ทูตพาณิชย์เมืองเบียร์เผยฝนตกหนักในรอบร้อยปีของยุโรป ชี้หากเป็นเหตุการณ์สั้นจะไม่กระทบเศรษฐกิจมากนัก กรมส่งเสริมการค้าฯ เผยส่งออกไทยไปอียูขยายตัวเฉียด 7% ไทยควรเร่งขยายความร่วมมือใช้โอกาส AEC ดึงนักลงทุน
นางดวงกลม เจียมบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคร.) ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี รายงานสถานการณ์ฝนตกหนักในรอบร้อยปีในตอนกลางของยุโรปทำให้เกิดน้ำท่วมหลายพื้นที่ว่า ยุโรปกลาง ประกอบด้วย สาธารณรัฐเช็ก เยอรมนี ฮังการี ออสเตรีย ยังคงอยู่ในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะรัฐภาคตะวันออก และทางใต้ของเยอรมนีซึ่งเป็นแหล่งเศรษฐกิจ และท่องเที่ยวสำคัญ โดยเฉพาะเมืองซวิกเคา ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตรถยนต์โฟล์คสวาเก้น (Volkswagen) บริษัท Krones AG บริษัทผลิตเทคโนโลยีการบรรจุของในอุตสาหกรรม ต้องหยุดการผลิตเนื่องจากพนักงานเดินทางฝ่าน้ำท่วมมาไม่ได้
ส่งผลให้กองทุน IMF ได้ประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเยอรมนีไว้ 0.3% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ 0.6% และพยากรณ์ว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ของยุโรป โดยเฉพาะเยอรมนีจะฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 เนื่องจากการบริโภคภายในมีแนวโน้มขยายตัวดี
ด้านนางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) กล่าวว่า การส่งออกไทยไปสหภาพยุโรป (อียู) ในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) ของปี 2556 มีการขยายตัว 6.8% หรือมีมูลค่า 6,575 ล้านเหรียญสหรัฐ ท่ามกลางสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจที่ทรงตัว แต่เยอรมนียังคงเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและฟื้นตัวจากสภาวะเร็วและดีที่สุดของอียู เนื่องจากรัฐบาลเยอรมนีดำเนินนโยบายสำคัญ คือการลดการว่างงาน และการสร้างงานในกลุ่มเยาวชนหนุ่มสาว รวมถึงการผลักดันการส่งออกสินค้าหลัก โดยเฉพาะยานยนต์และเครื่องจักรกล ซึ่งนำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับ 1 เชื่อว่าจากสถานการณ์น้ำท่วมนี้ หากเป็นเหตุการณ์สั้นๆ ก็จะไม่กระทบเศรษฐกิจมากนัก และไม่กระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่วางไว้
“เยอรมนีได้ขยายการลงทุนไปประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้นมาก เช่น สหรัฐฯ จีน บราซิล อินเดีย และไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในตลาดสินค้ายานยนต์และตลาดสินค้าเครื่องบินและชิ้นส่วนประกอบต่างๆ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของเยอรมนีในปัจจุบันและในอนาคต ได้แก่ สินค้ายานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล มอเตอร์เครื่องยนต์ และผลิตภัณฑ์ยา” นางศรีรัตน์กล่าว
สำหรับแนวโน้มการลงทุนในอนาคตของภาคเศรษฐกิจเยอรมนี โดยเฉพาะภาคธุรกิจขนาดกลางจะให้ความสำคัญต่อการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ โดยเป้าหมายหลักคือ จีน อีนเดีย และประเทศทวีปอเมริกาใต้ ภายใต้แนวคิดเน้นการผลิตเพื่อขายในภูมิภาคที่เข้าไปลงทุน ไม่ใช่เน้นการผลิตเพื่อส่งกลับมาจำหน่ายในเยอรมนี หรือในยุโรป และที่สำคัญต้องเน้นการลงทุนด้านการวิจัยในต่างประเทศควบคู่ไปกับการลงทุน ทั้งนี้ โอกาสการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ไทยจะช่วยให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่น่าสนใจแก่นักลงทุนเยอรมนีมากขึ้น เนื่องจากเยอรมนีเห็นว่าตลาดที่ยังมีการขยายตัวอยู่มาก หาก AEC สามารถสร้างจุดเด่นในการเป็นภูมิภาคการลงทุนที่มีแรงงานฝีมือ รวมถึงมีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพที่พร้อมทำงานด้านการวิจัยก็จะเป็นที่ดึงดูดของนักลงทุนเยอรมนีมากขึ้น
“การส่งเสริมสินค้าคุณภาพของไทย ควรเน้นเรื่องการประชาสัมพันธ์แบรนด์ประเทศ (Country Brand) เช่น การใช้ตราสัญลักษณ์ไทยแลนด์ ทรัสต์ มาร์ก (Thailand Trusted Mark) เพื่อให้ตราคุณภาพนี้เป็นที่รู้จักในหมู่ลูกค้าในวงกว้าง และพัฒนาภาพลักษณ์ พร้อมคุณภาพสินค้าควบคู่กันไป” นางศรีรัตน์กล่าว
สำหรับการส่งออกไทยไปเยอรมนี 4 เดือนแรกมีมูลค่า 1,279 ล้านเหรียญสหรัฐ (37,907 ล้านบาท) ขยายตัวกว่า 12.5% สินค้าส่งออกสำคัญคือ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น การนำเข้า 2,131 ล้านเหรียญสหรัฐ (64,121 ล้านบาท) ขยายตัว17.7% สินค้านำเข้าคือ เครื่องจักรและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *