ก.คลังเตรียมออกมาตรการลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเสนอครม.สัปดาห์หน้า ในรูปแบบเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อฟื้นฟูกิจการ ระบุปล่อยผ่านเอสเอ็มอีแบงก์ 1 หมื่นล. และผ่านแบงก์พาณิชย์ต่างๆ อีก 5 หมื่นล. รวม 6 หมื่นล. พร้อมให้ บสย.ร่วมค้ำประกัน อีกทั้ง สำรองวงเงิน 1 หมื่นล. ตั้งกลุ่มร่วมทุนสำหรับธุรกิจเกิดใหม่
นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐบายเตรียมมาตรการเยียวยาภาคธุรกิจที่ประสบอุทกภัย โดยใช้แนวทางจัดให้มีวงเงินเพื่อการฟื้นฟูหลังเหตุน้ำท่วมให้เพียงพอและคล่องตัวขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในสัปดาห์หน้า ให้มีการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์) วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท และปล่อยกู้ผ่านธนาคารพาณิชย์อีก 5 หมื่นล้านบาท เพราะมีความคล่องตัวกว่า แต่จะเป็นการให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาร่วมค้ำประกันสินเชื่อ โดยจะเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันเพิ่มจากปัจจุบันที่ทำอยู่ 15% เพื่อให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น
นอกจากนั้น ยังจะมีอีกวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ที่จะค้ำประกันสำหรับธุรกิจเกิดใหม่หรือตั้งตัวใหม่ที่ดำเนินธุรกิจไม่เกิน 2 ปี ที่ต้องการเงินทุนในการเสริมธุรกิจ ด้วยการตั้งกองทุนร่วมทุน (Venture Capital) เพื่อมาลงทุนในธุรกิจเกิดใหม่ที่ต้องการเงินลงทุน ซึ่งกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างศึกษาว่าจะมีการชดเชยให้ครึ่งหนึ่งหรือไม่ โดยธนาคารพาณิชย์ต้องพิจารณาความเป็นไปได้ของธุรกิจประกอบด้วย
นายธีระชัย ระบุด้วยว่า กระทรวงการคลังจะเสนอให้ปีหน้าเป็นปีแห่งการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยนอกจากการเตรียมความพร้อมจากผลกระทบในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทแล้ว ยังจะมีมาตรการเพิ่มเติมสำหรับธุรกิจที่ลงทุนในการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนสินค้า เพิ่มมูลค่าการผลิต ซึ่งจะได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ขณะที่ ธุรกิจเอสเอ็มอี หากมีการลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ จะปรับเกณฑ์ให้สามารถหักค่าเสื่อมได้เต็มจำนวนในปีแรก หรือสามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักจากกำไรได้ 100% ในปีแรกหรือหากกำไรไม่พอก็สามารถทยอยหักได้ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นขึ้น และอำนวยความสะดวกในการลงทุนด้วย