การท่องเที่ยวเชิงเกษตรแบบ “ฟาร์มสเตย์” ถือเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจด้วยฝีมือคู่ซี้อย่าง “สุณี นิโรจศิล” และ “จุฑามาศ สายสุวรรณ์” ช่วยกันบุกเบิกธุรกิจ “เขามะกอก ฟาร์มสเตย์” ที่บริเวณเชิงเขามะกอก อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี หวังให้เป็นธุรกิจต้นแบบแก่เกษตรกรรายอื่นๆ นำไปปฏิบัติตาม เพื่อเสริมรายได้ให้แก่ตัวเองและท้องถิ่น ที่สำคัญเป็นการอนุรักษ์อาชีพเกษตรกรรมให้อยู่กับคนไทยตลอดไป
**จุดไอเดีย “ฟาร์มสเตย์” ที่มวกเหล็ก**
ในความเป็นจริงทั้งคู่ ต่างมีธุรกิจหลักที่มั่นคงเป็นตัวเอง โดยสุณีเป็นเจ้าของโรงแรม “สระบุรีอินน์” ส่วนจุฑามาศทำธุรกิจออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ ทว่า หมวกอีกใบที่ทั้งสองสวมอยู่ คือ ประธาน และเลขานุการ ของชมรมธุรกิจท่องเที่ยว จ.สระบุรี มีหน้าที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสระบุรี ซึ่งจากประสบการณ์เดินทางไปดูงานฟาร์มสเตย์ ที่ประเทศออสเตรเลีย ทำให้ได้ไอเดียเพิ่มมูลค่าให้ฟาร์มเลี้ยงโคนมในท้องถิ่นบ้านเกิด
“อาชีพเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพที่ในหลวงทรงพระราชทานให้แก่ชาวสระบุรี แต่ผลกระทบจากการเปิด FTA พวกเราเกรงว่า เกษตรกรจะขายฟาร์มให้นายทุนนำไปสร้างคอนโดฯ เสียหมด จึงคิดที่หาทางช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรโดยนำจุดแข็งด้านการท่องเที่ยว จ.สระบุรี มาเชื่อมกับการทำฟาร์มโคนม โดยเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพักผ่อนกินอยู่หลับนอน ใช้ชีวิตคลุกคลีกับชาวโคบาลแท้ๆ” สุณี กล่าว
**ก่อร่างสร้าง “เขามะกอก ฟาร์มสเตย์”**
จากแนวคิดข้างต้น ได้เช่าที่ดินจำนวน 10 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมดกว่า 40 ไร่ใน “ฟาร์มธนภูมิ” ของ “ประกิจ วงษ์ธนสุภรณ์” เพื่อปรับปรุงเป็นบริเวณที่พักของ “เขามะกอก ฟาร์มสเตย์” โดยทำเลดังกล่าว มีทัศนียภาพสวยงาม ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขามะกอก ห่างจากอำเภอแค่ 3 กิโลเมตร และมีอากาศเย็นสบายตลอดปี โดยจ่ายค่าเช่าเพียง 100,000 บาท อายุสัญญา 5 ปี เหตุที่ค่าเช่าค่อนข้างต่ำ เพราะทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันที่อยากให้ฟาร์มแห่งนี้เป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จเชิงธุรกิจ ให้เกษตรกรรายอื่นๆ นำไปใช้เป็นต้นแบบต่อไป
จุฑามาศ เล่าว่า เบื้องต้นลงทุนประมาณ 2 ล้านบาท ส่วนใหญ่หมดไปกับปรับทัศนียภาพ และสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานต่างๆ เช่น เต้นท์ที่พัก ห้องน้ำ และห้องอาบน้ำ เป็นต้น
สำหรับการพักผ่อนแบบฟาร์มสเตย์ เธอให้นิยามว่า “เปรียบเหมือนนักท่องเที่ยวมาพักในบ้านญาติของตนที่เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม” มีกิจกรรมหลัก ได้แก่ นอนพักในเต้นท์ เที่ยวชมฟาร์มโคนม เพื่อเข้าใจวิถีชีวิตและร่วมภูมิใจในอาชีพพระราชทรงนี้ อีกทั้ง จะปลุกนักท่องเที่ยวตั้งแต่ประมาณ 6 โมงเช้า เพื่อไปทดลองรีดนม และให้อาหารโค พร้อมฟังบรรยาย บางคณะอาจโชคดีได้มีโอกาสเห็นโคคลอดลูก นอกจากนั้น ในมื้อเย็นจะเลี้ยงเมนูสเต็ก และเชิญเกษตรกรร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันและกัน สุดท้ายส่งเข้านอนด้วยบริการให้ดื่มนม Bedtime (นมสดของแม่โคที่ผ่านการคัดเลือก และรีดน้ำนมในช่วงเวลาที่ไม่มีแสงสว่าง ทำให้ได้คุณประโยชน์ทางสารอาหารมากขึ้น ช่วยให้ผู้ดื่มนอนหลับสนิทและสบายขึ้น)
นอกจากนั้น เชื่อมโยงกับเครือข่ายธุรกิจท่องเที่ยวในท้องถิ่นรัศมี 10 กม. เพื่อบริการกิจกรรมเสริมอื่นๆ เช่น ขับรถ ATV , โรยตัวจากหน้าผา , เที่ยวน้ำตก , บีบีกัน , ล่องแก่น ฯลฯ
**แชร์รายได้กลับคืนสู่เกษตรกร **
“เขามะกอก ฟาร์มสเตย์” เริ่มเปิดให้บริการ เมื่อเดือนตุลาคม 2551 เบื้องต้นมีที่พักเพียง 5 เต้นท์เท่านั้น แนะนำตัวเองผ่านการออกงานแฟร์ท่องเที่ยว ซึ่งได้ผลตอบรับอย่างดีมาก ลูกค้าที่มาพักจะไปบอกต่อ ช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จสวนภาวะการท่องเที่ยวโดยรวมทรุด หลังผ่านไปเพียง 5 เดือน ขยายเพิ่มเป็น 20 เต้นท์ โดยได้รับการสนับสนุนทุนหมุนเวียนจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
จุฑามาศ เผยว่า กลุ่มลูกค้ากว่าร้อยละ 80-90 คือ คนไทยระดับกลางขึ้นไป ที่อยากจะมาสัมผัสชีวิตของเกษตรกรโคนมจริงๆ และอยากพักผ่อนในรูปแบบที่แตกต่างจากทั่วไป สำหรับค่าบริการ เต้นท์พัก 2 คน อัตรา1,460 บาท/คืน เต้นท์พัก 3 คน อัตรา 2,190 บาท/คืน กรณีนำเต้นท์มากางเอง คิดหลังละ 530 บาท/คืน ซึ่งเกษตรกรเจ้าของฟาร์มจะได้ส่วนแบ่ง 50 บาทต่อผู้เข้าพักหนึ่งคน รวมถึง ยังมีรายได้จากการขายนมโค และอาหารที่นำมาบริการนักท่องเที่ยวอีกด้วย
ด้านประกิจ เกษตรกรเจ้าของพื้นที่ เสริมในจุดนี้ว่า ปัจจุบันเขามีรายได้จากฟาร์มสเตย์ ประมาณ 1-2 หมื่นบาทต่อเดือน โดยหน้าที่หลัก คือ บรรยายให้ความรู้การเลี้ยงโคนมแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งรายได้ที่เข้ามาถือเป็นผลพลอยได้จากการทำงานในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว
**ฝันขยายผลสู่ฟาร์มเกษตรทั่ว ปท.**
เนื่องจาก “เขามะกอกฟาร์มสเตย์” ถือเป็นธุรกิจต้นแบบ อีกทั้ง หุ้นส่วนทั้งสอง ต่างมีภาระหน้าที่รับผิดชอบในงานประจำ ดังนั้น ปัจจุบันการเปิดรับนักท่องเที่ยวยังมีข้อจำกัด วันจันทร์ถึงพฤหัสบดี จะเปิดรับได้เฉพาะจองเข้าพักเป็นหมู่คณะ ส่วนนักท่องเที่ยวทั่วไปให้บริการเฉพาะศุกร์ เสาร์และอาทิตย์ เท่านั้น ซึ่งต้องโทร.มาจองล่วงหน้า
อย่างไรก็ตาม จุฑามาศ บอกว่า อยากให้เกษตรรายอื่นๆ ทั่วประเทศ นำฟาร์มสเตย์แห่งนี้ไปขยายผลประยุกต์ใช้กับภาคการเกษตรอื่นๆ เช่น ฟาร์มองุ่น ฟาร์มผักปลอดสารพิษ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ ซึ่งประโยชน์ที่ได้นอกจากรายได้เสริมแล้ว เกษตรกรจะภาคภูมิใจในอาชีพของตน อีกทั้ง เมื่อนักท่องเที่ยวมาสัมผัสใกล้ชิดกับเกษตรกรจริงๆ จะเกิดความผูกพัน และอยากสนับสนุนผลผลิตการเกษตรไทย ซึ่งจะทำให้อาชีพเกษตรยั่งยืนอยู่คู่กับคนไทยตลอดไป
“อนาคตอยากให้ความคิดนี้ขยายออกไป ซึ่งการทำฟาร์มสเตย์ เกษตรกรไม่จำเป็นต้องลงทุนมากจนเป็นภาระ เพราะนักท่องเที่ยวต้องการแค่ความสะอาดและปลอดภัย ในแต่ละแห่ง สามารถประยุกต์ให้เหมาะสมกับท้องถิ่นตัวเอง และถ้ามีการสร้างเครือข่าย นำสมาชิกในครอบครัว หรือคนในท้องถิ่นมาร่วมด้วย จะทำให้ขยายธุรกิจไปสู่สาขาอื่นๆที่เกี่ยวข้องได้อีกมาก” จุฑามาศ ฝากทิ้งท้าย
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@
โทร.08-4558-3799 , 08-1398-8939 และ www.khaomakok.com