xs
xsm
sm
md
lg

เปิดวิชันรุกตลาด “สปป.ลาว” ของทายาท “เย็นตาโฟเครื่องทรง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชยพล หลีระพันธ์
“มัลลิการ์ อินเตอร์ ฟู๊ด” ภายใต้การบริหารของ “ชยพล หลีระพันธ์” ทายาทคนโตของ “ณรัตน์ไชย และมัลลิการ์ หลีระพันธ์” ที่ถูกวางบทบาทให้เข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัว ตั้งธงชัดเจนว่าจะขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ โดยได้เริ่มขับเคลื่อนแล้ว ตั้งแต่เมื่อต้นปี 2556

ปัจจุบันกลุ่มร้านอาหารในเครือข่ายมัลลิการ์ อินเตอร์ ฟู๊ด มีอยู่ 24 สาขา จากทั้งหมด 5 แบรนด์ แบรนด์แรกได้แก่ ร้าน “อ.มัลลิการ์” ร้านอาหารไทยสำหรับครอบครัว ย่านเกษตร-นวมินทร์ แบรนด์ต่อมาคือ “เรือนมัลลิการ์” ร้านอาหารไทยระดับพรีเมียม มี 2 สาขา คือ สาขาสุขุมวิท และสาขา CDC

แบรนด์ที่ 3 จะเป็นแบรนด์ที่คนรู้จักเยอะที่สุด “เย็นตาโฟเครื่องทรง” เพราะกระจายตัวอยู่ตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วไปกว่า 20 สาขา โดยมีเย็นตาโฟเป็นตัวชูโรง และอาหารไทยในประเภท Quick Service แบรนด์ที่ 4 คือ “ปาป้าปอนด์ พิซซ่า พาย แอนด์” พาสตา พิซซาหน้าไทย ที่ขยายไปแล้วกว่า 3 สาขา ทั้งเกษตร-นวมินทร์, เอสพลานาด แคลาย และเมเจอร์ รังสิต และแบรนด์ที่ 5 “ปังยิ้ม” ร้านเบเกอรี และคอฟฟี่เบรก
ร้านเย็นตาโฟเครื่องทรง เปิดใน สปป.ลาว
เมื่อทั้ง 5 แบรนด์มีการบริหารที่ลงตัวแล้ว เป้าหมายต่อไปคือ การขยายตลาดไปยังต่างประเทศ โดยเริ่มต้นจากลาวเป็นแห่งแรก เนื่องจากมีวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่ใกล้เคียงกับคนไทยมากที่สุด และยังสะดวกเรื่องการขนส่ง

ชยพลได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการขยายธุรกิจไปยังประเทศลาวว่า “ที่จริงมีคนติดต่อเข้ามาหลายประเทศ จะให้เราเข้าไปเปิดสาขา แต่ที่เลือกลาวเป็นประเทศแรกเพราะว่าโอกาสทางธุรกิจและความง่ายในการสื่อสาร เนื่องจากคนลาวรับวัฒนธรรมไทยไปเต็มๆ เขาใช้สินค้าไทย ดูทีวีไทย

ฉะนั้นโอกาสที่เขาจะรับรู้ถึงแบรนด์ไทยมันมีมากกว่า จะเห็นได้ว่าที่ลาวตอนนี้มีทั้งแบล็คแคนยอน, ฟูจิ, โคคา, นีโอสุกี้ ไปเปิดแล้ว ซึ่งก็เป็นแบรนด์ไทยทั้งนั้น หรือกระทั่งพวกสินค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องกรองน้ำยี่ห้อดังๆในประเทศไทยก็ไปเปิด สินค้าอุปโภคบริโภค โออิชิก็มีที่ลาว อิชิตันมีแจกทองแยกจากประเทศไทยเลยนะ

เราดูแล้วว่ามีโอกาส จึงตัดสินใจไปเปิดร้าน 2 สาขา สาขาแรกเป็นแบรนด์ อ.มัลลิการ์ ที่สนามกอล์ฟลองเวียง อยู่ติดกับด่านหนองคาย เส้นสะพานมิตรภาพไทย-ลาว เป็นการร่วมหุ้นกับนักธุรกิจชาวเวียดนามเจ้าของสนามกอล์ฟ
ทางเขาลงทุนค่าก่อสร้างให้ทั้งหมด เราลงทุนแค่อุปกรณ์ภายในร้าน และบุคลากรทางด้านแรงงาน เลยทำให้การลงทุนไม่เยอะมาก อยู่ที่ประมาณ 2 ล้านบาท

สาขานี้เปิดให้บริการไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับที่ดี กลุ่มเป้าหมายจะเป็นชาวต่างชาติที่อยู่ในลาว และคนไทยที่ข้ามฝั่งไปเล่นกอล์ฟ และจะมีกรุ๊ปทัวร์มาลงด้วย ช่วงเดือนตุลาคม-มีนาคมจะเป็นฤดูหนาว ซึ่งถือว่าเป็นช่วงไฮซีซัน อากาศจะดี เย็นสบาย คนจะมาเล่นกอล์ฟกันเยอะ ยอดขายของเราก็ย่อมดีขึ้นตามไปด้วย

ส่วนสาขาที่ 2 จะเป็นแบรนด์เย็นตาโฟเครื่องทรงที่เราลงทุนเอง 100% เปิดขายในปั๊ม ปตท.สาขาโพนต้อง สาขานี้ผลตอบรับดีกว่าสาขาแรกเพราะอยู่ตรงข้ามกับกรมป่าไม้ ซึ่งเป็นสถานที่ราชการ ผู้คนเลยพลุกพล่านทั้งคนลาวและคนไทย รวมถึงชาวต่างชาติที่มาติดต่อราชการ ทำให้ยอดขายสาขานี้ดีมาก ทั้งๆ ที่เพิ่งเปิดขายเมื่อเดือนกันยายน ปีที่ผ่านมานี้เอง”

สำหรับสภาพโดยรวมของตลาดประเทศลาวนั้น ชยพลเล่าว่า คนลาวมองว่าสินค้าไทยคุณภาพดีกว่าสินค้าจีน ซึ่งกลายเป็นสินค้าที่วางขายกันจนล้นตลาดที่ลาวในขณะนี้

“คนลาวมองว่าสินค้าจีนคุณภาพไม่ค่อยดี โดยเฉพาะสินค้าประเภทแฟชั่น รวมไปถึงอาหารและของใช้ในชีวิตประจำวันทุกอย่าง เครื่องอุปโภคบริโภคของไทยจะดีกว่า มีคุณภาพ และมีมาตรฐานที่สูงกว่า คนไทยใช้ทีวียี่ห้อซัมซุง คนลาวก็ใช้ซัมซุงเหมือนกัน ที่เราจะแพ้ก็น่าจะเป็นเครื่องจักร พวกงานอุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์เหล็ก ที่อาจจะยังสู้จีนไม่ได้

ส่วนสภาพเศรษฐกิจนั้น คนลาวจะมีความแตกต่างทางชนชั้นสูงมาก ที่จนก็จนมาก ที่รวยก็รวยมาก ดังนั้นการจะเข้าไปทำตลาดที่ลาวจะต้องศึกษาถึงกลุ่มเป้าหมายให้ดี จะเห็นว่าเราไปเปิดสาขาที่สนามกอล์ฟ และปั๊ม ปตท.เนื่องจากถือว่าเป็นปั๊มหรูของคนลาว คนที่เข้ามาใช้บริการก็จะขับรถหรู เป็นพวกคนรวยที่กินอาหารดีๆ แพงๆ เราก็เลือกจับคนกลุ่มนี้

และจากการพูดคุย สอบถามคนลาวที่นี่ เขาจะบอกว่าคนไทยทำอาหารแซบ ทำอาหารอร่อย และสะอาด ทั้งเรื่องการจัดร้าน และอาหาร คือคนลาวเขายังทำอาหารกินแบบง่ายๆอยู่ ไม่ค่อยได้ใส่ใจในเรื่องนี้ แต่เนื่องจากเราเปิดร้านอาหารในห้างมาเยอะ เราจึงมีมาตรฐานของตนเอง ไม่ว่าจะไปเปิดร้านที่ประเทศไหนก็ต้องทำให้ได้ตามมาตรฐาน ซึ่งในมุมมองของเขามันดูสะอาดสะอ้าน น่าเข้ามาใช้บริการ

