การก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC ในปี 2558 ผู้ประกอบการธุรกิจในภูมิภาคต่างให้ความสำคัญต่อการเตรียมความพร้อม รวมถึงประเทศไทยของเราด้วย และที่ผ่านมาปัญหาของผู้ประกอบการไทยไม่ได้อยู่ที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ เพราะมีการเตรียมความพร้อมและเดินหน้าวางแผนรับมือไปก่อนหน้านี้แล้ว สิ่งที่น่าเป็นห่วงอยู่ที่ผู้ประกอบการรายย่อย หรือเอสเอ็มอี
ทั้งนี้ เพื่อรองรับการแข่งขันทางธุรกิจรุนแรงที่จะเกิดขึ้นนี้เอง เป็นช่องว่างให้องค์กรทางธุรกิจที่ให้บริการด้านให้คำปรึกษาแนะนำแบบมืออาชีพเข้ามาได้รับความนิยมในประเทศไทย และองค์กรที่เรากล่าวถึงในวันนี้คือ บีเอ็นไอ (BNI-Business Network International)
มารู้จัก BNI
บีเอ็นไอคือ องค์กรมืออาชีพที่เปิดบริการให้คำปรึกษา โดยการให้สมาชิกที่ดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกันได้มารวมตัวกัน เพื่อช่วยสร้างธุรกิจซึ่งกันและกันภายในกลุ่มผ่านรูปแบบการตลาดแบบบอกต่อ หรือระบบการแนะนำโอกาสธุรกิจ (Referral Marketing) โดยสมาชิกแต่ละราย ซึ่งประกอบธุรกิจแตกต่างกันมารวมกลุ่มกัน เพียง 1 สมาชิกต่อ 1 อาชีพ หรือธุรกิจต่อ 1 กลุ่มเท่านั้น
ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแข่งขันภายในกลุ่ม หลักสำคัญคือ การมอบโอกาสธุรกิจให้แก่สมาชิกในกลุ่มผ่านการสร้างสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นจนเกิดความเชื่อถือและไว้วางใจ และนำไปสู่การแนะนำลูกค้าที่ดีที่สุดให้แก่เพื่อนสมาชิก ซึ่งทางบีเอ็นไอได้ทำสำเร็จมากว่า 6 ปีแล้ว ในขณะเดียวกันก็จัดให้ความรู้ทางการตลาดและการลงทุนโดยเชิญวิทยากรจากหลากหลายวงการมาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการไทย
โดยมีการส่งเสริมและกระตุ้นให้นักธุรกิจไทยเดินทางไปดูความก้าวหน้าทางธุรกิจยังประเทศเวียดนาม ประเทศมาเลเซีย และประเทศฮ่องกง เพื่อสร้างความรู้จักกับกลุ่มบีเอ็นไอในต่างประเทศเพิ่ม ทั้งยังถือเป็นข้อได้เปรียบที่กลุ่มเจ้าของธุรกิจในบีเอ็นไอได้เตรียมความพร้อมล่วงหน้าก่อนใครเพื่อเข้าสู่ AEC
กลกิตติ์ เถลิงนวชาติ ประธานอำนวยการบริษัท บีเอ็นไอ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “บีเอ็นไอก่อตั้งมาเป็นเวลา 29 ปี ที่สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเรามีผู้ประกอบการถึง 150,000 รายในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศไทยเรามีสมาชิกในกรุงเทพฯ ประมาณ 380 คน ซึ่งแบ่งเป็น 15 กลุ่มธุรกิจและในปีนี้ระยะเวลา 5 เดือนที่ผ่านมาสามารถสร้างยอดให้แก่สมาชิกในบีเอ็นไอในประเทศไทยถึง 650 ล้านบาท
นอกจากนี้ ได้มีการขยายกลุ่มบีเอ็นไอในประเทศไทยไปยังจังหวัดหัวเมืองเศรษฐกิจทั้ง 4 ภาค ได้แก่ พัทยา โคราช ภูเก็ต และเชียงใหม่ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงนักธุรกิจและสร้างมูลค่าการค้าในกลุ่มบีเอ็นไอในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นความสำเร็จในระดับหนึ่งที่เราตั้งเป้าไว้”
แผน “บีเอ็นไอ” การนำ SME บุกตลาด AEC
