สสว.จับมือหน่วยงานอังกฤษ ร่วมกันส่งเสริมเอสเอ็มอีของทั้งสองชาติ ทั้งด้านหนุนความรู้ แลกเปลี่ยนเทคโนโลยี เชื่อมโยงเครือข่าย และผ่อนคลายกฎระเบียบการค้าการลงทุนระหว่างกัน ระบุอังกฤษปลื้มไทยมีความพร้อมด้านทำเลเหมาะเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาคอาเซียน
นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการลงนามความร่วมมือระหว่างสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กับสำนักงานการค้าและการลงทุนสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) หรือ UK Trade and Investmet : UKTI ว่า ความร่วมมือดังกล่าวเพื่อจะแลกเปลี่ยนการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของทั้งสองชาติ โดยจะมีกิจกรรมร่วมกันในหลายๆ ด้าน เช่น แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุน วัตถุดิบและการผลิต การถ่ายทอดเทคโนโลยี เชื่อมโยงเครือธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งทางสหราชอาณาจักรต้องการจะใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการค้าขาย และกระจายสินค้าของเอสเอ็มอีอังกฤษไปสู่ตลาดประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้ สหราชอาณาจักร (อังกฤษ) นับเป็นตลาดสำคัญของไทยในตลาดยุโรป ในช่วงไตรมาสแรก (1/2556) เอสเอ็มอีไทยมีการค้าขายกับอังกฤษ คิดเป็นมูลค่ารวม 15,273 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าส่งออกกว่า 7,747.5 ล้านบาท โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องเพชร เนื้อสัตว์ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ส่วนนำเข้า เช่น เอทิลแอลกอฮอล์ ยารักษาโรค ยานยนต์ เป็นต้น
นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน เอสเอ็มอีไทยมีการค้าขายไปยังประเทศกลุ่มอียูกว่าปีละ 40,000 ล้านบาท ซึ่งจากความร่วมมือดังกล่าว ตั้งเป้าว่า จะช่วยขยายมูลค่าการค้าขายและลงทุนระหว่างกันเพิ่มอีก 1 เท่าตัวภายในอีก 5 ปีข้างหน้า
ด้านนายชาวันย์ สวัสดิ์-ชูโต รักษาการผู้อำนวยการ สสว. กล่าวเสริมว่า ก่อนหน้านี้ สสว. เคยมีความร่วมมือลักษณะนี้ กับทั้งทางประเทศญี่ปุ่น และจีนมาแล้ว ขณะที่ประเทศอังกฤษมีความสนใจต้องการร่วมมือกับประเทศไทยอย่างมาก โดยเป็นฝ่ายยื่นข้อเสนอมาก่อนด้วยซ้ำ เนื่องจากเห็นว่า ประเทศไทยมีความพร้อมในหลายๆ ด้าน เช่น ทำเลที่ตั้งของประเทศที่เหมาะเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าจากอังกฤษไปสู่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นการขยายโอกาสที่การค้าของอังกฤษ เพื่อพร้อมรับเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และอาเซียน +6
ทั้งนี้ ประเทศอังกฤษมีความสนใจร่วมลงทุนในหลายๆ ธุรกิจกับเอสเอ็มอีไทย โดยเฉพาะธุรกิจอาหารแปรรูป ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมเรื่องวัตถุดิบและเทคโนโลยี ส่วนประเทศไทยจะได้ประโยชน์ในหลายๆ ด้าน เช่น ได้รับการถ่ายทอดความรู้ ขยายโอกาสการค้าผ่านการจับคู่ธุรกิจ ช่วยพัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาด รวมถึง กระจายสินค้าเอสเอ็มอีไทยไปสู่ตลาดยุโรป โดยใช้ประเทศอังกฤษเป็นศูนย์กลางการค้า โดยผ่านห้างค้าปลีกค้าส่งต่างๆ ซึ่งอังกฤษมีเครือข่ายอยู่ทั่วยุโรป เป็นต้น
สำหรับกิจกรรมที่สองหน่วยงานจะดำเนินการร่วมกัน จะเน้นยกระดับเอสเอมอีของทั้งสองชาติ ได้แก่ แลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องนโยบาย ผ่อนคลายด้านกฎหมายหรือมาตรการต่างๆ ในการค้าขายระหว่างประเทศ ถ่ายทอดประสบการณ์ และเทคโนโลยี การจับคู่ธุรกิจ การส่งเสริมเอสเอ็มอีของทั้งสองชาติผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสมาคมการค้า หอการค้า เป็นต้น
ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือดังกล่าว จะมีอายุสัญญา 3 ปี และต่อครั้งละ 3 ปี เว้นแต่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในสองฝ่าย ส่งหนังสือยกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษร ก่อนครบกำหนดหกเดือน
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *