xs
xsm
sm
md
lg

สศอ.ดันเอกชนผนึก 9 สถาบันผุดนวัตกรรมใหม่ภายใต้แผนแม่บท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชกุล ผู้อำนวยการสถาบันไทย–เยอรมัน (TGI)
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระดมสรรพกำลังผลักดันให้ภาคเอกชนพัฒนาตนเองร่วมกับสถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม 9 สถาบันภายใต้แผนแม่บท ผุดโครงการพัฒนาเครื่องจักรต้นแบบแปรรูปไม้สักเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการให้มีศักยภาพด้านการผลิตและลดต้นทุนการผลิต รองรับสถานการณ์การแข่งขันในตลาดโลก

ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สศอ.ได้ผลักดันให้ภาคเอกชนมีการพัฒนาตนเองร่วมกับสถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม 9 สถาบัน (สถาบันไทย-เยอรมนี, สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ, สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ, สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์,สถาบันยานยนต์, สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ, สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย, สถาบันอาหาร) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องภายใต้แผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม และแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา เพื่อเป็นการยกระดับประสิทธิภาพด้านการผลิต การบริหารจัดการ เทคโนโลยี ด้านมาตรฐาน รวมถึงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานภาคอุตสาหกรรม โดยมีระยะเวลาในการดำเนินงานตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551-2555 ได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวนกว่า 1,500 ล้านบาทให้ดำเนินโครงการ 149 โครงการ

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาเครื่องจักรกลต้นแบบสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปไม้สักเป็นอีก 1 โครงการภายใต้แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา ซึ่ง สศอ.ได้ร่วมมือกับสถาบันไทย-เยอรมนีจัดทำโครงการนี้ขึ้นเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมแปรรูปไม้สักจากการศึกษา ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนารูปแบบและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเพื่อรองรับระบบการแข่งขันในตลาดโลก

ด้านนายจิรศักดิ์ เยาว์วัชกุล ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมนี (TGI) กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการพัฒนาเครื่องจักรกลต้นแบบสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปไม้สักได้รับการสนับสนุนงบประมาณภายใต้แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาของ สศอ. โดยมีขั้นตอนในการดำเนินงานคือ ศึกษาแนวทางกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปไม้สักและเครื่องจักรกลพื้นฐานร่วมกับผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปไม้สักในเขตพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง แพร่ ตาก กำแพงเพชร เพื่อให้การดำเนินงานตรงความต้องการของผู้ประกอบการ และสามารถลดต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมแปรรูปไม้สักในแต่ละขั้นตอนได้จริง

“ผลการดำเนินงานของโครงการฯ นับว่าได้ผลเป็นที่พอใจสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการและลดต้นทุนการผลิตได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะเครื่องจักรกลต้นแบบจะช่วยลดความยุ่งยาก และลดระยะเวลาในกระบวนการผลิตให้น้อยลงและช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนารูปแบบการแปรรูปไม้สักได้หลากหลายมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมแปรรูปไม้สัก นับเป็นนวัตกรรมใหม่ของอุตสาหกรรมแปรรูปไม้สัก ซึ่งนับจากนี้ทางสถาบันฯ และ สศอ.จะนำเครื่องจักรต้นแบบเหล่านี้ไปประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแปรรูปไม้สักนำมาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพมากยิ่งขึ้นภายใต้ต้นทุนที่ลดลงจากเดิม รวมทั้งเป็นการพัฒนารูปแบบของเฟอร์นิเจอร์ให้มีความหลากหลายรองรับความต้องการของตลาดโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง อันเป็นการส่งเสริมการส่งออกและช่วยให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย” นายจิรศักดิ์กล่าวในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น