กลกิตติ์กล่าวถึงมุมมองการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนว่า สำหรับตลาด AECประเทศไทยเราได้เปรียบกว่ามาก ถือเป็นประตูสู่ AEC เพราะเรามีทำเลที่ตั้งที่ดี ทั้งทางบก ทางอากาศ และทางทะเล เราเป็นศูนย์กลางในการขนส่ง เดินทาง ซ่อมบำรุง ที่พัก อาหาร อสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่ความได้เปรียบทางธุรกิจด้านสุขภาพ ความงาม การบริการ รวมถึงเป็นแหล่งที่พักไม่ว่าในระยะสั้นหรือระยะยาวของทุกคนทุกประเทศที่เข้ามาทำธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนนี้ ซึ่งข้อดีทั้งหมดนี้จะช่วยเอื้ออย่างมาก ทำให้ธุรกิจไหลเวียนคล่องตัว เกิดการตื่นตัวขยับขยาย อันเป็นโอกาสดีที่กลุ่มเจ้าของธุรกิจบีเอ็นไอในประเทศไทยได้รับประโยชน์โดยตรงและต่อเนื่องอย่างแน่นอน
“ผมมั่นใจว่าต่อไปอาเซียนจะกลายเป็นภูมิภาคที่มีขนาดตลาดธุรกิจใหญ่ที่สุดของบีเอ็นไอ เพราะตลาดฝั่งยุโรปและอเมริกาซบเซาลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กำลังซื้อ การค้าและการลงทุนในกลุ่มเอเชียขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด เราในฐานะกลุ่มประเทศในอาเซียนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตลาดเอเชียจะเติบโตได้ดี โดยเฉพาะทางกลุ่มธุรกิจที่เป็นสมาชิกบีเอ็นไอประเทศไทยนั้นได้รับการติดต่อและทำงานกับผู้ประกอบการในประเทศสมาชิก AEC อยู่แล้วภายใต้ขอบข่ายการดำเนินงาน 3 ด้านของบีเอ็นไอ คือ
1. การแลกเปลี่ยนและให้ความรู้จากนักธุรกิจฝั่งไทยและจากประเทศสมาชิก AEC ซึ่งรวมถึงเรื่องคอนเนกชันและสายสัมพันธ์ที่ดี 2. มีระบบการบริหารสังคมนักธุรกิจทั้งจากไทยและต่างชาติ และ 3. เรามีระบบติดตามวัดผลลัพธ์ของกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้มาตรฐานและรวดเร็ว โดยเรามีBNI Connect Global ระบบออนไลน์ที่เชื่อมโยงนักธุรกิจไทยกับนักธุรกิจทั่วโลก สามารถแนะนำตัว ติดต่อประสานงานกันได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้เรายังคอยเน้นเรื่องสายสัมพันธ์ที่แข็งแรงระหว่างสมาชิกอยู่เสมอ เพราะเปรียบเหมือนเกราะป้องกันคู่แข่งจาก AEC ไม่ให้เจาะเราได้ง่ายๆ จึงกล่าวได้ว่าเราพร้อมมากแล้วสำหรับAEC ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า”
สำหรับแผนบุกตลาด AEC ที่กล่าวมาข้างต้น ในส่วนของบีเอ็นไอ ทางบริษัทแม่ให้ความสำคัญต่อตลาด AEC ค่อนข้างมาก โดยวางแผนการขยายตลาดในกลุ่มประเทศที่ยังไม่ได้เข้าไปเปิดตลาด อย่าง พม่า ลาว และกัมพูชาเพิ่ม ส่วนประเทศอื่นๆ เร่งสร้างสมาชิกให้เพิ่มขึ้นเพื่อให้สมาชิก BNI ในแต่ละประเทศได้มีโอกาสมาพบปะและแลกเปลี่ยนธุรกิจซึ่งกันและกันให้ได้ประโยชน์มากที่สุด
ส่วนของอัตราค่าบริการของสมาชิก คิดค่าบริการเหมือนกับการใช้บริการฟิตเนส เก็บค่าบริการเป็นรายเดือน สิ่งที่สมาชิกจะได้รับคือ การอบรมจากการเชิญวิทยากรต่างๆ มาให้ความรู้ พบปะเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์แนะนำสินค้าของตัวเองให้เป็นที่รู้จัก โดยสมาชิกในกลุ่มจะมีการประชุมร่วมกันทุกเช้า
กลกิตติ์กล่าวว่า หัวใจสำคัญที่ทำให้บีเอ็นไอประสบความสำเร็จนั้นคือ ปรัชญา “Givers Gain” เราสร้างวัฒนธรรม “ผู้ให้คือผู้ได้รับ” ให้แก่องค์กร เมื่อเราคิดช่วยเหลือคนรอบข้าง คนรอบข้างก็จะดูแลเราเช่นกัน ทำให้สมาชิกบีเอ็นไอช่วยเหลือกันอย่างต่อเนื่องและจริงใจ “ผมมองว่ามันเป็นแนวคิดที่ยั่งยืนและแสดงถึงทัศนคติด้านบวกต่อการดำเนินธุรกิจและดำเนินชีวิตที่จะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการไทย และยังเป็นจุดแข็งอันแตกต่างที่จะต่อยอดโอกาสทางธุรกิจให้มากยิ่งขึ้นในระยะยาวแน่นอน”
โทร. 0-2250-7929
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *