อุทยานการเรียนรู้ TK park แนะวิธีคลายร้อนจากภูมิปัญญาเก่าแก่ของบรรพบุรุษ ด้วยการทำ "น้ำอบไทยโบราณ" สืบสานเครื่องหอมไทยให้อยู่คู่สังคม ที่น้อยคนรักจะรู้วิธีคลายร้อนที่ดีที่สุดที่คนไทยใช้กันมาตั้งแต่สมัยสมัยโบราณกาล นั่นคือการประพรมร่างกายด้วยเครื่องสำอางโบราณที่มีชื่อว่า “น้ำอบไทย”
น้ำอบไทย ถือเป็นเครื่องสำอางที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยใช้ประพรมร่างกายเพื่อเพิ่มความเย็น สดชื่น ช่วยให้เกิดความกระปรี้กระเปร่า และคลายร้อนได้เป็นอย่างดี เพราะมีส่วนประกอบของสมุนไพรไทย ได้แก่ ไม้จันทน์เทศ ชะลูด และใบเตย ที่มีสรรพคุณดับพิษร้อน และยังมีแป้งหินและพิมเสนเป็นตัวช่วยให้เกิดความเย็นสบาย
แต่ปัจจุบันน้ำอบไทยกลับนิยมใช้ในงานพิธีมงคล เช่น รดน้ำสังข์ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ หรือใช้ในงานอวมงคลอย่างงานศพ เป็นต้น จนหลายคนอาจลืมไปว่า น้ำอบไทย คือเครื่องสำอางที่ได้รับความนิยมในสมัยโบราณกาล ใช้ประพรมตามร่างกายเพื่อเพิ่มความสดชื่นและเย็นสบาย โดยไม่ต้องพึงพัดลมหรือแอร์คอนดิชั่นอย่างในสมัยนี้
นอกจากน้ำอบไทยที่เป็นเครื่องสำอางแล้ว ยังมี “น้ำปรุง” ซึ่งถือเป็นน้ำหอมของไทย เริ่มมีในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยน้ำปรุงต่างจากน้ำอบตรงที่น้ำปรุงมีแอลกอฮอร์เป็นส่วนผสม และต่างจากน้ำหอมต่างประเทศตรงที่มีส่วนผสมของสมุนไพรไทย
น้ำปรุงในอดีตมีเพียงกลิ่นเดียวที่ได้รับความนิยมคือกลิ่นเตยหอม แต่ปัจจุบันจากการวิจัยและพัฒนาของ ผศ.ไศลเพชร ศรีสุวรรณ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ทำให้น้ำปรุงมีถึง 8 กลิ่น ได้แก่ ดอกบัวหอม กระดังงา มะลิ จำปี เตยหอม กุหลาบ ชมนาด และบัวแดง ขณะเดียวกันก็ได้พัฒนาน้ำอบไทยให้สามารถใช้ได้ทุกฤดู เป็นน้ำอบไทย 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว และมีกลิ่นดอกบัวซึ่งสามารถใช้ได้ทุกฤดู
“น้ำอบและน้ำปรุงเป็นเครื่องสำอางใช้ในการประพรมร่างกาย แต่ช่วงหลังกลับเป็นที่นิยมในงานพิธีต่างๆ แทน ซึ่งจริงๆ แล้วน้ำอบไทยใช้กับร่างกายดีที่สุด ที่คนเราสามารถนำน้ำอบไทยประพรมคลายร้อนช่วยให้เย็นขึ้น สามารถดับพิษร้อนได้ เพราะสมุนไพรที่ใช้มีสรรพคุณดับพิษร้อน ทั้งไม้จันทน์หอม ทั้งชะลูดและใบเตย มีสรรพคุณดับพิษร้อนที่อยู่ในร่างการ เมื่อทาแล้วสามารถดับพิษร้อนที่อยู่ในร่างกายได้ทันที ขณะที่พิมเสนและแป้งร่ำเป็นตัวที่ช่วยให้เกิดความเย็น โดยที่ไม่ต้องคิดถึงแอร์หรือ พัดลม” ผศ.ไศลเพชร กล่าว
สำหรับวิธีการทำน้ำอบนั้นไม่ยาก ผ.ศ.ไศลเพชร อธิบายขั้นตอนให้ฟังว่า เริ่มจากต้มน้ำ 10-12 ลิตรจนเดือดแล้วลดไฟลง จากนั้นใส่ใบเตยมัดเป็นจุกประมาณ 8-10ใบ ใส่ชะลูด จันทน์เทศ และต้มต่อไปอีประมาณ 30 นาทีจะได้น้ำสีเหลืองเข้ม ตั้งไว้จนอุ่นและกรองด้วยกระช้อนหรือผ้าขาวบาง หลังจากนั้นจึงปรุงด้วยพิมเสน แป้งหินและหัวน้ำหอมกลิ่นต่างๆ จากนั้นนำไปร่ำในโถอบ ด้วยการร่ำด้วยเทียนหอม ได้เป็นน้ำอบกลิ่นหอมเย็นชื่นใจ
จากการได้มาสอนให้เยาวชนและบุคคลที่สนใจนั้นได้เรียนรู้ถึงกระบวนการในการทำน้ำอบไทย ที่อุทยานการเรียนรู้ TK park นั้น ผศ.ไศลเพชร ศรีสุวรรณ บอกว่า รู้สึกดีใจที่ได้นำภูมิปัญญาไทยมาถ่ายทอดให้กับเด็กๆซึ่งถือเป็นอนาคตของชาติ ซึ่งในอนาคตจะเป็นผู้สืบต่อภูมิปัญญาเหล่านี้ไปได้ และเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ส่งเสริมให้รู้จักใช้ผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทย
ด้าน น.ส.อภิญญา ชนนะมะ หรือ มีน นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี 1ในผู้สาธิตการทำน้ำอบไทย บอกว่า มีความสนใจเรื่องเครื่องหอมของไทยอยู่แล้ว เคยเห็นว่างขายตามตลาดแต่ไม่รู้ว่ามีวิธีการทำอย่างไร จึงสนใจที่จะเรียนทางด้านนี้ และอยากจะลองคิดค้นสูตรใหม่ขึ้นมาเพื่อให้ตรงกับความต้องการของวัยรุ่น ซึ่ง มีน บอกว่า น้ำอบไทยมีเสน่ห์ที่กลิ่นหอมนุ่มนวล ดึงดูดใจและน่าค้นหา
ผู้สนใจสามารถติดตามกิจกรรมดีๆ อีกมากมายที่อุทยานการเรียนรู้ TK park เปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้นอกห้องเรียน เข้าใจ รักษาและสืบสานความเป็นไทย รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ได้ที่ อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ หรือ www.tkpark.or.th