น้อยคนนักที่จะทราบว่าดินสอพองสินค้าเพิ่มความสนุกช่วงสงกรานต์จะเต็มไปด้วยเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา ที่ก่อให้เกิดผด ผื่น แดงตามตัว ทำให้ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ใหม่เกิดขึ้นในตลาดอย่าง “ดินสอพองปลอดเชื้อ” ด้วยการฉายรังสี ผลงานวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ นอกจากจะทำให้ผู้บริโภคปลอดภัยแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางเพิ่มรายได้แก่ผู้ประกอบการด้วยผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างแบบไร้คู่แข่ง
คำว่า “ดินสอพอง” กับ “รังสีแกมมา” ดูเหมือนจะไปด้วยกันไม่ได้ และไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน แต่แท้จริงแล้วหากมองในแง่ความปลอดภัยถือว่ารังสีแกมมามีประโยชน์มาก น้อยคนนักที่จะรู้ว่าดินสอพองที่ใช้ในช่วงสงกรานต์ล้วนเต็มไปด้วยเชื้อโรคกว่า 30 ชนิด ที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้แก่ผิวหนัง
ดังนั้นทีมงานสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ นำโดย ดร.สมพร จองคำ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการฉายรังสีในอาหารส่งออกมายาวนาน เห็นถึงความสำคัญของดินสอพองที่คนไทยไม่ได้ใช้แค่เพียงเทศกาลสงกรานต์เท่านั้น แต่ในวงการเครื่องสำอางก็นำมาใช้อยู่ไม่น้อย โดยมีผู้ประกอบการด้านธุรกิจสปา และความงาม นำดินสอพองมาฉายรังสีเป็นประจำ
แต่สำหรับดินสอพองที่ใช้ในเทศกาลสงกรานต์บรรดาขาจรเลือกใช้ดินสอพองสร้างความสนุกสนานเป็นจำนวนมาก หลายคนเกิดผดผื่นโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งความจริงแล้วเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในดินสอพอง วิธีแก้ปัญหานี้อย่างง่ายคือการนำมาฉายรังสีแกมมา ที่สถาบันฯ โดยที่ผ่านมามีผู้ประกอบการหลายที่เห็นถึงความสำคัญดังกล่าว และต้องการเพิ่มมูลค่าแก่สินค้า ซึ่งหมายรวมถึงรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นอีกด้วย จากชื่อที่ระบุบนฉลากสินค้าว่า “ดินสองพองปลอดเชื้อ”
“สถาบันฯ เราได้ให้บริการฉายรังสีอิเล็กตรอนในอาหารมาหลายปี โดยเฉพาะผู้ประกอบการด้านอาหารส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งการฉายรังสีจะช่วยฆ่าเชื้อโรค และแมลงต่างๆ โดยไม่ทิ้งสารตกค้างในอาหารและผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นรังสีที่ทั่วโลกให้การยอมรับ โดยปีๆ หนึ่งเราให้บริการฉายรังสีอาหาร พืชผัก เพื่อส่งออกหลายหมื่นตัน แต่สำหรับดินสอพองจะใช้รังสีแกมมาที่สามารถทะลุทะลวงได้ดี และราคาถูกกว่าแทน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการในวงการเครื่องสำอาง”
เป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปีที่ผู้ประกอบการ และเจ้าของบ่อดินสอพองเริ่มตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคที่นำดินสอพองมาใช้ในเทศกาลสงกรานต์ นิยมนำมาฉายรังสีกันมากขึ้น เพื่อนำไปบรรจุใส่ถุงขายอีกทอดหนึ่ง หรือนำไปจำหน่ายแก่วงการเครื่องสำอาง โดย “เกศนีย์ พงษ์ไทยพันธ์” หรือที่รู้จักกันในนามของ “เก๋ ดินสอพองลพบุรี” เจ้าของบ่อดินสอพอง จ.ลพบุรี ที่นำดินสอพองมาฉายรังสีแกมมา กับสถาบันฯ เล่าว่า ตนก็เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่นำดินสอพองมาฉายรังสีกับ สทน. เพราะเห็นว่าสามารถเพิ่มมูลค่าให้ดินสอพอง โดยเฉพาะหากนำไปใช้ในวงการเครื่องสำอางที่มีตลาดรองรับอยู่แล้ว ผู้ประกอบการด้านเครื่องสำอางยินดีจ่ายในมูลค่าที่มากกว่าเพื่อแลกกับความปลอดภัยของลูกค้าเพื่อนำผลิตภัณฑ์ไปใช้กับผิวหน้า
“ก่อนอื่นต้องเข้าใจประเภทของดินสอพองก่อน ที่สามารถแบ่งได้ 3 เกรดใหญ่ๆ ตามการนำไปใช้งาน คือ 1. ใช้ในภาคอุตสาหกรรม เช่น สกัดน้ำมันปาล์ม ปุ๋ย กำจัดวัชพืช 2. สำหรับเล่นสงกรานต์ หรือใช้งานทั่วไป และ 3. ใช้ในวงการเครื่องสำอาง ต้องเน้นที่ความสะอาด ด้วยการนำมาฉายรังสี ตกอยู่ประมาณกิโลกรัมละ 20 บาท ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการใน จ.ลพบุรีส่วนน้อยที่ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ เพราะคิดว่าเป็นการเพิ่มต้นทุนโดยไม่จำเป็น ของเดิมๆ ก็ขายได้อยู่ที่กิโลกรัมละ 5 บาท แต่หากนำไปฉายรังสีราคาจะพุ่งไปที่ 30 บาท/กก. ทำให้ชาวบ้านมองข้ามเรื่องคุณภาพไป”
แต่สำหรับเกศนีย์กลับมองว่าปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ข้อมูลข่าวสารกระจายทั่วถึง ผู้คนใส่ใจในสุขภาพมากขึ้น ดังนั้นผลิตภัณฑ์ต้องปลอดภัย โดยเฉพาะสินค้าประเภทสปาที่ไทยมีชื่อเสียงไปทั่วโลก ต่างชาตินิยมนำดินสอพองมาพอกตัวเพื่อดูดซับความร้อนตามร่างกาย จุดเด่นเหล่านี้เธอเชื่อว่าจะกลายเป็นจุดขายสำคัญในอนาคตที่จะทำให้ทรัพย์ในดินอย่าง “ดินสอพอง” กลายเป็นทองคำได้
ผู้สนใจสามารถนำดินสอพอง หรือผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ มาฉายรังสีได้ ที่ศูนย์ฉายรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ตั้งอยู่ที่คลองห้า อ.คลองหลวง ปทุมธานี โทร. 0-2401-9889 ต่อ 6102-5 หรือ 0-2577-4168
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *