xs
xsm
sm
md
lg

'ตลาดชนบท' มินิมาร์ทของฝากชุมชน ชู 20 บาท ถูกใจลูกค้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร้าน ตลาดชนบท ตกแต่งสไตล์ตลาดโบราณ
ตกแต่งร้านบรรยากาศตลาดย้อนยุค ภายในรวบรวมสินค้าพื้นบ้านกว่า 1,000 รายการ ทั้งของกินและแฮนด์เมด ที่สำคัญสร้างจุดขายด้านราคา ซื้อง่ายขายคล่อง ชิ้นละ 20 บาท เหมาะติดมือกลับไปเป็นของฝาก นี่เป็นกลยุทธ์แม่เหล็กของร้าน “ตลาดชนบท” ใช้ดึงดูดลูกค้านักท่องเที่ยวอย่างได้ผล ประกอบกับนำระบบค้าปลีกสมัยใหม่มาปรับใช้ หนุนให้กิจการเติบโตอย่างรวดเร็ว
สุดใจ ผ่องแผ้ว
ร้านดังกล่าวบุกเบิกโดย “สุดใจ ผ่องแผ้ว” กรรมการผู้จัดการ บริษัท หนองมน เอส เอ็ม เจ โปรดักส์ จำกัด จากแนวคิดปรับตัวทางธุรกิจ

เธอ อธิบายว่า บริษัทฯ ผลิตสินค้าอาหารแปรรูปบรรจุซอง มากว่า 19 ปี ทั้งประเภทขนมหวาน ผลไม้อบแห้ง และของทะเลอบแห้ง เป็นต้น  เน้นขายส่งผ่านพ่อค้าคนกลางกระจายต่อไปยังร้านขายของฝากทั่วประเทศ ลักษณะของฝาก 3 ถุง 100 บาท
สินค้าชิ้นละ 20 บาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อราว 4-5 ปีที่แล้ว ยอดขายลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากเฉลี่ยปีละ 120 ล้านบาท เหลือ 90 ล้านบาท เช่นเดียวกับผู้ผลิตเจ้าอื่นๆ ในธุรกิจเดียวกัน ยอดลดไม่แตกต่าง สาเหตุสำคัญจากพฤติกรรมผู้ค้าส่งและผู้ค้าปลีกรายย่อยเปลี่ยนไป มักซื้อเหมาสินค้าชั่งกิโลกรัมจากแหล่งผลิต แล้วนำไปแยกบรรจุซองเอง ซึ่งได้กำไรสูงกว่าซื้อบรรจุซองสำเร็จรูป ประกอบกับการขายส่งได้กำไรค่อนข้างน้อย ราว 10% ทำให้เกิดแนวคิด เพิ่มช่องทางตลาด เปิดร้านขายปลีกเองในชื่อ “ตลาดชนบท” (The Country Market)

“เมื่อคิดจะทำร้านขายปลีก เราเริ่มจากดูสินค้าของตัวเองว่า เป็นกลุ่มของฝาก ดังนั้น ทำเลต้องเป็นแหล่งท่องเที่ยวเท่านั้น ข้อต่อมา ตัวสินค้าต้องมีคุณภาพที่ลูกค้าเชื่อมั่น อย่างประเภทอาหารทั้งหมดที่อยู่ในร้าน ต้องได้เครื่องหมาย อย. นอกจากนั้น เพิ่มความหลากหลาย โดยสรรหาสินค้าจากผู้ผลิตสินค้าโอทอปทั่วประเทศเข้ามาขายในร้าน”

“นอกจากนั้น สร้างจุดเด่น ทั้งตกแต่งร้านในบรรยากาศตลาดย้อนยุค เข้ากับลักษณะสินค้า ที่สำคัญ เน้นขายสินค้าที่ผู้ซื้อรู้สึกคุ้มค่า ดึงดูดด้วยราคาชิ้นหรือถุงละ 20 บาท ซื้อ 5 ถุง 100 บาท ในชื่อตรา ‘OK TWENTY’ เพื่อทดแทนสินค้าประเภทนี้ที่ทั่วไปจะขายถุงละ 35 บาท 3 ถุง 100 บาท ทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกว่า จ่ายสะดวก และคุ้มค่ากว่า เหมาะจะซื้อกลับเป็นของฝาก” สุดใจ อธิบาย
รวบรวมสินค้าของชุมชนกว่า 1,000 รายการ
ในส่วนปริมาณอาหารในซอง หากจ่าย 100 บาทเท่ากัน แบบ 5 ถุงจะมีปริมาณมากกว่า แบบ 3 ถุง 100 บาท เนื่องจากเป็นผู้ผลิตเองทำให้ต้นทุนผลิตต่ำกว่า อีกทั้ง ในส่วนสินค้าที่รับมาขาย จะต้องลงไปคลุกคลีใกล้ชิดกับกลุ่มผู้ผลิตชุมชน เพื่อให้ความรู้ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และต้นทุนลดลง

“ตัวอย่างกระเป๋าสตางค์ถักที่เราขายในร้านใบละ 20 บาท ตอนแรกที่ติดต่อไปยังกลุ่มแม่บ้าน เขาบอกราคาขายส่งใบละ 25 บาท เพราะต้นทุนก็ใบละ 20 บาทแล้ว ได้กำไรใบละ 5 บาท แต่เมื่อเราลงไปดูในรายละเอียด เห็นจุดรั่วไหลอยู่มาก เลยช่วยจัดระบบทำงานใหม่ รวมถึงหาแหล่งวัตถุดิบราคาถูกให้ ปัจจุบัน กลุ่มนี้ผลิตของแบบเดิมได้ในต้นทุน 8 บาท สามารถส่งของให้เราได้ในราคาใบละ 14 บาท และได้กำไรเพิ่มเป็นใบละ 6 บาทด้วย” สุดใจ เล่าและเสริมด้วยว่า ในการซื้อขายสินค้ากับกลุ่มโอทอปต่างๆ จะจ่ายเป็นเงินสดทั้งหมดและทันที เพื่อซื้อใจ และยังสร้างแรงจูงใจในการทำงานคุณภาพด้วย

ปัจจุบัน สินค้าในร้าน “ตลาดชนบท” มีรวมกันกว่า 1,100 รายการ โดยผลิตเอง 20% ที่เหลือรับซื้อจากกลุ่มโอทอปเครือข่าย สินค้าแบ่งเป็น 3 หมวด ได้แก่ อาหาร แฮนด์เมด และสมุนไพร โดยในร้านมีสินค้าราคา 20 บาท ประมาณ 300 รายการ ที่เหลือราคาแตกต่างกันไป แต่สูงสุดไม่เกินชิ้นละ 1,500 บาท คือ สินค้าแฮนด์เมดชิ้นใหญ่
จุดขายของฝาก ห่อละ 20 บาท
เมื่อถามถึงหลักในการคัดสินค้าเข้าร้าน สุดใจ เผยว่า พยายามเน้นสินค้าที่มีอายุการวางขายได้ยาวนาน ป้องกันเสี่ยงเรื่องเน่าเสีย หรือล้าสมัย รวมถึง มีทีมทดสอบตลาด ศึกษาความพอใจของลูกค้าควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้ สัดส่วนยอดขายของร้าน ประมาณ 50% มาจากกลุ่มสินค้าราคา 20 บาท ส่วนอีก 50% เป็นสินค้าอื่นๆ ลูกค้าหลัก คือ นักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ กลุ่มสุภาพสตรี ตั้งแต่วัยรุ่น นักศึกษา สาวออฟฟิส และแม่บ้าน


นอกเหนือจากกลยุทธ์ตลาดข้างต้นแล้ว เอสเอ็มอีรายนี้ นำระบบบริหารจัดการค้าปลีกสมัยใหม่มาปรับใช้ ทั้งระบบไอทีตรวจนับสต๊อกสินค้าแบบนาทีต่อนาที โดยข้อมูลทุกสาขาจะออนไลน์เชื่อมถึงกัน มีการจัดอันดับสินค้าทุกๆ เดือน เพื่อใช้วางแผนพิจารณาว่า สินค้าตัวใดจะสั่งเพิ่มเติม หรือตัวใดจะตัดทิ้งออกไป รวมถึง ทุกสาขาติดตั้งกล้องวงจรปิด 4-6 ตัว ป้องกันรั่วไหล และสามารถสั่งการ บริหารทุกสาขาได้ในจุดเดียวกัน


สุดใจ ระบุด้วยว่า ร้านตลาดชนบท ได้ผลตอบรับอย่างสูง เริ่มเปิดสาขาแรกในปี พ.ศ.2552 ที่ตลาดน้ำ 4 ภาคเมืองพัทยา และขยายเพิ่มถึงปัจจุบัน รวม 5 สาขา เช่น ตลาดน้ำอโยธยา และตลาดหนองมน เป็นต้น ที่สำคัญ ช่วยเพิ่มสัดส่วนกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30% ต่อหน่วย จากเดิมขายส่งได้กำไรแค่ 10% ต่อหน่วยเท่านั้น
แบรนด์ OK20 สินค้าพระเอกประจำร้าน
ผลประกอบการของบริษัทปีที่ผ่านมา (2553) กว่า 150 ล้านบาท มาจากยอดขายร้านตลาดชนบททุกสาขารวมกันกว่า 50 ล้านบาท ส่วนแผนธุรกิจต่อไป เตรียมขยายเพิ่มอีก 4 สาขา เน้นทำเลแหล่งท่องเที่ยวเช่นเดิม ได้แก่ ตลาดหนองมน เมืองพัทยา และกรุงเทพฯ อีก 2 แห่ง

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

Key Succeed ร้าน “ตลาดชนบท”
เลือกทำเลทองย่านแหล่งท่องเที่ยว เหมาะสมกับสินค้า
คัดเลือกสินค้าคุณภาพ ตรงความต้องการลูกค้าเป้าหมาย
ลงทุนระบบไอที ตรวจสอบสินค้าได้แม่นยำ ป้องกันรั่วไหล
รับผิดชอบและซื่อสัตว์ต่อคนในองค์กร และลูกค้า

กำลังโหลดความคิดเห็น