xs
xsm
sm
md
lg

5 หน่วยงานทุ่มสุดตัว ดันอุตฯ ฮาลาลเสิร์ฟมุสลิมอาเซียน 300 ล้านคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้บริหารทั้ง 5 หน่วยงาน จับมือเพื่อให้ความร่วมมือการส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพของ SMEs ในอุตสาหกรรมฮาลาล มุ่งสู่ AEC เวทีโลก
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยร่วมมือ 4 พันธมิตร ยกระดับฮาลาลสู่เวทีอาเซียน เตรียมระดมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การค้ำประกัน ที่ปรึกษาด้านส่งออก และพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลแบบครบวงจร เชื่อไทยเป็นศูนย์กลางส่งออกอาหารฮาลาลอาเซียนไม่ยาก พร้อมเสิร์ฟชาวมุสลิม 300 ล้านคน

ดร.ครรชิต สิงห์สุวรรณ์ รักษาการผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลเป็นกลุ่มอาหารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน และผู้ประกอบเอสเอ็มอีไทยมีศักยภาพด้านผลิตอาหารฮาลาลได้เป็นอย่างดี แต่ที่ผ่านมาจะพบว่าผู้ประกอบการหลายรายยังขาดแหล่งเงินทุนที่ตรงตามข้อบังคับในการผลิตอาหารฮาลาล ขณะที่ไอแบงก์เป็นสถาบันการเงินที่ฮาลาล 100% เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย จึงมีแนวคิดที่จะให้การช่วยเหลือเอสเอ็มอีดังกล่าวตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเพื่อความครบวงจร

ดังนั้นไอแบงก์จึงได้ร่วมมือกับ 4 องค์กรหลัก ได้แก่ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.), ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK), สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนา สนับสนุน ส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และการส่งออกในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดสากลได้อย่างเข้มแข็ง

ทั้งนี้ไอแบงก์ ให้การสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการฮาลาลด้วยวงเงิน 2,000 ล้านบาท ประกอบด้วยวงเงินด้านการค้าต่างประเทศและวงเงินสินเชื่อธุรกิจ ด้วยอัตรากำไรสินเชื่อต่ำ (SPR-1 - SPR-0.5 ประมาณ 7.5-7.0%) คาดภายในปีนี้จะปล่อยเงินกู้ได้อย่างน้อย 80% โดยอาหารที่มีศักยภาพส่งออกได้คือ กุ้งแช่แข็ง และปลาทูน่า ส่วน บสย.ให้การค้ำประกันสินเชื่อ SME Halal Trade ด้วยวงเงินรวม 1,000 ล้านบาท วงเงินค้ำประกันสูงสุด 40 ล้านบาท/ราย ในอัตราค่าธรรมเนียมการค้ำประกันพิเศษร้อยละ 1.50 ของวงเงินค้ำประกัน ในระยะเวลา 10 ปี

ขณะที่ EXIM BANK ให้บริการด้านการประกันการส่งออกภายใต้โปรแกรม EXIM 4 SMEs ซึ่งออกแบบมาเพื่อผู้ส่งออกเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ ด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ และให้ความคุ้มครองสูงสุดถึง 90% ของความเสียหาย นอกจากนี้ ในส่วนของ สสว. และสถาบันอาหาร จะเน้นการให้ความรู้ พร้อมเป็นที่ปรึกษาด้านการผลิต การตลาด และวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลให้พร้อมกับการแข่งขันในตลาดโลก

ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลถือเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยมีประชากรอาเซียนกว่า 50% หรือประมาณกว่า 300 ล้านคนเป็นชาวมุสลิม และยังมีประชากรมุสลิมทั่วโลกอีกกว่า 1,600 ล้านคนที่มีความต้องการสินค้าและบริการที่ได้รับอนุมัติ (HALAL) ตามหลักศาสนาอิสลาม เนื่องจากเป็นเครื่องหมายรับรองความสะอาดและปลอดภัยต่อการบริโภคและอุปโภค

“การผนึกกำลังในครั้งนี้เชื่อจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยและสามารถผลักดันยุทธศาสตร์ภาครัฐในการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถพัฒนาธุรกิจของตนเอง เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมฮาลาลได้เป็นอย่างดี” ดร.ครรชิตกล่าวทิ้งท้าย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น