น เพราะผิวหน้าเขาจะแห้ง เกิดริ้วรอยได้ง่าย ในขณะที่สาวไทยมองหาสกินแคร์ที่บำรุงผิวขาว ลดหน้ามัน กระชับรูขุมขน ตรงนี้คือความต้องการที่แตกต่างกัน และเรามองว่าเป็นช่องว่างทางการตลาดที่จะสามารถสร้างแบรนด์ของตนเองขึ้นมาได้ถูกใจคนไทยมากกว่า

สำหรับวัตถุดิบที่ใช้กับแบรนด์ Cathy Doll นั้น ทั้งหมดเป็นวัตถุดิบที่มาจากประเทศเกาหลี ผ่านการทดลองจากห้องแล็ปที่เกาหลี โรงงานผลิตสินค้าส่วนใหญ่ก็อยู่ที่เกาหลีเลย มีแค่บางตัวเท่านั้นที่ผลิตในจีน และสินค้าในไลน์ที่ใช้วัตถุดิบจากมะหาด ซึ่งเป็นสมุนไพรของไทย ทำให้ต้องสั่งผลิตในโรงงานไทย แต่ก็เป็นส่วนน้อยมีแค่ 4-5 เอสเคยูเท่านั้น

เราจึงสามารถพูดได้เต็มปากว่า เครื่องสำอางแบรนด์ Cathy Doll คือแบรนด์ไทย คุณภาพระดับเดียวกับแบรนด์เกาหลี เพราะเราใช้วัตถุดิบตัวเดียวกัน โรงงานผลิตเดียวกัน ห้องแล็ปเดียวกัน กับแบรนด์ดังๆ แต่มีราคาที่แตกต่างกันค่อนข้างเยอะ เนื่องจากเราไม่มีต้นทุนทางด้านโฆษณา ต้นทุนค่าแบรนด์

กลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ Cathy Doll จะเป็นกลุ่ม B ที่ต้องการได้ของดีเทียบเท่ากับคนในระดับ A ซึ่งเราคิดว่ามาถูกทางแล้ว ในการที่ตั้งราคาสินค้าไม่สูงมาก เพราะเราเป็นแบรนด์น้องใหม่ การที่ตั้งราคาสินค้าไม่สูง มันช่วยให้คนตัดสินใจทดลองซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น

ส่วนเรื่องคุณภาพก็อย่างที่บอกไปแล้ว ว่าใช้วัตถุดิบ และโรงงานผลิตเดียวกันกับแบรนด์เกาหลีเลย เผลอๆยังใช้แล้วได้ผลดีกว่า เพราะเราเลือกส่วนผสมจากเนเจอร์ของคนไทย รู้ความต้องการของคนไทยมากกว่า เรื่องแพคเกจจิ้งเราก็สวย ทันสมัย เป็นอีกเรื่องที่เราให้ความสำคัญมาก ตอนแรกๆคนนึกว่าเป็นเครื่องสำอางแบรนด์เกาหลีด้วยซ้ำ”
และจากความสำเร็จของ Cathy Doll ทำให้ชลธิดา ตัดสินใจสร้างแบรนด์ใหม่ Baby Bright ซึ่งเน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายในระดับ C เป็นหลัก

“การสร้างแบรนด์ช่วยให้ธุรกิจเราโตได้เร็วขึ้น และมั่นคงกว่าในระยะยาว เมื่อผลตอบรับของ Cathy Doll มันดีมาก เลยตัดสินใจแตกไลน์สินค้าไปสู่แบรนด์ Baby Bright ตอนนี้สินค้ายังมีไม่กี่ตัว กำลังอยู่ในช่วงทดลองตลาด

สำหรับแบรนด์กลุ่มเป้าหมายจะเด็กลงมา มีความเป็นแมส เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น อาจจะเป็นกลุ่มวัยรุ่น นักเรียน วัยทำงานตอนต้น ที่มีรายได้อยู่ในระดับ C

ความแตกต่างของทั้ง 2 แบรนด์ ก็คือ Cathy Doll จะมีความเป็นฟังก์ชั่นการใช้งาน หรือมีลูกเล่นมากกว่า เช่น แคลเซียมดูดซับความมันบนใบหน้า, มูสสลายไขมัน, โคลนลอกสิวเสี้ยน, เอสเซ้นส์น้ำแตก ครีมบำรุงผิวหน้าที่จะมีน้ำแตกตัวออกมา หรือ CC ครีมที่มีค่า SPF สูงถึง 135 เหมาะกับสภาพอากาศของเมืองไทย

ในขณะที่ Baby Bright จะเป็นสินค้าที่เข้าใจง่าย อย่างครีมบำรุงผิว ครีมกันแดด มาร์กบำรุงผิวหน้า จะเป็นสินค้าที่เข้าใจง่าย ไม่ได้มีลูกเล่นอะไรมาก ราคาก็จะถูกลงมาอีก”

นอกจากช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าที่ครอบคลุมแล้ว เป้าหมายต่อไปของ Karmart คือ การรุกตลาดส่งออกไปในเทศแถบเอเชีย ซึ่งก็ได้เริ่มชิมลางไปยังประเทศเพื่อนบ้านบ้างแล้ว

“ตอนนี้เรามี Karmart Shop อยู่ในประเทศพม่า และเขมรแล้ว เป็นผู้ประกอบการที่นั่นติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์ไป อีกส่วนหนึ่งจะเป็นการนำสินค้าเข้าไปผ่านตัวแทนจำหน่ายของทั้ง 2 ประเทศ ส่วนเขาจะเอาสินค้าเราไปวางที่ไหนบ้างนั้น เรายังไม่รู้ เข้าใจว่าเป็นตามซูเปอร์มาร์เก็ต และโมเดิร์นเทรด

และในขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงการเจรจากับประเทศอื่น ทั้งเวียดนาม, สิงคโปร์, มาเลเซีย,จีน และลาว กำลังอยู่ในช่วงดูเอเย่นต์ และศึกษารูปแบบการทำตลาด ว่าแต่ละแห่งเหมาะกับการทำตลาดช่องทางไหน แต่ใจจริงก็อยากจะเข้าไปทั้ง 2 ช่องทาง คือ การเป็นเทรดดิชั่นนัลเทรด และการขายแฟรนไชส์


สิ่งที่ทำให้ Karmart เติบโตได้เร็ว ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง ชลธิดา บอกว่า “คงเพราะเราอยู่ถูกที่ ถูกเวลา ต่อให้สินค้าเราดีจริง คุณภาพสู้แบรนด์เกาหลีได้ แต่ถ้ามันไปอยู่ผิดที่ ผิดเวลา ผิดช่องทาง มันก็คงโตลำบาก

อย่างการนำสินค้าเข้าโมเดิร์นเทรด มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เราต้องมาศึกษาตลาด กลุ่มเป้าหมายของแต่ละห้างนั้นเป็นใคร แล้วเลือกสินค้าที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายของห้างนั้นๆ เพราะสินค้าเรามีมากกว่า 3,000 รายการ คงหว่านลงไปเยอะๆไม่ได้ ถ้าขายไม่ออกมันไม่มีประโยชน์

ส่วนความยากในการทำธุรกิจนี้ ก็ยังคงเป็นเรื่องการทำตลาดอยู่ดี จะทำอย่างไรให้สินค้าลงไปถึงผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ได้ จะทำแพ็คเกจจิ้งแบบไหน ให้คนเห็นสินค้าเราแล้วอยากซื้อไปใช้ จะตั้งราคาอย่างไรให้เหมาะสม ทั้งสำหรับแม่ค้าที่รับของเราไปขาย และกลุ่มลูกค้าบ้านที่จะซื้อไปใช้ ซึ่งที่ผ่านมา เราก็คิดว่าสามารถทำออกมาได้ดี”

ชลธิดา พูดถึงผลประกอบการว่า “ปี 2555 ที่ผ่านมายอดขายอยู่ที่ 709 ล้านบาท ส่วนปี 2556 โตขึ้นเกือบ 40% ประมาณ 850-900 ล้านบาท

เป้าหมายอื่นๆ ก็คือ เราเริ่มมองไปที่แบรนด์สินค้าสำหรับผู้ชายโดยเฉพาะ เพราะในปัจจุบันนี้ผู้ชายเริ่มหันมาดูแลตัวเองมากขึ้น โดยจะโฟกัสไปที่ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว กำลังอยู่ในช่วงศึกษาข้อมูลตัวผลิตภัณฑ์ และศึกษาคู่แข่งอยู่
รวมถึงการเป็นตัวแทนจำหน่ายแบรนด์ดังในระดับ A ของเกาหลี อย่างเช่น Missha และ Perri Pera โดยเฉพาะ Missha ซึ่งเป็นแบรนด์ที่มีราคาสูง เพื่อขยายฐานลูกค้าของ Karmart Shop ไปยังตลาดบน

นอกจากนั้นก็คงจะเป็นในเรื่องของการขยาย Karmart Shop ที่อยากจะขยายให้ได้ครบ 100 สาขา และการรุกตลาดต่างประเทศ ที่จะเห็นเป็นรูปร่างชัดเจนขึ้นในช่วงต้นปีหน้า”

สรุปแล้ว เป้าหมายหลักในการทำตลาด ชลธิดาวางแผนไว้ คือ การทำตลาดแบบ 360 องศา ให้ครอบคลุมทุกช่องทาง และต้องประสบความสำเร็จในทุกทางนั่นเอง

ชลธิดา ยังได้ฝากไปถึงผู้ประกอบการ ที่กำลังมองหาธุรกิจ หรืออาชีพเสริม “อีกเรื่องก็คือ อยากจะฝากไปถึงผู้ประกอบการ รวมถึงพนักงานประจำที่มองหารายได้เสริม อยากให้ลองศึกษาข้อมูลการทำธุรกิจเครื่องสำอางดู แล้วจะเห็นเลยว่ามันมีโอกาสอยู่มาก ผู้หญิงซื้อง่าย เพราะใครๆก็อยากให้ตัวเองดูดี มีผู้ประกอบการหลายคนที่เริ่มต้นมาพร้อมๆกับเรา เมื่อ 3 ปีก่อน ตอนนี้ขยายร้าน ขยายสาขา อยู่ได้สบายแล้ว

อย่าไปคิดว่าไม่เคยทำ แล้วจะทำไม่ได้ เราเองอยู่ในธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้ามากว่า 20 ปี ยังหันมาจับธุรกิจเครื่องสำอางจนประสบความสำเร็จได้ คนอื่นๆที่อยากจะมีธุรกิจ ก็สามารถเริ่มต้นได้ใหม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครเริ่มต้นทำก่อน ก็มีโอกาสสำเร็จก่อนเท่านั้นเอง” ทายาทธุรกิจ ทิ้งท้าย

Karmart ในวันนี้ สลับคราบจากแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้า เข้ามาสู่ธุรกิจเครื่องสำอางมัลติแบรนด์ได้อย่างเต็มภาคภูมิแล้ว 4ก็ต้องบอกว่ามาได้ถูกที่ ถูกเวลา และถูกกับจริตของสาวไทยจริงๆ

@@@@ ข้อมูลโดย นิตยสาร SMEs Plus @@@@

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น