แรงบันดาลใจจากหนังตะลุงการ ศิลปะการแสดงในท้องถิ่นที่คุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก และเมื่อเป็นอาจารย์สอนในระดับมหาวิทยาลัย ก็คิดนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยังความเป็นไทย และเสน่ห์ของหนังตะลุง หวังช่วยสืบสานให้เยาวชนคนรุ่นหลัง กับผลิตภัณฑ์ใกล้ตัวอย่าง โคมไฟ 3 มิติ จากหนังตะลุง “Talung Lamp” (ตะลุง แลมป์)
ด้วยความที่เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาการออกแบบอุตสาหกรรม สำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช “ผู้ช่วยศาสตราจารย์เรวัต สุขสิกาญจน์” จึงต้องคิดพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ รวมถึงต้องสอดคล้องกับวิถีชุมชน สามารถทำให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม สานต่อสู่อาชีพได้ ซึ่งในชุมชนชาวบ้านส่วนใหญ่จะมีฝีมือในการทำหนังตะลุง โดยเฉพาะด้านการตอกหนังตะลุงเป็นลวดลายต่างๆ
แต่นับวันหนังตะลุง เริ่มถูกลืมเลือนเหลือเพียงคนเฒ่าคนแก่ใช้เวลาว่างเล่นให้ลูกหลานดูเท่านั้น จากสัญญาณนี้เองทำให้อาจารย์เรวัต เริ่มเป็นกังวลถึงการเลือนหายไปของหนังตะลุงในอนาคต จึงคิดต่อยอดหนังตะลุง สร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ใกล้ตัว อย่าง โคมไฟ 3 มิติ เล่นแสงเงาจากการตอกลายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
“โดยส่วนตัวผมเป็นคนที่ชื่นชอบหนังตะลุงอยู่แล้ว เพราะเคยดูมาตั้งแต่เด็ก แต่เมื่อพบว่านับวันหนังตะลุงเริ่มถูกลืมเลือนไปจากคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญน้อยลง จึงคิดหาทางแก้ปัญหานี้ ด้วยการนำหนังมาให้ช่างฝีมือตอกลวดลายใหม่ๆ ออกมาเป็นแผ่นๆ แต่ตอนนั้นผมยังคิดไม่ออกว่าจะนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อะไรดี แต่เมื่อนำมาคิดเชื่อมกับหนังตะลุงที่มีเรื่องของแสงเงาเข้ามาเกี่ยวข้องจึงคิดถึงโคมไฟ จากนั้นจึงนำแผ่นหนังตอกลายมาจัดเรียง ทับซ้อนกลายเป็นโคมไฟ 3 มิติ ให้แสงไฟลอดออกมาตามช่องลาย ก็สร้างความสวยงามไปอีกแบบ”
จากฝีมือของช่างพื้นบ้านที่มีความเชี่ยวชาญในการทำหนังตะลุง ตอนนี้หันมาทำโคมไฟ 3 มิติ ตามลวดลายที่ได้รับมา แม้จะเป็นจำนวนไม่มากนัก แต่ก็ช่วยให้ช่างฝีมือเหล่านี้มีงานทำ และได้ฝึกฝนฝีมืออยู่ตลอดเวลา เน้นลวดลายจากหนังตะลุงตัวพระกับตัวนาง ทำให้มีความหรูหราขึ้น โดยขั้นตอนการทำโคมไฟ Talung Lamp จะใช้หนังที่มีความหนา 3 แบบ เพื่อให้แสงไฟลอดออกมาในระดับที่แตกต่างกัน คือ หนังชนิดบาง หนาระดับกลาง และหนาพิเศษ นำมาประยุกต์เข้ากับงานศิลป์ เป็นงานแฮนด์เมดล้วนๆ
จากนั้นนำแผ่นหนังแต่ละแผ่นมาประกบกัน 3 แผ่น และกางออกเป็นโคมไฟ เมื่อเลิกใช้งานก็สามารถพับเก็บได้ สะดวกแก่การขนส่ง ซึ่งในอนาคตอาจารย์เรวัติ จะออกแบบแพคเกจจิ้ง เพื่อมอบให้เป็นของขวัญ แต่หากให้ทำเป็นเชิงพาณิชย์เต็มตัวคงไม่ทำ เพราะถนัดเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่นักศึกษามากกว่า ซึ่งหากใครสนใจจะนำไปต่อยอดเป็นธุรกิจก็ไม่ว่ากัน
“ขั้นตอนการทำโคมไฟ Tulung Lamp จะใช้หนัง 3 แผ่นวางซ้อนและตอกลวดลายเข้าไป ซึ่งโคมไฟขนาดใหญ่จะทำได้ 1 อัน ส่วนขนาดเล็ก ทำใด้ 2 อัน/วัน ซึ่งช่างฝีมือจะคุ้นเคยกับการทำงานด้านนี้อยู่แล้ว ทำให้ใช้เวลาในการทำไม่นานนัก หรือหากใครที่สนใจก็สามารถนำไปใส่สีสัน หรือต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นได้ตามไอเดีย ส่วนราคายังไม่ได้ตั้งราคาที่ตายตัว เพราะยังออกเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบเท่านั้น คาดจะสามารถเจาะลูกค้ากลุ่มไฮเอนด์ได้”
ล่าสุดโคมไฟ Talung Lamp ไปคว้ารางวัลป็อบปูล่าโหวต จากการประกวดหัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์ ประจำปี 2557 (Innovative Craft Award 2014) ในเทศกาลนวัตศิลป์นานาชาติ 2557 (International Innovative Craft Fair 2014) จัดโดย ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT) เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
แนวคิดในการนำผลิตภัณฑ์ชุมชน มาเชื่อมโยงกับชาวบ้านของอาจารย์เรวัติ ถือว่าบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้ว หากใครจะนำไปสานต่อในเชิงพาณิชย์ และทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็ถือเป็นกำไรชีวิตสำหรับเรือจ้างคนนี้อีกต่อหนึ่ง
***สนใจติดต่อ โทร.0-7567-2515, 0-7567-2511-2***
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *