อุตสาหกรรมไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ หวั่นขึ้นค่าแรง 300 บ. กระทบรุนแรง ระบุภัยน้ำท่วมยังตามหลอน ฟันธงกิจการขนาดเอสเอ็มอี อาจต้องปิดกิจการไม่น้อยกว่า 50%
นายศุภชัย สุทธิพงษ์ชัย นายกสมาคมอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย เปิดเผยว่า จากนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันที่จะมีผลนำร่อง 7 จังหวัดวันที่ 1 เม.ย.นี้ สิ่งที่เป็นห่วงมากสุดก็คือผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม หรือเอสเอ็มอี ที่ประสบภาวะน้ำท่วม ซึ่งขณะนี้ยังไม่ฟื้นตัวแต่จะต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มมีแนวโน้มว่า ในปีนี้ (2555) จะปิดกิจการไม่น้อยกว่า 50% จากปัจจุบันที่มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในกลุ่มผลิตชิ้นส่วนฯป้อนอุตสาหกรรมหลัก เช่น ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ พลาสติก ประสบภาวะน้ำท่วมมีอย่างต่ำ 20,000 ราย
ทั้งนี้ ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแลกลุ่มเอสเอ็มอีเร่งด่วน ใน 2 ประเด็น คือ 1.จัดหาแหล่งเงินทุนช่วยเหลือ และ 2.ผ่อนปรนภาษี โดยยกเว้นหรือลดหย่อนอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายซึ่งปัจจุบันเก็บในอัตรา 3% ให้เหลือ 0.5% ซึ่งจะช่วยเอสเอ็มอีได้มากกว่าการลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล จาก 30% เหลือ 23% และเหลือ 20% เพราะมาตรการนี้เอสเอ็มอีแทบไม่ได้ประโยชน์ใดๆ
ด้านนายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เกล่าวในการประชุมใหญ่สามัญสมาชิกประจำปีหอการค้าไทยครั้งที่ 46 ประจำปี 2554 ว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ในประเทศ จะแข่งขันได้ลำบากขึ้น เพราะค่าครองชีพทั้งจากราคาน้ำมันและค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าของเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นด้วย รวมทั้งขณะนี้ยังไม่เห็นมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีอย่างจริงจังจากรัฐบาล