xs
xsm
sm
md
lg

'ปลาทอง' ข้าวซอยตัดเงินล้าน จากกระทะหนึ่งใบสู่เบอร์หนึ่งประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข้าวซอยตัด ในรูปแบบสแน็ค
ในอดีตขนม “ข้าวซอยตัด” ยังไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากนัก จะหากินได้เฉพาะทางภาคเหนือเท่านั้น แต่ด้วยความมานะทำมาหากินของสามีภรรยา เมืองเชียงใหม่ที่เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ทำเป็นอาชีพในครัวเรือน ก่อนค่อยๆ เติบใหญ่ ก้าวเป็นผู้ผลิตขนมข้าวซอยตัดที่มียอดขายสูงสุดในประเทศไทย และยังมีบทบาทสำคัญช่วยให้ขนมชนิดนี้เป็นที่แพร่หลายนิยมไปทั่วประเทศในฐานะของฝากประจำภาคเหนือ
ปัญญา สุขสภา
ปัญญา สุขสภา เจ้าของผลิตภัณฑ์ ข้าวซอยตัด ตรา “ปลาทอง” และ “กิตติ-ตะวัน” เล่าว่า เริ่มต้นอาชีพเมื่อพ.ศ.2543 เพราะขณะนั้นใน จ.เชียงใหม่ ยังไม่มีผู้ผลิตขนมชนิดนี้เลย สินค้าทั้งหมดรับมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน และไต้หวัน จึงสนใจอยากลองทำขนมชนิดนี้ออกมาขาย ประกอบกับภรรยา(กานต์พิชชา สุขสภา) มีฝีมือทำขนมข้าวซอยตัดอยู่แล้ว โดยเริ่มทำกันเองแบบง่ายๆ ใช้กระทะของครัวที่บ้านมาทอดแป้ง เงินลงทุนเบื้องต้นแค่หลักหมื่นบาท ทำเสร็จแล้วไปฝากขายตามร้านค้าต่างๆ ในตลาดนัดของ จ.เชียงใหม่ ภายใต้ตรา “ปลาทอง”
ตรา ปลาทอง แบบต้นตำรับ
“จริงๆ แล้ว ขนมข้าวซอยตัดเป็นอาหารว่างจากเผ่าแมนจู ภาษาจีนเรียกว่า ซาฉี๋หม่า แปลว่า ขนมแป้งทอด มีขายในหลายประเทศ เช่น จีน ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม ฯลฯ ซึ่งเดิมข้าวซอยตัดที่นำเข้ามา รสชาติจะค่อนข้างจืด ผมกับภรรยาจึงปรับให้มีรสหอมหวานขึ้น แรกๆ ก็ยังขายไม่ดีเท่าไร ก็ค่อยๆ พัฒนา ทั้งเรื่องรสชาติ บรรจุภัณฑ์ และมาตรฐานการผลิต ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะช่วงงานพืชสวนโลก สินค้าเราขายดีมาก จนนักท่องเที่ยวจดจำได้ในฐานะของฝากประจำภาคเหนือ” เจ้าของธุรกิจ เล่า

จากความสำเร็จดังกล่าว ในปี พ.ศ.2552 ลงทุนกว่า 14 ล้านบาท สร้างโรงงานของตัวเองอยู่ที่ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ มีกำลังผลิตข้าวซอยตัดได้ถึง 400 ชิ้นต่อนาที สำหรับยอดขายรวมเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ.2555) กว่า 39 ล้านบาท ครองสัดส่วนเป็นผู้ผลิตขนมข้าวซอยตัดสูงที่สุดในประเทศกว่า 50-60% จากตลาดรวม

จุดเด่นที่ทำให้ขนมข้าวซอยตรา “ปลาทอง” ได้รับความนิยมจากลูกค้านั้น ปัญญาเจาะจงไปที่สูตรคิดค้นขึ้นเอง ลองผิดลองถูกอยู่นับนานปี มีคุณสมบัติพิเศษที่แป้งนุ่มแทบจะสลายในปาก กินแล้วไม่ติดฟัน ขนมไม่อมน้ำมัน กินแล้วไม่เลี่ยง ซึ่งสูตรเด็ดเคล็ดลับดังกล่าว เกิดจากใช้วัตถุดิบเกรดเอและการผลิตที่ได้มาตรฐาน เช่น น้ำมันที่ทอดเปลี่ยนใหม่ตลอดไม่มีการวนนำกลับใช้ซ้ำ ทำสดใหม่วันต่อวัน รวมถึงวิธีหมักแป้งสาลีที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ และเวลาในการหมักอย่างดี รวมถึง ไม่ใส่สารกันบูดหรือสารแต่งสีใดๆ ทั้งสิ้น ขณะที่กระบวนการผลิตได้มาตรฐานระดับส่งออกครบถ้วน เช่น GMP ฮาลาล เป็นต้น

เป็นธรรมดาเมื่อธุรกิจประสบความสำเร็จ ย่อมมีผู้ประกอบการรายอื่นๆ เห็นโอกาส ทำสินค้าใกล้เคียงกันออกมาชิงส่วนแบ่งตลาด

ปัญญา ยอมรับว่า ทุกวันนี้ มีผู้ผลิตขนมข้าวซอยตัดเจ้าใหม่เกิดขึ้นหลายราย ทั้งหมดใช้กลยุทธ์ขายตัดราคาชิงลูกค้า ดังนั้น แนวทางปรับตัว จะไม่ยอมลดคุณภาพ แต่มุ่งสร้างตลาดใหม่ โดยผลักดันขนมข้าวซอยตัดไปอยู่ในกลุ่มสแน็ค (snack) สำหรับเป็นขนมกินเล่น หรือกินคู่กาแฟ เพื่อเข้าหาผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ทั่วประเทศ โดยอาศัยผ่านช่องทางร้านสะดวกซื้อเจ้าดังอย่าง “เซเว่น อีเลฟเว่น” ซึ่งกว่าจะเข้าวางขายได้ ต้องใช้ความพยายามอยู่ร่วมปี ทั้งปรับปรุงโรงงาน และบรรจุภัณฑ์ กระทั่ง ได้วางขายจริงเมื่อต้นปี 2556 ที่ผ่านมา ในสาขาเซเว่นฯ ทางภาคกลางและภาคเหนือ กว่า 2,000 จุด ปัจจุบัน มีสินค้าให้เลือก 2 รส คือ ดั้งเดิม และน้ำอ้อย ราคาห่อละ 10 บาท
แบรนด์ กิตติ-ตวัน ปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน ได้ออกแบรนด์ใหม่ “กิตติ-ตะวัน” มีให้เลือก 4 รส คือ ดั้งเดิม น้ำอ้อย อัลมอนด์ และสตอเบอรี่ ขายในราคา 1 แพค 4 ห่อ 45 บาท วางตำแหน่งเป็นสินค้าของฝาก ขายตามร้านของฝากทั่วประเทศ รวมถึง เตรียมจะส่งออกต่างประเทศ

“จากที่เราขยายช่องขายถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น ผ่านร้านเซเว่นฯ และเร็วๆ นี้ จะส่งเข้าห้างสรรพสินค้า และส่งออกต่างประเทศ ทำให้ปีนี้ (2556) ยอดขายของเราน่าจะเพิ่มประมาณ 5-10% หรือมียอดขายรวม 50 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ผมก็จะพัฒนานวัตกรรมขนมข้าวซอยตัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้บริโภครู้จักและชื่นชอบขนมชนิดนี้มากยิ่งขึ้นด้วย” ปัญญา กล่าวในตอนท้าย
มาตรฐานระดับส่งออก
โทร.08-3209-1448 , www.alldaysnack.com, www.facebook.com/platongsnack

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น