ตลาดน้ำกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ที่หลายจังหวัดต่างพัฒนาพื้นที่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะตลาดน้ำอโยธยา จ.พระนครศรีอยุธยา กลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป จากกระแสดังกล่าวทำให้พื้นที่ในส่วนของหมู่บ้านช้างอโยธยา ติดกับตลาดน้ำอโยธยา ถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวตลาดบกแห่งใหม่ นำวิถีไทยสมัยกรุงศรีอยุธยามาผสานความร่วมสมัยในเชิงศิลปะแห่งยุค และไอเดียใหม่ๆ รวมความเป็นไทยในรูปแบบเฉพาะตัว
นายยุทธ จันทร์กระจ่าง เจ้าของตลาดเศียรช้างไทย ฮิบ มาร์เก็ต เล่าว่า แม้ตนเองจะไม่ได้เติบโตจากการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับตลาดมาก่อน แต่ด้วยงานประจำที่ต้องเกี่ยวเนื่องกับงานด้านสื่อสารมวลชนเกือบทุกแขนงอย่าง นิตยสาร ภาพยนตร์ โฆษณา และงานเบื้องหลังต่างๆ ดังนั้นจึงหนีไม่พ้นการคิดสร้างสรรค์ลผลงานใหม่ๆ อยู่เสมอ เมื่อเห็นพื้นที่บริเวณหมู่บ้านช้างอโยธยาของพี่ชาย ใกล้กับแหล่งท่องเที่ยวตลาดน้ำอโยธยา จึงเกิดไอเดียสร้างตลาดบก พร้อมพัฒนาพื้นที่จากบ้านควาญช้างเดิม ปรับเปลี่ยนเป็นตลาดเศียรช้าง ที่มีเรื่องราวความเป็นมาของชื่อตลาด คือ บริเวณนี้ในอดีตสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นที่พักของช้างและม้าศึก ประกอบกับตนเองนับถือพระพิฒเนศ ซึ่งมีสัญลักษณ์ของเศียรช้าง สุดท้ายจึงกลายเป็นที่มาของชื่อ “ตลาดเศียรช้าง”
“พื้นที่บริเวณหมู่บ้านช้างอโยธยา เมื่อผมเห็นพื้นที่ก็คิดพัฒนาศักภาพให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่ครบเครื่องที่สุดในอยุธยา คือ สถานที่พักผ่อน เหมาะแก่การถ่ายภาพ ชูภูมิปัญญาสินค้าไทย ชิมอาหารอร่อย ล่องเรือ ขี่ช้าง สัมผัสเสืออย่างใกล้ชิด และดูการแสดงวิถีไทย โดยหวังให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัสกับตลาดย้อนยุค แฝงไว้ด้วยกลิ่นอายความโมเดิร์น แต่ก็ไม่ลืมรากเหง้าของความเป็นไทย”
การสร้างจุดขายของตลาดเศียรช้างเน้นไปที่การสร้างเรื่องราวกับทุกองค์ประกอบของตลาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ โดยอาศัยจินตนาการสอดแทรกเข้าไปในทุกสถานที่ เช่น สร้างช้างพลายเลนไทน์ ที่ทำจากรากไม้สักประกอบกันเป็นช้างตัวใหญ่ ซึ่งผู้สร้างช้างตัวนี้ทำด้วยใจใช้เวลาถึง 1 ปีเต็ม และเชื่อว่าไม้จากต้นไม้ใหญ่จะมีแม่หญ้านาง จึงทำให้เป็นที่เคารพและศรัทธา อีกทั้งช้างตัวนี้ยังถือกำเนิดให้ตลาดแห่งนี้ เมื่อวันทื่ 14 กุมภาพันธ์พอดี นอกจากนี้ยังสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อสร้างความเพลิดเพลินแก่นักท่องเที่ยวด้วย เช่น ตะเพียนอธิษฐาน ตามความเชื่อของคนไทยโบราณที่ว่าบ้านหรือร้านค้า หากมีปลาตะเพียนสานขึ้นแขวนจะเป็นสิริมงคล หรือการนั่งช้าง บริเวณเจดีย์วัดช้าง ที่เป็นศิลปะแบบช้างล้อม ชาวบ้านมักเรียกกันว่าเจดีย์วัดช้างร้อง เพราะในยามค่ำคืนช้างเพียงเชือกเดียวจะไม่สามารถเดินผ่านได้มันจะร้องและไม่ยอมเดิน ต้องมาเป็นขบวนถึงจะยอมเดินผ่านที่นี้ รวมถึงอุโมงค์กาลเวลา ที่เชื่อมต่อระหว่างชีวิตในเมืองสู่ยุคสมัยกรุงศรีอยุธยา บริเวณเจดีย์วัดช้าง ที่ทำให้ผู้พบเห็นรู้สึกเหมือนได้ย้อนกลับไปในอดีต
ทั้งนี้เรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องที่มีอยู่จริง ส่งผลให้ตลาดเศียรช้างมีเสน่ห์น่าเข้ามาสัมผัสบรรยากาศวิถีไทยย้อนยุค และกลับไปบอกต่อว่าที่นี่เป็นมากกว่า “ตลาด” และสถานที่ท่องเที่ยว แต่ที่นี่เป็นตลาดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเรียนรู้ประวัติศาสตร์และรากเหง้าของตนเอง
นอกจากความเพลิดเพลินจากการเนรมิตสถานที่ท่องเที่ยวทุกองค์ประกอบจะเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวแล้ว อาหารก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้หากมาตลาด ดังนั้นนายยุทธ จึงสรรหาอาหารย้อนวันวาน หรือเมนูที่นับวันจะหารับประทานยากเข้าไปทุกวัน อย่าง พระกระโดดกำแพง รสชาติเทียบภัตตาคารแต่ราคาสบายกระเป๋า และข้าวห่อใบบัว ของร้านหงิ่น, ร้านมุมอร่อย ที่นำเอาส่วนประกอบไทยๆ ที่รู้จักกันดีอย่างปลาทูมาทำเป็นแฮมเบอร์เกอร์ปลาทู, ร้านกะบอกต่อ ที่ใครแวะมาก็ต้องบอกต่อ เพราะมีการผสมผสานกระบอกไม้ไผ่เข้ากับอาหาร คือ หมูดอกอ้อ และไก่กระบอก, ร้านจ้ำบ๊ะ นมสดหวานเย็นแบบไทยๆ แต่จุดเด่นอยู่ที่หน้าตาแปลกใหม่ ด้วยการทำหน้าตาเป็นรูปหัวใจและให้ชื่อน่ารัก และร้านลุงพงษ์ ลงพุง จำหน่ายกุนเชียงที่ไม่ได้ทำจากหมู แต่ทำจากเนื้อปลาสลิดล้วนๆ น่าลิ้มลอง
แต่สำหรับใครที่ต้องการชอปปิ้งก็จะมีร้านเสื้อ กางเกง กระเป๋า เครื่องประดับเก๋ๆ ให้เลือกมากมาย หรือของฝากที่แสนธรรมดา อย่างเสื้อยืดแต่เต็มไปด้วยถ้อยคำที่เป็นมงคล อย่าง เสื้อเซียมซี ที่นักท่องเที่ยวก็เสี่ยงเซียมซีเพื่อให้ได้หมายเลข และก็อุดหนุนเสื้อเซียมซีกลับไปสวมใส่เพื่อความเป็นสิริมงคล หรือร้านตกถังข้าวสาร ร้านขายข้าวสารพิเศษตรงที่ให้ลูกค้าเลือกซื้อข้าวสารตามกรุ๊ปเลือดเพื่อดีต่อสุขภาพ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามแม้ตลาดเศียรช้างจะเปิดมาได้ประมาณ 2 เดือนเท่านั้น แต่ก็เห็นถึงความตั้งใจของเจ้าของธุรกิจ ที่มีจุดยืนชัดเจน ซึ่งนายยุทธ บอกว่า ตนเองยึดหลักในการดำเนินธุรกิจ คือ ต้องไม่หยุดคิด พลิกมุมคิด บริหารงานด้วยใจ มือ และเท้า คือ ใจต้องสนุกที่จะทำ และตัดสินใจลงมือไปพร้อมๆ กับทีมงานทุกคน ทำด้วยมือ คือ คิดได้แล้วต้องลงมือทำให้เกิดขึ้น และทำด้วยเท้า คือ ต้องสำรวจตลาดบ่อยๆ หาจุดบกพร่อง มองหาปัญหาจากสถานการณ์จริง
สำหรับตลาดเศียรช้างเปิดบริการทุกวันตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 08-2453 -1414, 08-4334-6556 หรือที่ www.sianchang.com