อีกทั้งร้านเย็นตาโฟเครื่องทรงของเราก็มีจุดเด่นที่แตกต่างจากคนอื่น เอาเป็นว่าคนอื่นเขาทำตัวซอสเย็นตาโฟจากข้าวหมักสีแดง เขาก็จะใส่แต่ตัวนั้นตัวเดียวเพียวๆ เลย แต่เย็นตาโฟของเรา นอกจากใส่ข้าวแดงแล้วเรายังใส่เต้าหู้ยี้สีแดงเข้าไปผสมด้วย ช่วยให้มีกลิ่นที่หอม และมีรสชาติที่กลมกล่อมมากขึ้น ซอสแดงนี่ถือเป็นจุดเด่น เป็นเอกลักษณ์ของเราเลย

ส่วนเรื่องเมนูอาหาร และราคาขายนั้น ทั้งสองร้านจะใช้เมนูและราคาเดียวกันกับร้านในเมืองไทย อย่างเย็นตาโฟเครื่องทรงก็จะเริ่มต้นที่ชามละ 80 บาท เรื่องรสชาติก็ไม่จำเป็นต้องดัดแปลงอะไร เพราะกินรสเดียวกัน และราคา 80 บาทก็ไม่ถือว่าแพงสำหรับร้านอาหารในลาว จริงอยู่ที่ว่าค่าครองชีพเขาต่ำกว่าเรา แต่ในทางกลับกันร้านอาหารในลาวขายอาหารแพงกว่าในไทยอีก อาหารจานเดียวที่ลาวราคาเริ่มต้นที่ 80-100 บาท ไม่ว่าจะเป็นร้านข้างถนน หรือร้านเพิง ซึ่งเขาไม่ได้มองว่ามันแพง คนนั่งกินกันเต็มร้าน

ส่วนเรื่องที่อาจจะมีปัญหาบ้างก็คือเรื่องวัตถุดิบ ที่ลาววัตถุดิบคุณภาพยังไม่ค่อยดี ผักอาจจะมีคุณภาพดี แต่ว่าพวกเนื้อสัตว์ พวกนม ของแห้งหลายๆ อย่างคุณภาพค่อนข้างต่ำ

เพราะฉะนั้นบางอย่างก็ต้องนำเข้าจากประเทศไทย หรืออย่างอาหารทะเลนี่ยิ่งหาได้ยาก มีน้อยมาก และราคาสูง ก็ต้องนำเข้าจากประเทศไทยไป ถึงแม้จะมีค่าขนส่งที่เพิ่มเข้ามา แต่ก็สามารถทดแทนได้ เพราะค่าแรงที่ลาวถูกกว่าในไทย เราสามารถจ้างพนักงานในระดับเด็กเสิร์ฟได้ในราคา 4,000 บาทต่อเดือน ถ้าระดับผู้จัดการก็ประมาณ 8,000 บาทต่อเดือน ซึ่งถูกกว่าที่ไทยเยอะ เพราะตอนนี้ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาทแล้ว รายเดือนขั้นต่ำก็ 9,000 บาท จ้างพนักงานที่ลาวได้ 2 คนกว่า

ในเรื่องของการบริหารจัดการ เราใช้ผู้จัดการคนไทย และก็ส่งทีมเทรนเนอร์เข้าไปทุกเดือน เดือนละประมาณ 7-8 คนเพื่อเข้าไปเทรนพนักงาน เพราะพนักงานที่ลาวจะมีการเข้าออกตลอด ค่อนข้างจะเทิร์นโอเวอร์บ่อยเพราะเขายังไม่คุ้นชินกับระบบงานของเรา

