กรมส่งเสริมการส่งออกเผยแนวโน้ม-ภาวะตลาดสินค้าเครื่องสำอางในดูไบเผยผลิตภัณฑ์สปา สมุนไพรมาแรง ชี้ต้องปรับแพdเกจให้เป็นที่ดึงดูดใจผู้ซื้อ เครื่องสำอางผู้ชายโต 70%
นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) เปิดเผยรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สคร.) ณ เมืองดูไบ ถึงแนวโน้มและภาวะตลาดสินค้าเครื่องสำอาง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ว่า ยูเออีมีการนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางและสุขภาพจากทั่วโลกมูลค่า 1,870 ล้านเหรียญสหรัฐ (56,100 ล้านบาท) โดยผ่านรัฐดูไบ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าของยูเออี มีการนำเข้าจากเยอรมนี ฝรั่งเศส อินเดีย อังกฤษ และไอร์แลนด์ ตามลำดับ ส่วนการนำเข้าจากไทยในปี 2555 นำเข้าเครื่องสำอางจากไทยสัดส่วน 2% หรือมูลค่า 37.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,122 ล้านบาท)
ทั้งนี้ ตลาดมีแนวโน้มการนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สำหรับสปา แต่สินค้าจากไทยจะต้องมีการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามตรงความต้องการของตลาดมากขึ้น เพราะจะต้องแข่งขันกับสินค้าจากประเทศยุโรป หรือจากเอเชียอื่นๆ รวมถึงจะต้องปรับปรุงรูปแบบ กลิ่น สี ให้เหมาะสมต่อความนิยมของตลาดอยู่ ตลอดเวลา เน้นรูปแบบบรรจุภัณฑ์สวยงาม ตั้งราคาให้เหมาะสมแข่งขันกับสินค้าระดับเดียวกันได้ เพื่อให้ผู้นำเข้าสามารถนำไปใช้จำหน่ายและใช้เป็นสินค้าส่งออกต่อไปที่อื่นได้อีก
“แนวโน้มเจาะตลาดยูเออีได้มากขึ้นคือเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสมุนไพร เนื่องจากมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างจากสินค้าของประเทศอื่นๆ นอกจากเครื่องสำอางสำหรับแต่งหน้าแล้ว เครื่องสำอางสปาและสมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์จากธรรมชาตินั้น ได้รับความนิยมในประเทศนี้เช่นกัน” นางศรีรัตน์กล่าว
ด้านนายณัฐพงศ์ บุญจริง ผอ.สคร.ดูไบ กล่าวว่า เครื่องสำอางบำรุงผิวผู้ชายคาดว่าจะมีมูลค่าตลาด 140 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2557 ซึ่งในช่วงปี 2554-2555 มีการวิจัยพบว่าสินค้ากลุ่มนี้มีความต้องการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 70% จากมูลค่าการนำเข้าเครื่องสำอางชายดังกล่าว สินค้ากว่า 30% เป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสำหรับผู้ชาย สินค้าที่นิยมและมีการขยายตัวเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า ได้แก่ ครีมบำรุงผิวหลังโกนหนวด ครีมบำรุงหน้าสำหรับผิวมันและผิวผสม และครีมบำรุงผิวลดริ้วรอยปรับให้ผิวดูกระจ่างใสประกอบสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ปกป้องแสงแดด
“ปัจจุบันสังคมเปลี่ยนไป ผู้ชายตระหนักเรื่องการดูแลผิวพรรณมากขึ้น เพราะหากปล่อยปละละเลยในการดูแลสุขภาพและผิวพรรณนั้นจะทำให้ริ้วรอยแห่งวัยปรากฏได้ง่ายและเร็ว พฤติกรรมการซื้อเครื่องสำอางของผู้ชายมักจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากเคาน์เตอร์ในซูเปอร์มาร์เกต มากกว่าจะเข้าร้านที่จำหน่ายเฉพาะ” นายณัฐพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องสำอางของยูเออีมีการขยายตัวขึ้นตามจำนวนโรงงานผลิตเครื่องสำอางมีมากขึ้น ประกอบกับผู้ซื้อในยูเออีมีกำลังการใช้จ่ายสูง สินค้าผลิตภัณฑ์บำรุงผิวมีหลากหลายยี่ห้อให้เลือกซื้อ และยังมีเครื่องสำอางรุกเข้าไปจำหน่ายปลีกผ่านช่องทางตลาดอิเล็กทรอนิกส์ หรืออินเทอร์เน็ต เพื่อให้ผู้สนใจสั่งซื้อสินค้าได้สะดวกเพิ่มขึ้นอีกด้วย ดังนั้น แนวโน้มเครื่องสำอางผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าในตลาดยูเออีจึงมีโอกาสการขยายตัวอีกมาก แต่ธุรกิจเครื่องสำอางในดูไบถือเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงของแบรนด์ ทั้งจากยุโรป อเมริกา อังกฤษ อิตาลี โดยเฉพาะแบรนด์เกาหลีที่เข้าไปสร้างสีสันชิงความสนใจของลูกค้า
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *