xs
xsm
sm
md
lg

เบอร์หนึ่ง 'กระยาสารท' ปทุมธานี ยกระดับขนมพื้นบ้านบุกขายห้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระยาสารท “อำนวยขนมไทย”   ของกลุ่มอาชีพสตรีคลองควาย ต.คลองควาย อ.สามโคก  จ.ปทุมธานี
ในอดีตขนม “กระยาสารท” จะทำขึ้นแค่ปีละครั้ง เฉพาะช่วงเทศกาลทำบุญวันสารทไทย ตรงกับแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ทว่า ปัจจุบันขนมไทยโบราณชนิดนี้ ได้ปรับปรุงพัฒนาให้เป็นขนมกินเล่นคู่บ้าน หรือสินค้าของฝากประจำท้องถิ่น อย่างเช่นยี่ห้อ “อำนวยขนมไทย” ของผู้ประกอบการ ใน จ.ปทุมธานี ยกระดับขนมพื้นบ้านไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ การผลิต และบรรจุภัณฑ์ จนประสบความสำเร็จยืนหยัดมานานกว่า 10 ปี ขึ้นแท่นแถวหน้าของประเทศ

อำนวย ลางคุณเสน  ประธานกลุ่ม
อำนวย ลางคุณเสน ประธานกลุ่มอาชีพสตรีคลองควาย ต.คลองควาย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี เล่าว่า สมัยก่อนพอถึงช่วงเทศกาลสารทไทย ชาวไทยพุทธทุกบ้านจะต้องนำเอาพืชผลทางการเกษตรที่ให้ผลผลิตครั้งแรกในฤดูเก็บเกี่ยว ทั้งข้าวเม่า ข้าวตอก ถั่ว งา น้ำผึ้ง น้ำตาล และน้ำอ้อย มาทำเป็นขนมกระยาสารท เพื่อนำไปประกอบพิธีทำบุญในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ตามความเชื่อที่ว่า บุญกุศลจะไปสู่ญาติที่เสียชีวิตไปแล้ว และยังส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรเจริญงอกงาม และอุดมสมบูรณ์อีกด้วย

แม้วัฒนธรรมดังกล่าว ปัจจุบันเลือนหายไปตามเวลาจนเกือบไม่เหลือให้เห็นแล้ว แต่ผู้คนส่วนใหญ่ยังติดใจในรสชาติความอร่อยของกระยาสารท และมีความต้องการบริโภคตลอดทั้งปี ไม่ใช่เฉพาะหน้าเทศกาลเท่านั้น

“ดิฉันซึมซับประเพณีนี้มาตั้งแต่เล็กจนโตจนกลายเป็นความผูกพัน และรักที่จะทำขนมไทยเป็นทุนอยู่แล้ว จึงสนใจอยากทดลองทำขายดูบ้าง ซึ่งขั้นตอนทำกระยาสารไม่ใช่เรื่องยาก แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรให้อร่อย รสชาติโดนใจผู้บริโภค สร้างความต่างจากขนมกระยาสารทที่เคยทำกินกันเฉพาะพิธีบุญปีละครั้ง ซึ่งปัญหานี้กว่าที่เราจะได้สูตรลงตัวก็ลองผิดลองถูกอยู่นาน” อำนวย ระบุ

พรสวรรค์บวกกับพรแสวงที่ได้จากการฝึกฝนวิชาทำขนมกระยาสารทจากรุ่นปู่ย่าตายาย ถูกนำมาพลิกแพลงพัฒนาหลายต่อหลายครั้ง จนได้เป็นสูตรเฉพาะตัว ในปี พ.ศ. 2538 เริ่มผันตัวเองจากอาชีพทำนามาเป็นแม่ค้าขายกระยาสารท ชักชวนเพื่อนบ้านที่ว่างจากการทำนา 9 คน จัดตั้งเป็น “กลุ่มอาชีพสตรีคลองควาย” ขึ้น ใช้ทุนเริ่มต้นเพียง 25,000 บาท จากการสนับสนุนของกรมการพัฒนาชุมชน ซื้ออุปกรณ์เท่าที่จำเป็น อาศัยเพิงเล็กๆ หน้าบ้านจัดทำเป็นหน้าร้าน
ส่วนผสมต่าง ๆ
“แรกๆ ทำกินกันเอง แจกจ่ายให้เพื่อนบ้านบ้าง เพื่อเป็นการทดลองชิมและทดสอบความต้องการของผู้บริโภค ที่เหลือก็ลองหิ้วไปขายตามงานวัด งานโรงเรียน ตลาดนัด แต่ก็ขายไม่ค่อยได้ เพราะตอนนั้นชาวบ้านยังทำกันเองเกือบทุกบ้าน อีกทั้ง สินค้าเราก็ยังไม่มีจุดเด่นชัดเจน” ประธานกลุ่ม กล่าว
สมาชิกกลุ่มช่วยกันทำงาน
ทว่า ในฐานะเสาหลักของกลุ่มฯ อำนวยตัดสินใจทิ้งอาชีพชาวนาเด็ดขาด โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสามี ขณะที่ตัวเองมุ่งไปอบรมหาความรู้ตามหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนาสินค้าให้ได้คุณภาพ ทั้งรสชาติ กระบวนการผลิต และบรรจุภัณฑ์ นำมาสู่การได้รับรองเครื่องหมายอาหารและยา (อย.) มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และโอทอป 4 ดาว

จากการทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง ขนมกระยาสารทภายใต้ยี่ห้อ “อำนวยขนมไทย” กลายเป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับของชาวจังหวัดปทุมธานี เมื่อคว้ารางวัลชนะเลิศ จากเวทีการประกวด ขนมกระยาสารท งานของดีเมืองปทุมธานี ปี พ.ศ.2544 ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทำให้สินค้าขายดีขึ้นเรื่อยๆ
ขั้นตอนยังรักษาภูมิปัญญาดั้งเดิม
นอกจากนั้น ยังขยายตลาดไปสู่ห้างสรรพสินค้า อย่างเทสโก้ โลตัส ที่ให้โอกาสวางจำหน่ายในโซนสินค้าโอทอป ทั่วประเทศโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ช่วยเพิ่มช่องทางการกระจายสินค้าให้กว้างขึ้น


อำนวย เผยว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้สินค้ามีความพิเศษกว่ากลุ่มอื่นๆ คือ ความสะอาด และใส่ใจในทุกรายละเอียด ขั้นตอนการผลิตคงภูมิปัญญาดั้งเดิม ใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติทั้งหมด ไม่มีการปรุงแต่งกลิ่น สี ไม่มีสารกันบูดเจือปน คัดวัตถุดิบที่มีคุณภาพ สด ใหม่ ทุกชนิด ที่สำคัญใช้น้ำอ้อยแท้ 100% ไม่ผสมน้ำตาลปี๊บ ทำให้ได้กระยาสารทสีเหลืองนวลรสชาติกลมกล่อม ไม่หวานจนเกินไป กลิ่นหอมน้ำอ้อยแท้จากธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันหากินยากเพราะน้ำอ้อยแท้ต้นทุนสูงมาก

สำหรับขั้นตอนการผลิตเริ่มจากนำ ข้าวเม่า ข้าวตอก ถั่ว งา ไปคั่วให้สุกพอดี เตรียมน้ำอ้อย น้ำกะทิ มะนาว นมสดให้พร้อม นำกระทะตั้งไฟ เทน้ำอ้อยลงไป ตามด้วยน้ำกะทิ นมสดในสัดส่วนที่พอเหมาะเติมน้ำมะนาวเล็กน้อย เพื่อจางสีน้ำอ้อยให้มีสีเหลืองนวล เคี่ยวประมาณ 2 ชั่วโมง จนเหนียวได้ที่นำข้าวตอกใส่ลงไปคนให้เข้ากัน จากนั้นนำส่วนผสมที่เหลือเทรวมลงไปใช้ไม้พายคนให้เขากันอีกประมาณ 40 นาที ระหว่างนี้ใช้ไฟอ่อนๆ สังเกตดูส่วนผสม ทุกอย่างเกาะติดกันจนเหนียวได้ที่ค่อยยกลงจากเตา แล้วนำไปเทลงในแม่พิมพ์ที่เตรียมไว้ แล้วใช้ลูกกลิ้งไม้ผิวเรียบอัดด้วยแรงเพื่อให้กระยาสารทเกาะแน่นติดกันจากนั้นนำมาตัดเป็นชิ้นๆก่อนบรรจุ เพื่อจำหน่าย

ปัจจุบัน กลุ่มอาชีพสตรีคลองควาย มีสมาชิก 25 ชีวิต นอกจาก “กระยาสารท” แล้ว ยังผลิตขนมไทยโบราณอื่นๆ เสริม 3 ชนิด ได้แก่ กาละแม ขนมกง และขนมสามเกลอ ส่งขายตามร้านของฝาก ร้านอาหาร ห้างเทสโก้โลตัส ทั่วประเทศ มีให้เลือกหลายขนาดและหลายราคา แบบบรรจุกล่องน้ำหนัก 300 กรัม ราคา 49 บาท บรรจุถุงๆ ละ 20-35 บาท หรือชั่งเป็นกิโลฯ กิโลกรัมละ 100 บาท

อำนวย ทิ้งท้ายว่า ส่วนตัวเติบโตมาจากครอบครัวชาวนา การศึกษาไม่สูงนัก แต่วันนี้ ภูมิใจที่สามารถพัฒนาธุรกิจ จนประสบความสำเร็จ ยืนหยัดมานานกว่า 10 ปี และช่วยสร้างงานให้คนในชุมชน สร้างรายได้เข้ากลุ่มเฉลี่ย 50,000 -70,000 บาทต่อเดือน ซึ่งแม้กำไรเงินจะไม่มากมายนัก แต่เมื่อเทียบกับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเพื่อนสมาชิกและความสุขที่ครอบครัวได้รับ นี่คือ กำไรที่มีค่ายิ่ง

************************

โทร. 02-593-2403 089-775-0932
กำลังโหลดความคิดเห็น