มีคำกล่าวว่า “สอนให้คนจับปลาเป็น ดีกว่าเอาปลาไปให้ เพราะถ้าเราเอาปลาไปให้ เขาก็จะนั่งรอแต่คนที่จะเอาปลาไปให้ แต่ถ้าเราสอนให้คนจับปลาเป็นเขาก็จะหาปลากินเองได้” เพื่อช่วยเหลือกลุ่มบุคคลผู้ที่เคยพลาดพลั้งหลงผิด ให้กลับมายืนได้ด้วยตัวเอง สำนักศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) หนึ่งในองค์กรที่ตระหนักและให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคม จัดอบรมหลักสูตร “ผนึกภาพบนพื้นวัสดุ” หรือ เพ้นท์กล่องไม้ ให้กับผู้ต้องขังหญิง ในทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการบริการวิชาการแก่สังคมที่สำนักศึกษาต่อเนื่องจัดขึ้น เพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านศิลปะการเพ้นท์กล่องไม้ให้กับผู้ต้องขังหญิงที่ใกล้พ้นโทษ ซึ่งนอกจากสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง ยังเป็นการคลายเครียดให้กับผู้ต้องขังได้อีกด้วย
อาจารย์เยาวลักษณ์ ศิริสุวรรณ หัวหน้าฝ่ายบริการเผยแพร่ทางไกล สำนักการศึกษาต่อเนื่อง มสธ. กล่าวว่า มสธ.เลือกที่จะเข้าไปถ่ายทอดความรู้ในการประกอบอาชีพกับผู้ต้องขัง เนื่องจากผู้ต้องขังเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความจำกัดในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากสังคมภายนอก หากนำความรู้ที่ใช้เป็นอาชีพได้ไปถ่ายทอดให้ ก็จะเป็นการสร้างโอกาสและเพิ่มทางเลือกในการประกอบอาชีพให้กับผู้ต้องขังหลังพ้นโทษ
อาจารย์เยาวลักษณ์ ยังบอกอีกว่า ก่อนที่มสธ.จะนำหลักสูตรใดไปถ่ายทอดให้กับผู้ต้องขังได้มีการพิจารณาแล้วว่าจะต้องสามารถไปใช้ประกอบอาชีพได้จริง และเหตุผลที่เลือกเพ้นท์กล่องไม้ เนื่องจากงานศิลปะต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์และเป็นงานที่ต้องใช้ฝีมือในการผลิต หากสามารถออกแบบได้ถูกใจลูกค้ามากก็จะมียอดจำหน่ายที่สูง อีกทั้ง เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่เพียงแต่ใช้ประดับตกแต่งสร้างความสวยงามเท่านั้น ยังนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ทำให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังเป็นที่ต้องการของตลาด
ทั้งนี้หลักสูตรการอบรมดังกล่าว มสธ. ได้รับการสนันสนุนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ (มทร.กรุงเทพ) ส่งผู้เชี่ยวชาญมาเป็นวิทยากรหลักในการถ่ายทอดความรู้ ซึ่งใช้เวลาอบรมเพียง 1 วัน ได้ความรู้ทั้งในส่วนของทฤษฎีและการปฏิบัติจนสามารถนำไปประกอบอาชีพได้จริง และมีรายได้ดี โดย 1 กล่องจะมีต้นทุนการผลิต 100 บาท ขายได้ 2 00-300 บาท กำไร 2-3 เท่า ถือเป็นหนึ่งในอาชีพ ที่น่าสนใจ นอกจากนี้ ยังสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับการเพ้นท์ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้อีกด้วย
ขณะที่ นางสิริพร ชูติกุลัง ผู้อำนวยการทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง จ.ปทุมธานี กล่าวว่า ผู้ต้องขังที่เข้ารับการอบรมเราจะพิจารณาจากประวัติเดิม ความถนัด ความสนใจ และความสามารถเป็นหลัก ซึ่งจะมีทั้งหลักสูตรระยะยาวสำหรับผู้ต้องรับโทษนาน และหลักสูตรระยะสั้นสำหรับผู้ต้องรับโทษไม่นาน อาทิ เย็บผ้าหรือทำอาหาร เป็นต้น
“การที่มสธ.เข้ามาช่วยเหลือในการฝึกอบรมให้ผู้ต้องขังในส่วนของหลักสูตรเพ้นท์กล่องไม้ จะช่วยให้ผู้ต้องขังนำไปใช้ประโยชน์ในการเข้าสู่ตลาดแรงงานและสังคมทั่วไปเมื่อพ้นโทษ ที่สำคัญยังช่วยให้สภาพจิตใจของผู้ต้องขังดีขึ้น ไม่เครียด และผ่อนคลาย”นางสิริพรกล่าว
ด้าน น.ส.เหลือง (นามสมมติ) หนึ่งในผู้ต้องขังที่สนใจเรียนรู้การเพ้นท์กล่องไม้กล่าวว่า เหลือเวลาอีกไม่ถึงปีจะพ้นโทษ ยังกังวลว่าจะออกไปประกอบอาชีพอะไรดี เมื่อรู้ว่าจะมีหลักสูตรเพ้นท์กล่องไม้ จึงสนใจ เพราะส่วนตัวเป็นคนชอบในงานศิลปะอยู่แล้ว เมื่อได้เรียนรู้วิธีการก็คิดว่าน่าจะนำไปใช้ทำเป็นอาชีพหารายได้โดยสุจริตในอนาคต
ส่วน นางแดง (นามสมมติ) ผู้ต้องขัง กล่าวว่า แม้เรือนจำจะเปิดโอกาสในหลายเรื่องให้กับผู้ต้องขัง แต่การเป็นผู้ต้องขังที่ถูกจำกัดสิทธิเสรีบวกกับการไม่ได้อยู่ร่วมกับครอบครัว ทำให้เกิดความรู้สึกเครียด กังวลและไม่สบายใจอยู่เสมอ การได้ลงมือทำงานศิลปะ ช่วยให้จิตใจรู้สึกผ่อนคลาย ปลอดโปร่งไม่ต้องจับจดอยู่กับความทุกข์หรือความกังวล
หลักสูตรเพ้นท์กล่องไม้ที่มสธ.ร่วมกับทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง จ.ปทุมธานี และมทร.กรุงเทพดำเนินการถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ต้องขัง ถือเป็นการชี้ช่องทางหนึ่งให้ผู้ต้องขัง ใช้เป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพสุจริตเมื่อพ้นโทษ ซึ่งมสธ.ยังมีหลักสูตรการฝึกอบรมอีกหลากหลายโครงการที่เปิดให้บริการแก่บุคคลทั่วไป สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักการศึกษาต่อเนื่อง โทร. 0-2504 - 7715 - 16