xs
xsm
sm
md
lg

ดันหัตถกรรมไทยโกอินเตอร์ กระตุ้นส่งออกเพิ่ม 8,000 ลบ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายยุทธศักดิ์ สุภสร  (ซ้าย) และนายกุญญพันธ์ แรงขำ
สสว. จับมือ ศ.ศ.ป. ใช้เศรษฐกิจแนวสร้างสรรค์ ยกระดับสินค้าหัตถกรรมไทย พัฒนาทั้งออกแบบ มาตรฐาน และการผลิตให้ตรงความต้องการตลาดสากล ระบุเป็นการสร้างรายได้สู่ระดับรากฐานอย่างแท้จริง ลั่นหนุนหัตถกรรมไทยสู่สากลได้ไม่ต่ำกว่า 100 ราย กระตุ้นส่งออกเพิ่มกว่า 8,000 ลบ.

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเอสเอ็มอี (สสว.) เผยว่า สินค้าหัตถกรรมของไทยมีความโดดเด่น ทั้งด้านฝีมือ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาที่สะสมมายาวนาน ทำรายได้จากการส่งออก ไม่ต่ำกว่า ปีละ 80,000 ล้านบาท ทว่า ที่ผ่านมาสินค้าหัตถกรรมไทยประสบปัญหาสำคัญในด้านการแข่งขัน เนื่องจากตลาดปัจจุบัน เน้นด้านมาตรฐาน การออกแบบ และสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม รวมถึง การผลิตเปลี่ยนเป็นแบบหัตถอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ในปีนี้ (2553) สสว. ได้ดำเนินโครงการร่วมมือกับศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. เพื่อส่งเสริม พัฒนา และยกระดับผู้ประกอบการSMEs ในกลุ่มสินค้าหัตถกรรม

ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าว สสว. จะทำหน้าที่ประสานกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เพื่อรวบรวมและสนับสนุนฐานข้อมูลด้านผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสินค้าหัตถกรรม เสนอให้แก่ ศ.ศ.ป ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรม โดยมีทีมดีไซน์เนอร์ทั้งไทย และจากต่างประเทศ เช่น Mr.Massimo Zucchi นักออกแบบยอดเยี่ยมชาวอีตาลี เป็นต้น เพื่อต่อยอดนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานสูงขึ้น ทั้งการออกแบบ การผลิตให้มีความน่าเชื่อถือ และตรงกับความต้องการของตลาดระดับสากล ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า เป็นการทำตลาดแบบเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์

นอกจากนั้น สสว. จะช่วยต่อยอดผู้ประกอบการSMEs หัตถกรรมที่ได้รับการพัฒนาจาก ศ.ศ.ป. ทั้งด้านเงินทุน และด้านการตลาด เช่น นำไปออกงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยตั้งเป้าว่า ในปีแรก จะมีผู้ประกอบการหัตถกรรมที่สามารถยกระดับสู่สากลได้อย่างเป็นรูปธรรมกว่า 100 ราย และกระตุ้นการส่งออกสินค้าหัตถกรรมไทย เพิ่มจากเดิม 10% หรือมูลค่ากว่า 8,000 ล้านบาท

ด้านนายกุญญพันธ์ แรงขำ ผู้อำนวยการ ศ.ศ.ป. ระบุว่า การพัฒนาผู้ประกอบการหัตถกรรมจะเป็นช่วยเหลือผู้ประกอบการระดับรากฐานอย่างแท้จริง เนื่องจากแทบทั้งหมดของผู้ผลิตหัตถกรรม คือ วิสาหกิจระดับย่อยๆ ในชุมชนหรือท้องถิ่น ซึ่ง ศ.ศ.ป. จะเน้นส่งเสริมความรู้ในการผลิตที่คงเอกลักษณ์แบบแฮนด์เมด แต่สามารถรองรับการผลิตในปริมาณมากได้ รวมถึง พัฒนาการออกแบบดีไซน์ให้ตรงความต้องการตลาดเป็นอันดับแรก
กำลังโหลดความคิดเห็น