เป็นธรรมดาที่ผู้ประกอบการรายเล็ก โดยเฉพาะธุรกิจในชุมชน ยากจะแข่งขันด้านการตลาดกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ ทว่า หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐฯ ให้คำปรึกษาเพื่อลดต้นทุนการผลิต และพัฒนาศักยภาพให้เทียบเท่า จะมีส่วนช่วยให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ เช่นเดียวกับ “สหกรณ์โคนมเชียงใหม่” ที่มาจากการรวมตัวของชาวบ้าน ทั้งส่งน้ำนมดิบให้บริษัทเอกชนรายใหญ่ และสร้างแบรนด์ของตนเอง
การก่อตั้งสหกรณ์โคมนมเชียงใหม่ มาจากสมาชิกจำนวน 220 คนในเขต อ.สารภี อ.สันกำแพง และอ.สันทราย ได้รับซื้อน้ำนมดิบจากสมาชิกผ่านศูนย์ของสหกรณ์จำนวน 5 แห่ง เฉลี่ยวันละ 29 ตัน ซึ่ง “นางปราณี มูลอิ่น" ผู้จัดการสหกรณ์โคนมเชียงใหม่ จำกัด กล่าวว่า น้ำนมดิบที่ทางสมาชิกได้จัดส่งมานั้นทางสหกรณ์ได้นำส่งให้แก่ "บริษัทซีพี เมจิ" และ "บริษัทเฟรชมิลล์" ประมาณ 10 ตัน/วัน และผลิตนมพาสเจอร์ไรส์ และนมยูเอชทีอีก 19 ตัน หรือประมาณ 70,000 ถุง โดยจากเดิมมีตลาดหลักคือ โรงเรียนที่ได้รับการจัดสรรจากส่วนราชการแต่ละท้องถิ่นให้ผลิตเป็นนมโรงเรียน เช่น จ.เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน ตาก ลำพูน และชัยนาท ส่วนปริมาณน้ำนมที่เหลือผลิตเป็นนมตลาดประมาณ 10,000 ถุง/วัน ภายใต้แบรนด์ “สหกรณ์โคนมเชียงใหม่”
อย่างไรก็ตาม เมื่อดำเนินธุรกิจทั้งการส่งน้ำนมดิบ และผลิตนมถุงและกล่องแบรนด์ตนเอง ก็ประสบปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการผลิตไม่สามารถควบคุมการสูญเสียได้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นต้นทุนการผลิตทั้งสิ้น เริ่มจากการขายนมโรงเรียนจะมีราคากลางที่กำหนดไว้ตายตัว แต่ราคาน้ำนมดิบที่ได้มาไม่แน่นอนส่งผลให้กำหนดราคาไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ ในขณะที่การส่งน้ำนมดิบให้แก่บริษัทเอกชน เมื่อนำไปแปรรูปจะได้ราคาที่สูงกว่ามาก ทั้งที่ทางสหกรณ์ไม่สามารถขึ้นราคาน้ำนมดิบได้ตามใจชอบเนื่องจากมีราคากลางควบคุม
จากเหตุนี้เองทำให้หน่วยงานภาครัฐฯ เล็งเห็นศักยภาพของผู้ประกอบการที่หากมีการพัฒนาด้านการผลิตและการตลาดจะทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน รวมถึงยังทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มมากขึ้น จึงคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในสถานประกอบการเข้าร่วม “โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของกระทรวงอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค" หรือ OPOAI ของพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
“เมื่อหน่วยงานภาครัฐฯ เข้ามาดูกระบวนการผลิต ก็พบว่า เรามีปัญหามากมาย เช่น ไม่มีการจัดทำระบบผลการดำเนินงานที่ชัดเจนว่ามีกำไรและขาดทุนเท่าใด การสูญเสียน้ำนมดิบจากกระบวนการผลิต การวางแผนการผลิตนมกล่องยูเอชทียังไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นปัญหาที่สมาชิกทุกคนมองข้ามมาโดยตลอด ทั้งๆ ที่สามารถลดต้นทุนได้เป็นจำนวนมากหากใส่ใจในเรื่องเหล่านี้” ผู้จัดการสหกรณ์ ระบุ
แต่หลังจากเจ้าหน้าที่จากโครงการ OPOAI เข้ามาช่วยเหลือในแง่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ก็พบว่าสามารถลดปริมาณนมสูญเสียจากนมถุงรั่วหรือถุงแตกระหว่างการบรรจุได้ 17.72% หรือราว 275,706 บาท มีการบันทึกข้อมูลการรับจ่ายน้ำนมดิบเพื่อให้ยอดทางบัญชีถูกต้องตรงกับปริมาณน้ำนมดิบที่มีอยู่จริง เพื่อสามารถวางแผนการผลิตนมกล่องยูเอชทีได้แม่นยำขึ้น
จากประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์นมของสหกรณ์โคนมเชียงใหม่ จำกัด ถือว่าเป็นนมที่มีคุณภาพสูงไม่แพ้แบรนด์ใหญ่ จากนมโคมแท้ 100% ไม่ผสมนมผงทำให้มีความมันของน้ำนมเต็มที่ รวมถึงได้รับการรับรองมาตรฐาน อย. GMP และ HACCP จากการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ผู้นำองค์กรให้ความสำคัญกับการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่องจากมีแหล่งผลิตน้ำนมดิบของตนเองในกลุ่มสมาชิกสหกรณ์
สำหรับแผนธุรกิจในอนาคตทางนางปราณี ฐานะผู้จัดการสหกรณ์โคนมเชียงใหม่ จำกัด บอกว่า จะลดการส่งมอบน้ำนมดิบแก่บริษัทเฟรชมิลล์ แต่จะนำน้ำนมดิบเข้าสู่การผลิตนมกล่องยูเอชทีมากขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่า และยืดอายุการจัดเก็บนมให้นานขึ้น ที่ผลปรากฎว่าทำให้ยอดขายสูงขึ้นในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 18.84 ล้านบาท หรือ 74% ของยอดขายเดิม ซึ่งอนาคตจะพัฒนานมกล่องยูเอชทีและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น อย่าง ไอศกรีม นมเปรี้ยวและผลิตภัณฑ์นมบรรจุขวดต่อไป
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@
***ติดต่อ 05-3423-052, 08-9191-5773 และ 08-6914-7474***