กระติบข้าวเป็นของใช้ที่ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น แต่ละชุมชน และแต่ละท้องถิ่นมีความสามารถในการผลิตกระติบข้าวออกมาแตกต่างกันไป สำหรับบ้านยางคำ ต.ยางคำ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ถือเป็นแหล่งผลิตกระติบข้าวฝีมือดีที่ได้รับการยอมรับอีกแห่งหนึ่ง
ทั้งนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่จะมีอาชีพหลักคือเกษตรกรรม และหลังจากว่างจากงานประจำก็จะทำอาชีพหัตถกรรมจักสาน โดยการรวมกลุ่มกันผลิตงานหัตถกรรมจักสาน ใช้ชื่อ “กระติบข้าวไผ่ตะวัน” โดยมี นายกองมี หมื่นแก้ว เป็นประธานกลุ่มฯ มีสมาชิกเป็นคนในชุมชนหลายสิบชีวิตผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันผลิตสินค้า และส่งมาให้ทางกลุ่มจำหน่าย
นายกองมีเล่าว่า สำหรับสมาชิกของเรามีความสามัคคีทำงานเป็นทีม ซึ่งงานจักสานที่ทางกลุ่มทำขึ้นมาส่วนใหญ่จะเป็นงานที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านยางคำ สืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษ จึงเป็นลวดลายจักสานแบบดั้งเดิม เช่น ลายคุบ ลายสอง ลายสาม ลายดอกจิก จุดเด่นของงานจักสานกลุ่มกระติบข้าวไผ่ตะวันคือ ฝีมือการทำลวดลายที่ละเอียด การสานที่แน่นหนา ทำให้กล่องข้าวและกระติบข้าวที่ได้สามารถเก็บอุณหภูมิของข้าวเหนียวได้ดี อันเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่ม โดยเลือกใช้ไม้ไผ่สีสุกหรือไผ่สีทองเป็นวัสดุที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและได้ขยายพันธุ์อย่างต่อเนื่องจากการปลูกเพื่อรองรับการขยายสินค้าตามความต้องการมากขึ้น
ด้วยศักยภาพดังกล่าว กลุ่มสานกระติบข้าวบ้านยางคำจึงถูกคัดเลือกให้เป็นกลุ่มเป้าหมายของการศึกษาวิจัยในโครงการสนับสนุนนักวิจัยหน้าใหม่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี ผศ.ดวงจันทร์ นาชัยสินธุ์ สายวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ โปรแกรมบรรจุภัณฑ์และนิทรรศการ (หัวหน้าทีมวิจัย) อาจารย์จเด็จ ทองเฟื่อง สายวิชาประติมากรรม และอาจารย์ทรงวุฒิ แก้ววิศิษฏ์ สายวิชาจิตรกรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงพื้นที่ศึกษาพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์กลุ่มกระติบข้าวบ้านยางคำ เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน จังหวัดขอนแก่น
ผศ.ดวงจันทร์ นาชัยสินธุ์ กล่าวว่า การสร้างผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์มีแนวคิดหลักและวัตถุประสงค์ของกระบวนการคือ เน้นสิ่งที่เห็นในรูปแบบของผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจักสานที่มีรูปแบบเฉพาะตัว เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิต โดยกลุ่มกระติบข้าวไผ่ตะวัน เน้นการใช้วัสดุไม้ไผ่สีทองที่เป็นทรัพยากรหลักของชุมชน โดยได้ดำเนินกระบวนการสร้างสรรค์ของนักออกแบบร่วมกับกลุ่มชุมชนผู้ผลิตกระติบข้าวบ้านยางคำ คือการกำหนดกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดใหม่ เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงขึ้น กลุ่มผู้บริโภคที่รับรู้ถึงคุณค่ารสนิยมของผลิตภัณฑ์ จากความรู้สึกของผู้บริโภคจะกระตุ้นให้เกิดการซื้อ การเลือกใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นเป็นหลักประยุกต์ใช้อย่างกลมกลืน ให้เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่ม
โดยใช้ไม้ไผ่สีสุกหรือไผ่สีทองเป็นวัสดุที่ใช้ในการจักสาน การสร้างแนวคิดของผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยการสื่อความหมายจากแนวคิด “วัฒนธรรมการกิน” การสร้างตราสินค้าให้มีความแตกต่างกันในเรื่องของรูปร่าง สีสัน และสัญลักษณ์ แสดงถึงความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะถ่ายทอดความรู้สึกออกมา และแสดงถึงความแตกต่าง และการกำหนดรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีการออกแบบรูปร่างผลิตภัณฑ์ที่สามารถสื่อสารแนวคิดของสินค้าที่ประกอบด้วยการใช้งานที่ควบคู่กับความสวยงามแต่คงคุณค่าของงานฝีมือที่เน้นศิลปหัตถกรรมพื้นถิ่นไว้
จากผลงานวิจัยทำให้กระติบข้าวไผ่ตะวันของชาวบ้านยางคำมีเอกลักษณ์ จากวัสดุไม้ไผ่สีทองเนื้อดี รูปทรงที่แปลกตา ทำเป็นปิ่นโต กระเป๋า เพื่อให้เกิดประโยชน์อเนกประสงค์มากกว่ากระติบข้าวแบบเดิม การเลือกใช้สีที่ลงตัว ลวดลายที่ดูแปลกและสวยงาม สีที่ใช้ย้อมก็เป็นสีธรรมชาติจากเปลือกไม้ด้วยเทคนิคการย้อมพิเศษติดทนนาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้สามารถขยายกลุ่มลูกค้าจากชาวบ้าน ไปสู่นักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อที่สูงขึ้น
นอกจากการเข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์กระติบข้าวไผ่ตะวันแล้ว ทีมนักวิจัยจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังมีความสนใจ มีความคิดสร้างสรรค์นำเอาวัสดุธรรมชาติ ที่เหลือใช้ เช่น ใช้หนามไม้ไผ่ ผลน้ำเต้านำมาสร้างสรรค์เป็นโคมไฟ ที่แขวนชุดเสื้อผ้า โดยเจ้าของผลงานคือ อาจารย์จเด็จ ทองเฟื่อง สายวิชาประติมากรรม และอาจารย์ทรงวุฒิ แก้ววิศิษฏ์ สายวิชาจิตรกรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ สมาชิกของทีมวิจัยนั่นเอง
กระติบข้าวไผ่ตะวัน โคมไฟ ที่แขวนเสื้อผ้า ผลน้ำเต้า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้มีการศึกษาข้อมูลแล้ว สามารถนำองค์ความรู้มาประยุกต์เพื่อเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งนักออกแบบและผู้ผลิตกลุ่มกระติบข้าว โดยมีเป้าประสงค์หลักคือให้คนในชุมชนได้สร้างสรรค์ผลงานหัตถกรรมจักสานที่พวกเขาต้องการด้วยตัวเอง แต่ผลิตภัณฑ์นั้นต้องตอบสนองความต้องการของตลาด กลุ่มผู้ผลิตชุมชนต้องพัฒนาสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอด จะส่งผลถึงการพัฒนาชุมชน สังคม เกิดทักษะอันสำคัญทางวิชาการในการเรียนรู้ ให้สามารถแข่งขันในสภาวะปัจจุบันที่มีเปลี่ยนแปลง และภูมิปัญญาเหล่านี้จะไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา เพราะได้มีการบรรจุลงในหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านยางคำ ซึ่งสมาชิกของกลุ่มได้สลับหมุนเวียนกันไปให้ความรู้เด็กๆ ที่โรงเรียนเป็นประจำ และนี่ก็คืออีกหนึ่งการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน โดยการนำองค์ความรู้จากการศึกษาวิจัยของนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คนในชุมชน สังคมให้ดีขึ้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.ดวงจันทร์ นาชัยสินธุ์ สายวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ โปรแกรมบรรจุภัณฑ์และนิทรรศการ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โทร. 08-1562-5892
////////////////////////////////////
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *