xs
xsm
sm
md
lg

PICNIC ยักษ์เล็กโกอินเตอร์ ชูรสไทยแชร์ตลาดบะหมี่ซอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บะหมี่ซองแบรนด์ PICNIC
วงการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในเมืองไทย ตลาดแทบทั้งหมดจะถูกยึดครองโดยเจ้าใหญ่ไม่กี่ราย เป็นเรื่องยากมากที่หน้าใหม่จะแทรกตัวขึ้นมาแจ้งเกิดได้ แต่สำหรับแบรนด์ PICNIC อาศัยช่องว่างของตลาดส่งออกที่ยังมีความต้องการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยอีกสูงมาก นำเสนอสินค้ารสแบบไทยแท้ มาพร้อมแผนการตลาดยืดหยุ่นแบบเอสเอ็มอี เพื่อเป็นอีกทางเลือกแก่คู่ค้าต่างชาติ
นาวิน รักษาสุข
นาวิน รักษาสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวลส์-โกรว์ จำกัด ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสัญชาติไทย แบรนด์ PICNIC เล่าที่มาของธุรกิจ เกิดจากเดิมเคยทำงานอยู่บริษัทผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเจ้าใหญ่แห่งหนึ่ง ทำให้รู้ข้อมูลสำคัญที่ว่า ตลาดต่างประเทศมีความต้องการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยสูงมาก ทว่า ผู้ซื้อต่างชาติมักประสบปัญหาการซื้อสินค้าจากผู้ผลิตไทย เนื่องจากแต่ละรายล้วนแต่เป็นเจ้าใหญ่ จึงมีเงื่อนไขห้ามขายสินค้าคู่แข่ง รวมถึง มีกฎเกณฑ์เคร่งครัดอีกหลายประการ ดังนั้น เห็นช่องว่างที่จะเป็นสินค้าอีกทางเลือก ที่มีรสชาติแบบไทยเช่นกัน ในขณะที่เงื่อนไขธุรกิจต่างๆ มีความยืดหยุ่นสูงกว่า

ในส่วนตัวสินค้าของ PICNIC จะเน้นเอกลักษณ์บ่งบอกความเป็นไทยอย่างชัดเจน เช่น รสต้มยำกุ้ง รสต้มโคล้ง รสกะปิ กุ้งอบวุ้นเส้น และผัดไทย เป็นต้น ควบคู่กับรสชาติที่สากลรู้จักอย่างดี เช่น รสไก่ รสเป็ด และรสเนื้อ เป็นต้น รวมแล้วมีประมาณ 10 เมนู มีให้เลือกทั้งแบบถ้วย และซอง
รสต้มยำ เมนูดังของไทย
เจ้าของธุรกิจ เสริมว่า การพัฒนาสินค้าจะเน้นนำจุดเด่นจากยี่ห้อใหญ่ๆ มาไว้รวมกัน อย่างเส้นจะหยิบจุดเด่นจากเจ้าใหญ่รายหนึ่ง ส่วนรสชาติเครื่องปรุงใช้สูตรของอีกราย โดยนำมาผสมผสานให้ได้สินค้าที่ถูกใจผู้บริโภคมากที่สุด

นอกจากนั้น เนื่องจากเป็นผู้ผลิตระดับเอสเอ็มอี อาศัยข้อได้เปรียบพลิกแพลงกลยุทธ์ตลาดได้ง่ายกว่ารายใหญ่ ในส่วนของรสชาติจึงมีความยืดหยุ่นสูง กล่าวคือ แม้จะเป็นเมนูเดียวกัน แต่รสชาติความเข้มข้น จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับรสนิยมของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ

“แนวทางที่ผมใช้ คือ เน้นทำสินค้าตามความพอใจของลูกค้าเป็นหลัก ดังนั้น แม้จะเป็นเมนูรสต้มยำกุ้งเหมือนกัน แต่รสชาติความเข้มข้นที่ส่งไปขายในแต่ละประเทศจะแตกต่างกันไป ให้เหมาะกับพฤติกรรมผู้บริโภคประเทศนั้นๆ ซึ่งจุดนี้ รายใหญ่จะทำไม่ได้ เพราะต้องรักษามาตรฐานรสชาติให้เหมือนกันทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเมื่อเรามีความพร้อม ต้องพยายามสร้างจุดเด่นเฉพาะตัวประจำแบรนด์ต่อไป” นาวิน เผย
เส้นบะหมี่ของแบรนด์ PICNIC
เอสเอ็มอีไทยรายนี้ ก่อตั้งธุรกิจมาประมาณ 4 ปี ใช้เงินลงทุนเบื้องต้นกว่า 8 หลัก โดยทีมบริหารต่างเคยอยู่ในแวดวงผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แล้วนำความรู้ ประสบการณ์ และเครือข่ายธุรกิจที่สะสมกันมาร่วมกันสร้างธุรกิจใหม่ โดยตั้งโรงงาน อยู่ที่ จ.สมุทรสาคร ซึ่งได้มาตรฐานระดับส่งออก
รสผัดไทย  อีกเมนูยอดฮิตของไทย
นาวิน ระบุถึงแผนทำตลาดส่งออกเบื้องต้น ใช้วิธีแนะนำตัวเองผ่านทางอีเมลล์ไปยังเอเยนต์ต่างชาติ จากนั้น ส่งตัวอย่างสินค้าไปให้ทดลอง จนเริ่มมีออเดอร์เข้ามาต่อเนื่อง ตามด้วยขยายตลาดผ่านการออกงานแฟร์ผลิตภัณฑ์อาหารนานาชาติ ปีละ 2-3 ครั้งทั้งในและต่างประเทศ โดยตลาดปัจจุบัน เน้นส่งออกเป็นหลัก ยอดขายเฉลี่ยหลักแสนหน่วยต่อเดือน คู่ค้าสำคัญเป็นตลาดในเอเชีย เช่น มาเลเซีย ฮ่องกง และแถบตะวันออกกลาง ส่วนในประเทศเป็นผู้รับจ้างผลิต (OEM)
ภาพประชาสัมพันธ์ เมนูกุ้งอบวุ้นเส้น
ทั้งนี้ วางตำแหน่งสินค้าเป็นทางเลือกตรงกลางระหว่างสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตลาดบนจากญี่ปุ่น และเกาหลี กับสินค้าตลาดล่างจากประเทศจีน เช่นเดียวกับราคา วางอยู่ตรงกลางของตลาดเหมือนกัน โดยเฉลี่ยขายปลีกอยู่ที่ประมาณ 20-30 บาทต่อหน่วย (แล้วแต่ละประเทศ)

นาวิน เผยด้วยว่า ตลาดในประเทศ ยังคงเป็นลักษณะรับจ้างผลิตต่อไป ไม่ลงแข่งในแบรนด์ตัวเอง เพราะเป็นรองรายใหญ่ทุกด้าน ทั้งทุน ชื่อเสียง และเครือข่ายธุรกิจ ฯลฯ ส่วนตลาดต่างประเทศ ยังมีโอกาสอีกกว้าง เพราะขณะนี้ นอกจากแบรนด์ยักษ์ใหญ่แล้ว ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูประดับเอสเอ็มอีเพื่อส่งออกของไทยมีเพียง 2-3 รายเท่านั้น เมื่อเทียบกับกระแสนิยมอาหารไทยทั่วโลก ทำให้เชื่อว่ายังมีช่องทางที่จะขยายตลาดได้มาก

“ธุรกิจนี้ ตลาดในประเทศแทบจะไม่มีโอกาสเลย เพราะรายใหญ่ครองตลาดไว้เบ็ดเสร็จ แต่ตลาดต่างประเทศโอกาสยังมีอีกมาก ซึ่งผมพยายามวางตำแหน่งตัวเองให้เป็นทางเลือกตรงกลางในทุกด้านๆ ทั้งในแง่คุณภาพ และราคา เพื่อให้เราสามารถแทรกตัวอยู่ในตลาดได้นำเสนอเป็นสินค้าจากไทยแท้ๆ ในขณะที่ราคาไม่สูงเกินไป ซึ่งปัจจัยนี้ มีผลอย่างสูงต่อการตัดสินใจซื้อจากคู่ค้าต่างชาติ” นาวิน ระบุ
แบบบรรจุภัณฑ์ถ้วย
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@
กำลังโหลดความคิดเห็น