สถาบันอาหาร - ม.หอการค้าไทยสำรวจความพร้อมผู้ประกอบการด้านอาหารไทยในการรับมือ AEC จากกลุ่มตัวอย่าง 78 ราย พบว่าร้อยละ 55.2 ยังไม่พร้อม จำแนกตามขนาดธุรกิจพบว่าธุรกิจขนาดใหญ่และกลางมีความพร้อมร้อยละ 50 ในขณะที่กลุ่มย่อยไม่พร้อมร้อยละ 83.3 ซึ่งสินค้าที่มีความพร้อมมากที่สุด 2 สาขาได้แก่ กลุ่มเนื้อสัตว์ และเครื่องปรุงรส และจากผลสำรวจผู้ประกอบการที่ใช้สิทธิประโยชน์ AEC มีเพียงร้อยละ 28.4 ด้าน ม.หอการค้าไทยระบุ เอสเอ็มอีกลุ่มน่าห่วง เพราะขาดความรู้ด้านข้อมูลเชิงลึก ขาดความเข้าใจเรื่องกฎหมาย และมาตรการภาษี
นางอรวรรณ แก้วประกายแสงกูล รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า สถาบันอาหารได้ทำการสำรวจความพร้อมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทยในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 78 ราย ประกอบด้วย ธุรกิจขนาดเล็กจำนวน 15 ราย (ร้อยละ 19) ธุรกิจขนาดกลางจำนวน 17 ราย (ร้อยละ 22) และธุรกิจขนาดใหญ่จำนวน 46 ราย (ร้อยละ 59) จากผลการสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารส่วนใหญ่ร้อยละ 55.2 ยังไม่พร้อมในการรับมือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ส่วนผู้ประกอบการที่พร้อมรับมือ AEC มีเพียงร้อยละ 44.8
หากจำแนกธุรกิจตามขนาดกิจการ พบว่า กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลางมีความพร้อมในการรับมือ AEC ในสัดส่วนใกล้เคียงกันอยู่ที่ร้อยละ 51.2 และ 50.0 ตามลำดับ ในขณะที่กลุ่มธุรกิจขนาดย่อมที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 83.3 ยังไม่พร้อมรับมือ AEC หากจำแนกธุรกิจ พบว่ากลุ่มที่ผลิตเพื่อการส่งออก และกลุ่มที่จำหน่ายในประเทศ พบว่าผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจที่จำหน่ายในประเทศ ร้อยละ 63.9 ไม่พร้อมรับมือ AEC ตรงข้ามกับกลุ่มที่ผลิตเพื่อการส่งออกร้อยละ 54.8 ตอบว่าพร้อมรับมือ AEC
อย่างไรก็ตาม เมื่อแยกตามกลุ่มธุรกิจสินค้า พบว่ามีเพียง 2 สาขา ได้แก่ กลุ่มธุรกิจเนื้อสัตว์ และเครื่องปรุงรส มีสัดส่วนความพร้อมมากที่สุดที่ร้อยละ 62.5 รองลงมาคือ กลุ่มเครื่องปรุงรสที่มีสัดส่วนความพร้อมที่ร้อยละ 60.0 ส่วนกลุ่มที่ไม่พร้อมมีจำนวน 5 สาขา ได้แก่ กลุ่มผู้ค้าข้าว ผู้ผลิตน้ำมันพืช กลุ่มแปรรูปผักผลไม้ กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม และกลุ่มอาหารทะเลแปรรูป โดยกลุ่มผู้ประกอบการค้าข้าว และผู้ผลิตน้ำมันพืชไม่พร้อมรับมือ AEC มากที่สุด มีสัดส่วนร้อยละ 80.0 เท่ากันทั้งสองสาขา ส่วนกลุ่มแปรรูปผักผลไม้ กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม และกลุ่มอาหารทะเลแปรรูป มีจำนวนผู้ที่ไม่พร้อมรับมือ AEC รองลงมาคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60.0, 60.0 และ 54.5 ตามลำดับ
สำหรับผลการสำรวจด้านการใช้สิทธิประโยชน์จาก AEC ของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมอาหารในช่วงที่ผ่านมา พบว่ามีเพียงร้อยละ 28.4 โดยผู้ประกอบการที่ใช้ประโยชน์จาก AEC ในการขอการรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อให้ได้สิทธิยกเว้นภาษี หรือลดอัตราภาษี สำหรับสินค้าส่งออกมีสัดส่วนมากที่สุดที่ร้อยละ 47.4 ส่วนการขอรับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีนำเข้าสินค้า และการใช้สิทธิประโยชน์ทั้งสองทางมีสัดส่วนเท่ากันที่ร้อยละ 26.3
“สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้ประกอบการบางส่วนไม่ได้ทำการค้าอยู่ในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้น การขอรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ AEC จึงยังมีน้อย ประกอบกับอัตราภาษีที่ลดต่ำลงมากจนเป็น 0% เกือบหมดแล้วในปัจจุบัน จึงทำให้การใช้สิทธิประโยชน์จาก AEC มีสัดส่วนไม่มาก ขณะที่ผู้ประกอบการมากกว่าร้อยละ 60.0 มองว่า AEC ส่งผลด้านบวกต่อธุรกิจของตนมากกว่าด้านลบ แต่ผลสำรวจความคิดเห็นในประเด็นความพร้อมในการรับมือ AEC กลับมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 37.0 ชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีมาตรการใดๆ ในการรับมือ AEC”
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงสถานการณ์ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยในตลาด AEC ว่า สำหรับกลุ่มปัญหาด้านการตลาดกลุ่มเอสเอ็มอี เนื่องจากขาดข้อมูลเชิงลึก และขาดความเข้าใจเรื่องกฎหมายด้านการภาษี และมาตรการที่มิใช่ภาษี ซึ่งแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน จำเป็นต้องศึกษาอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุนหรือดำเนินธุรกิจ ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการต้องมีความเข้าใจในสถานการณ์การแข่งขันในตลาดประเทศนั้นๆ ด้วยว่าเรากำลังทำธุรกิจแข่งอยู่กับใครบ้าง เป็นนักลงทุนจากประเทศใด มีศักยภาพอยู่ในระดับใด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือหรือปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ในภาพรวมแล้วควรต้องทำความเข้าใจว่าในกลุ่มประเทศ AEC แต่ละประเทศนั้นดำเนินนโยบายการเมืองการปกครองเป็นแบบใด เช่นเดียวกับการคำนึงถึงการจัดกลุ่มประเทศด้านการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว กำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนา เพื่อการใช้ประโยชน์สูงสุดด้านการลงทุนและการส่งออก
สำหรับปัญหาของผู้ประกอบการในเรื่องของ AEC เป็นปัญหาในเรื่องของความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน โดยเฉพาะในเรื่องของห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์ เพราะทุกคนไม่สามารถดำเนินทุกขั้นตอนการผลิตได้ด้วยตัวเอง จำเป็นที่ต้องมีการเชื่อมโยงธุรกิจเข้าด้วยกัน และมีการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจในสายการผลิตของตนเองร่วมกัน ด้านการตลาด ผู้ประกอบการควรที่จะได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานในประเทศนั้นเพื่อนำมาปรับปรุง และผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด
อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแล้วผู้ประกอบการควรมีความรู้ความเข้าใจและพัฒนาธุรกิจของตนเองอย่างสม่ำเสมอโดยรวม 6 ด้านด้วยกัน ได้แก่ สารสนเทศ เทคโนโลยี การเงิน กฎหมาย ลอจิสติกส์ และทรัพยากรมนุษย์ เพื่อผลักดันให้ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยสามารถแข่งขันในตลาด AEC ได้ในระยะยาว
สำหรับบทบาทสถาบันอาหารต่อ AEC ในครั้งนี้ ได้วางบทบาทไว้ 3 แนวทาง ได้แก่ 1. เพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจเชิงลึกด้านการค้าและการผลิตอาหารให้แก่บุคลากรในภาคอุตสาหกรรมอาหาร โดยการวิจัยแนวทางการเข้าสู่ AEC 2. ขยายโอกาสและลดผลกระทบทางการค้าโดยวิจัยแนวทางขยายการค้าและวิจัยเชิงลึกในด้านต่างๆ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในกลุ่มประเทศ AEC การให้บริการแก่อุตสาหกรรมอาหารในกลุ่มประเทศ AEC ในด้านต่างๆ เช่น การจัดสัมมนา เวิร์กชอปจับคู่ธุรกิจ และศึกษาดูงาน ณ ประเทศในกลุ่ม AEC 3. ปรับปรุงห่วงโซ่รองรับการเปลี่ยนแปลง อาทิ สนับสนุนให้มีการจัดตั้ง AEC Food Industry Center การเตรียมจัดตั้งระบบเฝ้าระวังอาหารนำเข้า และการพัฒนาสู่ technical arms ของกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจ (ลาว กัมพูชา พม่า)