ด้วยระบบราชการของลาว เขาจะต้องมีการพักช่วงบ่าย พอทำงานช่วงเช้าเสร็จปุ๊บ กินข้าวหนึ่งชั่วโมง นอนอีกหนึ่งชั่วโมง ต้องเป็นแบบนั้น เพราะใช้ระบบฝรั่งเศสมัยก่อน คนลาวก็จะคุ้นชินกับระบบแบบนี้ ซึ่งพอเราทำงานแบบไม่มีพัก บางคนก็รับไม่ได้ ก็ลาออกไป ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องการพักนี่ล่ะที่ทำให้เกิดปัญหา

แต่ถ้าเป็นพวกเด็กวัยรุ่น หรือพวกคนรุ่นใหม่เขาจะเข้าใจกับระบบของเราว่ามันเป็นสากล พวกนี้จะไม่มีปัญหา ไม่จำเป็นต้องพักก็ได้ แต่ถ้าเป็นพวกอายุเยอะหน่อยก็จะเจอปัญหานี้เหมือนกันหมด ก็ถือว่าเป็นวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เราก็ต้องค่อยๆ ปรับปรุงไป ต้องอธิบายว่าระบบของเราเป็นอย่างนี้ ซึ่งถ้าคุณรับไม่ได้ก็คงทำงานร่วมกันไม่ได้”
บรรยากาศร้านที่เปิดในเมืองไทย
จากความสำเร็จของแบรนด์เย็นตาโฟเครื่องทรง ชยพลจึงตั้งธงในการขยายกิจการเพิ่มอีก 1 สาขา ที่ปั๊ม ปตท.อำเภอชัยธานี ซึ่งเป็นทางผ่านในการไปสถานที่ท่องเที่ยวเขื่อนน้ำงึม คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือนธันวาคม และตั้งใจจะขยายต่อไปจนครบ 5 สาขา ในประเทศลาว ซึ่งแต่ละสาขาจะใช้งบประมาณในการลงทุน 3 ล้านบาท

“เป้าหมายเรื่องการขยายสาขาในลาว ตั้งเป้าไว้ไม่เกิน 5 สาขาภายในระยะเวลา 2-3 ปี คงจะไม่เปิดมากกว่านี้แล้ว ส่วนทางด้านแบรนด์ อ.มัลลิการ์ ยังไม่มีเป้าหมายในการขยายสาขาเพิ่ม เพราะต้องใช้งบประมาณในการลงทุนสูงกว่า และต้องใช้วัตถุดิบที่หลากหลายกว่า ทำให้ยุ่งยากกว่าเย็นตาโฟเครื่องทรง

เรื่องขยายการลงทุนในประเทศอื่นนั้น ตอนนี้ก็มีมองๆ อยู่บ้าง เราได้รับการติดต่อจากประเทศสิงคโปร์มาค่อนข้างนานแล้ว ลักษณะเป็นการร่วมทุนกัน ติดอยู่ที่ความพร้อมของเราเอง เนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศที่มาตรฐานสูง เราจะต้องปรับปรุงโรงงานให้ได้มาตรฐานสากลมากขึ้นในทุกๆ ด้าน ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงของการปรับปรุงโรงงานเพื่อเตรียมความพร้อม

อีกประเทศหนึ่งที่มีติดต่อเรามาคือ พม่า แต่ข้อเสียของพม่าคือ การขนส่ง ขนส่งทางเรือก็ช้าไป ขนส่งไปทางรถ การเดินทางจากประเทศไทยไปพม่าก็ค่อนข้างลำบาก หลายๆ เจ้าตัดปัญหาตรงนี้โดยการขนส่งทางเครื่องบิน ทำให้มีค่าขนส่งสูงมาก แต่อย่างสิงคโปร์นี่มันอยู่ไกล อย่างไรก็ต้องเครื่องบินอยู่แล้ว มันก็เป็นต้นทุนที่เรารู้ล่วงหน้า

แต่สำหรับคนที่จะไปทำธุรกิจพวกเครื่องอุปโภคบริโภคนี่มันสามารถส่งไปทางเรือได้ อันนี้เหมาะมาก สมควรที่จะไป แต่อาหารสดมันส่งทางเรือไม่ได้ ตลาดพม่าเราก็เลยยังพักไว้ก่อน”

หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า มัลลิการ์ อินเตอร์ ฟู๊ด เลือกขยายธุรกิจโดยการลงทุนเอง ไม่ขายแฟรนไชส์ ชยพลบอกว่า

“หลายคนก็ถามเราว่าทำไมไม่ขายแฟรนไชส์ ทำไมต้องลงทุนเองทั้งหมด นั่นก็เป็นเพราะว่าประเทศเราไม่มีกฎหมายแฟรนไชส์ ทุกคนขายแฟรนไชส์โดยที่ไม่รู้กฎหมาย ใครที่อยากขายแฟรนไชส์ก็แค่คิดระบบขึ้นมาแล้วขายเลย แต่ไม่ได้คิดถึงเวลาที่มีปัญหา ประเทศไทยเวลามีปัญหาปุ๊บ เราใช้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งทำให้ผู้ขายแฟรนไชส์เสียเปรียบ เพราะฉะนั้นถ้าคิดจะขายมันขายได้ คนซื้อก็มี แต่เวลาทะเลาะกันคนที่ขายแฟรนไชส์เสียเปรียบตลอด เนื่องจากกฎหมายที่ใช้เป็นกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ทางบริษัทเลยมองว่าตราบใดที่บ้านเรายังไม่มีกฎหมายแฟรนไชส์ในประเทศ เราก็จะไม่ขายแฟรนไชส์”

เมื่อถามถึงโอกาสของผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในลาว ชยพลฟันธงว่ายังสดใส แต่ต้องมองให้รอบด้าน ถึงแม้ลาวจะมีวัฒนธรรมการกินอยู่ และรสนิยมที่ใกล้เคียงกับคนไทยมาก แต่ก็มีข้อเสียที่ต้องพึงระวังด้วยเช่นกัน

“ข้อด้อยของประเทศลาวคือ เรื่องกฎหมาย ยังไม่มีความชัดเจน และพึ่งพาระบบข้อราชการมากจนเกินไป ทำให้เกิดการคอร์รัปชันได้ง่าย

ถ้าเกิดธุรกิจในระดับ SMEs ต้องการจะเข้าไปลงทุนจริงๆ แนะนำให้หาพาร์ตเนอร์คนลาว หรือพาร์ตเนอร์ที่เขาทำธุรกิจในลาวมาก่อน เขาจะช่วยคุณได้เยอะมาก เพราะขั้นตอนการยื่นเรื่อง การติดต่อกับราชการยากมาก และไม่เป็นไปตามระเบียบ บางคนเสียเงินไปแล้วหลายล้านยังไม่ได้เปิดร้านก็มี

และที่สำคัญเลย คนลาวเขาค่อนข้างจะแอนตี้คนไทย อาจเป็นเพราะคนไทยไปดูถูกเขาเยอะ จะพูดจาอะไรต้องระวัง เพราะเขาฟังภาษาเรารู้เรื่อง อ่านออกด้วย คือเขายอมรับสินค้าไทยจริง แต่อาจจะยังไม่ยอมรับคนไทย เพราะคิดว่าเราไปดูถูกเขา ไปกลืนกินวัฒนธรรมของเขา

อย่างป้ายหน้าร้านนี่ติดภาษาไทยไม่ได้เลย เขาบังคับว่าต้องเป็นภาษาลาวกับภาษาอังกฤษเท่านั้น ถ้าเราไปติดภาษาไทย ทางการจะสั่งให้เอาออกเลย ต้องแสดงให้เห็นว่าเราให้เกียรติเขา ถึงจะขายของ ถึงจะทำธุรกิจด้วยกันได้”

นอกจากได้รู้กลยุทธ์ในการมองตลาดลาวแล้ว ชยพลยังแชร์ประสบการณ์ตรงในการทำธุรกิจได้หลากหลายแง่มุม เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการที่สนใจจะเข้าไปลงทุนในลาวอย่างมาก

@@@@ ข้อมูลโดย นิตยสาร SMEs Plus @@@@

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น