บมจ.สามารถจับมือ สวทช. และซิป้า จัดโครงการ “เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี พบนักลงทุน” ยกทัพ 9 สุดยอดผลงานนวัตกรรมจากคนรุ่นใหม่มาพบนักลงทุนตัวจริงเพื่อให้เกิดการต่อยอดทางพาณิชย์อย่างจริงจัง
นายศิริชัย รัศมีจันทร์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ดำเนินโครงการส่งเสริมและสร้างผู้ประกอบการเทคโนโลยีรุ่นใหม่มาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี ภายใต้โครงการ Samart Innovation Awards และปีนี้ (2556) ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA ทำโครงการลักษณะเดิม ภายใต้ชื่อ “เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี” โดยหนึ่งในกิจกรรมของโครงการเพื่อให้เกิดการต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม คือ “เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี พบนักลงทุน” นำผลงานของผู้เข้าร่วมที่ผ่านการคัดเลือกว่ามีแนวคิดธุรกิจชัดเจน และมีศักยภาพสูงมาพบผู้ลงทุนทั้งใน และต่างประเทศ
สำหรับ 9 ผลงานด้านนวัตกรรมที่ผ่านมาคัดเลือก ได้แก่
1. Smart Lab นวัตกรรมทางการแพทย์ ซึ่งเป็นโลหะผสมจำรูป มีคุณสมบัติกลับคืนรูปร่างเดิมได้ เหมาะจะนำไปประยุกต์ใช้ในงานต่างๆ มากมาย เช่น อากาศยาน อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ สื่อสาร วงการแพทย์ ฯลฯ
2. Rate it เป็น Movie Social Network แรกของคนไทยบนระบบปฏิบัติการ iOS จุดเด่นใช้งานง่าย สามารถเข้าไปหาข้อมูล แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพยนตร์ใน iPhone-iPad
3. Super Quadrotor อากาศยานไร้คนขับ สามารถนำไปใช้ถ่ายภาพทางอากาศ เหมาะสำหรับการสำรวจพื้นที่ ถ่ายทำภาพยนตร์ ฉีดพ่นปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เป็นต้น
4. V.School (Virtual School) เป็นระบบบริการจำลองโรงเรียนบนโลกออนไลน์ ช่วยให้อาจารย์ออกแบบการเรียนการสอนที่ใช้งานง่าย และผู้ใช้ไม่ว่าจะนักเรียน อาจารย์แลกเปลี่ยนข้อมูล พูดคุยผ่านระบบออนไลน์ รวมถึงสามารถติดตามประเมินการเรียนการสอนได้ด้วย
5. Vertical Axis Wind Turbine คือ กังหันลมแกนตั้ง สามารถรับลมได้ทุกทิศทาง สามารถนำไปติดตั้งได้ทุกพื้นที่เพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับใช้งาน ช่วยประหยัดพลังงานหรือขายส่งกระแสไฟฟ้า
6. Mad Teacher (Bangkok App) เป็นเกมสอนคณิตศาสตร์บนสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการ iOS เน้นฝึกผู้เล่นให้ฝึกและเรียนคณิตศาสตร์ได้อย่างสนุกสนาน
7. The Versatile Intelligent Vehicle (Look Me) พาหนะอัจฉริยะสารพัดประโยชน์ สามารถระบุตำแหน่งและสร้างแผนที่ของสิ่งแวดล้อมแบบ Real Time เพื่อวางแผนการเคลื่อนย้ายหรือขนส่งสินค้า เหมาะไปใช้ในหลายอุตสาหกรรม เช่น ผลิตและขนส่ง เกษตร เป็นต้น
8. SHIELD เป็นผลิตภัณฑ์สีและสารเคลือบที่ใช้ในอุตสาหกรรมและครัวเรือน มีคุณสมบัติป้องกันการเกิดคราบน้ำ คราบสกปรก และฝุ่น
และ 9. Localalike เทคโนโลยีเชื่อมต่อระหว่างนักท่องเที่ยวกับชุมชนท้องถิ่น ใช้งานในโฆษณาประชาสัมพันธ์ธุรกิจท้องถิ่นผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ
นายศิริชัยกล่าวต่อว่า เป้าหมายของการทำกิจกรรมในครั้งนี้ต้องการให้ผลงานเทคโนโลยีของคนรุ่นใหม่ได้พบกับนักลงทุนตัวจริง ในขณะเดียวกันนักลงทุนสามารถเลือกผลงานนวัตกรรมต่างๆ ที่เหมาะสำหรับนำไปใช้กับธุรกิจตัวเอง และที่สำคัญต้องการจุดประกายให้ผู้ประกอบการเทคโนโลยีไทยสามารถแสดงศักยภาพบ่งบอกว่ามีศักยภาพไม่แพ้ต่างชาติ ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีของต่างชาติมากเหมือนเช่นในปัจจุบัน
นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังสนับสนุนผู้เข้าโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง โดยจะมอบเงินรางวัลจำนวน 2 แสนบาทให้แก่ทีมชนะเลิศ พร้อมรางวัลทัศนศึกษาต่างประเทศแก่ทีมที่ได้อันดับ 1-3 และมีเงินสนับสนุนเงินต้นธุรกิจ (Business Startup Funds) ให้แก่ผลงานที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ทุนละ 2 หมื่นบาท ไม่ต่ำกว่า 20 ทุน
รองประธานกรรมการบริหารกล่าวด้วยว่า ผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การดูแลของ สวทช. ซิป้า และบริษัทฯ ที่จะสนับสนุนครบวงจร ทั้งด้านความรู้ เงินทุน และการตลาด เพื่อเป้าหมายสูงสุด คือให้เถ้าแก่รุ่นใหม่เหล่านี้สามารถต่อยอดไปเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้จริงในอนาคต
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *