‘ส.ขอนแก่นฟู้ดส์’ ปรับกลยุทธ์ หันเน้นพัฒนาเมนูอาหารรับไลฟ์สไตล์การบริโภคของคนรุ่นใหม่ ลุยปั้นร้านข้าวขาหมูภายใต้แบรนด์ ‘ยูนนาน บาย ส.ขอนแก่น’ หลังเห็นช่องว่างและโอกาสการขยายตลาด ประเดิมผุดจุดขายตามห้างสรรพสินค้าและแหล่งชุมชนหวังสร้างตราสินค้าให้เป็นที่รู้จัก ก่อนขยับเปิดขายแฟรนไชส์รูปแบบคีออส์ให้แก่ลูกค้าที่สนใจ ตั้งเป้าปีแรกผุด 30-50 สาขา
นายเจริญ รุจิราโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ส.ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SORKON ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ เปิดเผยว่า นโยบายทำตลาดและพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ของ ส.ขอนแก่น นับจากนี้จะเน้นต่อยอดการใช้วัตถุดิบจากเนื้อหมูไปสู่เมนูอาหารใหม่ที่ยังมีช่องว่างในการทำตลาดและมีการแข่งขันที่ไม่รุนแรงนัก เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์การบริโภคของคนรุ่นใหม่ ซึ่งล่าสุดบริษัทฯ มีแผนเปิดร้านข้าวขาหมู ภายใต้แบรนด์ ‘ยูนนาน บาย ส.ขอนแก่น’ เข้ามาทำตลาดในรูปแบบการเปิดร้านเดี่ยวและเป็นลักษณะคีออสก์ตามห้างสรรพสินค้าและแหล่งชุมชนต่างๆ ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้
นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนขยายร้านข้าวขาหมูไปยังแหล่งชุมชนต่างๆ รวมถึงสถานีบริการน้ำมัน ตลอดจนมีแผนที่จะเปิดขายแฟรนไชส์ให้แก่ผู้ที่สนใจลงทุนประกอบอาชีพทำร้านข้าวขาหมู ‘ยูนนาน บาย ส.ขอนแก่น’ ในรูปแบบคีออสก์ด้วยจุดเด่นที่ใช้เงินลงทุนไม่มาก โดยบริษัทฯ จะสนับสนุนด้านวัตถุดิบที่พร้อมจำหน่ายให้แก่ลูกค้า ซึ่งตั้งเป้าว่าภายใน 1 ปีจะมีจุดจำหน่ายร้านข้าวขาหมูในรูปแบบร้านเดี่ยวและรูปแบบคีออสก์ประมาณ 30-50 สาขา
สำหรับการรุกตลาดครั้งนี้สืบเนื่องมาจากบริษัทฯ มองเห็นโอกาสการทำตลาดร้านข้าวขาหมู เนื่องจาก ส.ขอนแก่นมีวัตถุดิบที่พร้อมและสูตรอาหารที่เป็นต้นตำรับจากประเทศจีนมาเป็นจุดขาย ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างการรับรู้แบรนด์ร้านข้าวขาหมู ‘ยูนนาน บาย ส.ขอนแก่น’ ได้ดียิ่งขึ้น โดยในช่วงแรกบริษัทฯ จะเน้นการสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้บริโภคได้รู้จักด้วยการลงทุนเปิดจุดจำหน่ายร้านข้าวขาหมูในโซนฟูดส์รีพับลิก ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาพระราม 3 และเซ็นทรัล แกรนด์ พระราม 9 รวมถึงแหล่งชุมชนต่างๆ เพื่อกระตุ้นการทดลองบริโภคให้แก่กลุ่มคนรุ่นใหม่
“ที่ผ่านมาเราผลิตขาหมูพะโล้เพื่อส่งออกไปฮ่องกงมานานแล้ว เราจึงมีความเชี่ยวชาญและมีความเข้าใจถึงความต้องการของผู้บริโภคในด้านรสชาติอาหาร ดังนั้นจึงถือเป็นโอกาสดีที่เราจะหันมาสร้างแบรนด์ร้านข้าวขาหมูภายใต้ชื่อ ยูนนาน บาย ส.ขอนแก่น ซึ่งช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในด้านอัตราการทำกำไรจากการจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ของตัวเองได้ดีกว่าการรับจ้างผลิตเพียงอย่างเดียว” นายเจริญกล่าว