สสว.โชว์ผลการดำเนินโครงการยกระดับ OTOP สู่ SMEs เป็นตามเป้าหมาย ฟุ้งยกระดับผู้ประกอบการ OTOP ต้นแบบสู่ SMEs ได้กว่า 59 รายที่กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ สร้างยอดขายและคำสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศกว่า 20 ล้านบาท พร้อมเตรียมโครงการส่งเสริมและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
นายชาวันย์ สวัสดิ์-ชูโต รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า โครงการยกระดับผู้ประกอบการ OTOP ที่มีศักยภาพ ก้าวไปสู่ SMEs ระยะที่ 2 เป็นโครงการที่ สสว.ได้รับความเห็นชอบจากคณะทำงานยกระดับผู้ประกอบการ OTOP ไปสู่ผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งคณะทำงานฯ ประกอบไปด้วย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) และสำนักปลัดกระทรวงพาณิชย์ (สป.พณ.) เพื่อต่อยอดการพัฒนาผู้ประกอบการ OTOP ที่มีศักยภาพในแต่ละจังหวัด ให้ได้รับการพัฒนาและส่งเสริมแนวทางเพื่อให้สามารถผลักดันไปสู่ความเป็นผู้ประกอบการแบบมืออาชีพ
“ที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีกระบวนการคัดสรรสุดยอดผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย (OTOP Product Champion : OPC) โดยมีการจัดระดับผลิตภัณฑ์ OTOP เป็นระดับ 1-5 ดาว และสนับสนุนให้มีการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการผลิต การบริหารจัดการ การพัฒนาตลาดและผลิตภัณฑ์ แต่การดำเนินการยังอยู่ในขอบเขตที่จำกัด ผู้ประกอบการ OTOP ยังไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพได้ และไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีโครงการที่มาต่อยอดการพัฒนาผู้ประกอบการ OTOP ที่มีศักยภาพในการประกอบการในแต่ละจังหวัด ให้ได้รับการพัฒนาส่งเสริมในแนวทางที่จะสามารถผลักดันไปสู่ความเป็นผู้ประกอบการแบบมืออาชีพ” นายชาวันย์ กล่าว
ทั้งนี้ โครงการยกระดับผู้ประกอบการ OTOP ที่มีศักยภาพ ก้าวไปสู่ SMEs ระยะที่ 2 สสว. ได้รับความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ ในการคัดเลือกผู้ประกอบการ OTOP ที่ได้รับการคัดสรรให้เป็นสุดยอดผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย หรือ OPC ระดับ 4-5 ดาว ในกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม ผ้า เครื่อแต่งกาย ของใช้ของประดับ ของตกแต่ง และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร ที่กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ รวม 59 ราย ที่ต้องการพัฒนาไปสู่การประกอบการที่มีระบบ โดยพิจารณาจากผู้ประกอบการที่เมื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนาแล้วสามารถช่วยสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ สังคม หรือวัฒนธรรมให้เกิดในชุมชนได้
“สสว.ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากหน่วยร่วมดำเนินการ และผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ทำให้โครงการฯ สามารถพัฒนาผู้ประกอบการ OTOP ที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้ง 59 ราย ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ สามารถสร้างยอดขายในประเทศ ตลาดต่างประเทศ และมีคำสั่งซื้อล่วงหน้าจากต่างประเทศ รวมกันกว่า 20,000,000 บาท” นายชาวันย์กล่าว
อย่างไรก็ตาม โครงการยกระดับผู้ประกอบการ OTOP ที่มีศักยภาพ ก้าวไปสู่ SMEs ระยะที่ 2 ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สำคัญของ สสว.ที่มุ่งหวังจะยกระดับผู้ประกอบการ OTOP ให้เพิ่มศักยภาพขีดความสามารถ ทัดเทียมนานาประเทศ สามารถยกระดับกลายเป็นผู้ประกอบการ SMEs มืออาชีพ และยังก่อให้เกิดความเข้มแข็งในการประกอบธุรกิจ ดังนั้น การดำเนินนโยบายในปีต่อๆ ไป สสว.จึงเน้นที่จะผลักดันโครงการที่ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ OTOP ให้มีการพัฒนารูปแบบการประกอบธุรกิจ พัฒนาระบบการบริหารจัดการ พัฒนาด้านกระบวนการผลิต การตลาด และรูปแบบผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการสร้างจิตสำนึกในการพึ่งพาตนเองและพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการมีความพร้อม สามารถก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการ SMEs ได้อย่างเข้มแข็งอย่างแท้จริง
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *